httpwww.worldwildlife.orgthreatswater-scarcity

หากได้เคยเห็นภาพดวงดาวสีฟ้าท่ามกลางอวกาศสีดำมืด คงจะเข้าใจได้ไม่ยากว่าพื้นผิวโลกกว่าร้อยละ 70 ปกคลุมไปด้วยน้ำ ทรัพยากรอันทรงค่าที่เป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิตบนโลก รวมทั้งมนุษย์ ด้วยปริมาณที่มีมากมายมหาศาล หลายคนคงเคยร่ำเรียนว่าน้ำเป็นสินค้าไร้ราคา (Free Goods) ที่สามารถใช้ได้อย่างไม่จำกัด แต่แนวคิดดังกล่าวอาจจะกลายเป็นเรื่องล้าหลังไปแล้ว เพราะในปัจจุบันการขาดแคลนน้ำจนถึงระดับวิกฤตเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ที่ทั่วโลกเป็นกังวล

ก่อนอื่นต้องเข้าใจใหม่ว่า น้ำบนพื้นผิวโลกส่วนใหญ่เป็นน้ำเค็ม น้ำจืดที่เรานำมาใช้อุปโภคบริโภคได้มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3 ของน้ำทั้งหมด แถมส่วนใหญ่ยัอยู่ในรูปของน้ำแข็งที่ขั้วโลก มีเพียงร้อยละ 0.7 เท่านั้นที่เป็นน้ำจืดบนผิวดิน เช่น แม่น้ำและทะเลสาบ อีกร้อยละ 0.3 เป็นแหล่งน้ำใต้ดิน ซึ่งบางแห่งไม่สามารถนำมาใช้ได้

ด้วยปริมาณอันจำกัด ปัจจุบันจึงมีประชากรโลกกว่า 1.1 พันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ ประชากร 2.7 พันล้านคนดำรงชีวิตโดยขาดแคลนน้ำอย่างน้อย 1 เดือนต่อปี และประชากร 2.4 พันล้านคนประสบปัญหาด้านความสะอาดของแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคท้องร่วงรวมถึงไทฟอยด์

หากนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไม่ผิด ในอีก 20 – 30 ปีข้างหน้า เราอาจเผชิญกับภาวะ ‘ขาดแคลนน้ำ’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากน้ำจะเป็นทรัพยากรที่มีปริมาณจำกัดแล้ว ความต้องการใช้น้ำกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณประชากรโลกและปริมาณการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่พลังงานหลายรูปแบบยังใช้น้ำเป็นวัตถุดิบสำคัญในการหล่อเลี้ยงระบบการผลิต

สถาบันการจัดการแหล่งน้ำสากล (International Water Management Institute) ได้แบ่งการขาดแคลนน้ำไว้ 2 ประเภทคือ

  • การขาดแคลนน้ำเชิงกายภาพ (Physical Water Scarcity) คือการใช้น้ำที่เกินกว่าระดับที่ยั่งยืน หรือหมายถึงน้ำร้อยละ 75 ถูกนำไปใช้ในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือครัวเรือน ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำในอนาคตอันใกล้
  • การขาดแคลนน้ำเชิงเศรษฐกิจ (Economic Water Scarcity) คือสภาวะที่มีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำไม่เกินร้อยละ 25 แต่กลับเกิดสภาวะขาดแคลน เนื่องจากการขาดธรรมาภิบาลในการจัดการน้ำ หรือขาดโครงสร้างพื้นฐานในการกระจายการเข้าถึงแหล่งน้ำอย่างเท่าเทียม

ปัญหาความขาดแคลนน้ำอาจยังไม่ส่งผลต่อประชาชนในเมืองใหญ่โดยตรงมากนัก แต่เริ่มส่งผลทางอ้อม เช่น ราคาของอาหาร เนื่องจากน้ำกว่าร้อยละ 70 ถูกนำไปใช้ในการผลิตอาหาร ที่นับวันจะต้องผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความเป็นเมืองซึ่งกระจายไปสู่ทุกหัวระแหงก็ทำให้ผู้คนเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภค เช่น ในทวีปเอเชีย ประชากรส่วนใหญ่เริ่มหันมาบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมมากขึ้น ซึ่งทั้งสองผลิตภัณฑ์ใช้น้ำในการผลิตค่อนข้างมาก

ด้วยเหตุนี้ ความผันผวนของราคาอาหารในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นสัญญาณของการสิ้นสุดยุคอาหารราคาต่ำ ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่แห่งความขาดแคลน เพราะทรัพยากรราคาถูกซึ่งประเทศโลกที่สามใช้ในการผลิตอาหารมาอย่างยาวนานกำลังหมดไป ปริมาณสำรองของน้ำใต้ดินก็ฟื้นฟูไม่ทันต่อความต้องการ รวมทั้งเกิดมลภาวะที่ปนเปื้อนเข้าสู่สิ่งแวดล้อมจนระบบการทำความสะอาดทางธรรมชาติไม่อาจแบกรับไหว

httpmakewealthhistory.org20140530the-water-food-energy-nexusแผนภาพแสดงความเชื่อมโยงระหว่างน้ำ อาหาร และพลังงาน สะท้อนให้เห็นถึงแรงกดดันต่อทรัพยากรน้ำที่จำกัดจากการบริโภคและจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น

          สิ่งที่น่าตกใจคือประชากรส่วนมากยังไม่รับรู้ถึงความเสี่ยงดังกล่าว และใช้ทรัพยากรน้ำในการเกษตรอย่างไร้ประสิทธิภาพ จากสถิติพบว่า การใช้น้ำเพื่อการเกษตรมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพียงปีละ 1 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี ค.ศ. 1990 – 2004 และปริมาณอาหารที่เหลือจนกลายเป็นขยะยังสูงถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้ยังแทบไม่มีการลงทุนพัฒนาและศึกษาวิจัยด้านเกษตรกรรมเลยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของน้ำที่น้อยคนจะรับรู้คือ น้ำเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักที่ขาดไม่ได้ของธุรกิจพลังงาน ในทางกลับกันพลังงานก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการกระจายน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึงใช้ในการบำบัดน้ำเสีย น้ำกับพลังงานจึงใกล้ชิดแนบแน่นจนยากจะแยกออกจากกัน

แม้ว่าการผลิตถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการดำเนินงานในโรงไฟฟ้าจะไม่ได้ใช้น้ำให้หมดไปโดยตรง แต่การใช้น้ำในอุตสาหกรรมดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำ รวมถึงการทำเหมืองถ่านหินหรือยูเรเนียมอาจก่อให้เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำทั้งผิวดินและใต้ดิน การสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายเลน ขณะที่การขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในชั้นหินดินดาน (Shale Gas) ก็อาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดิน

ยิ่งทั่วโลกกำลังเปลี่ยนวิธีคิดไปสู่การใช้พลังงานทดแทน ปริมาณน้ำอันจำกัดก็ยิ่งมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบ เพราะว่าแหล่งพลังงานทดแทน เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ หรือการผลิตเอทานอล จำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณมหาศาล เมื่อเทียบกับการผลิตพลังงานฟอสซิล ส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำโดยการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ก็จะเกิดการระเหยของน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำเฉลี่ยราว 17 ลูกบาศก์เมตรต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง

Thinking about Water Differently: Managing the Water-Food-Energy Nexus

ตารางแสดงปริมาณการใช้น้ำของแหล่งพลังงานตั้งแต่กระบวนการผลิตวัตถุดิบ แปรสภาพ และขนส่ง
ข้อมูลจาก Thinking about Water Differently: Managing the Water-Food-Energy Nexus

เนื่องจากการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อน เราจึงมองวิธีแก้แบบแยกส่วนไม่ได้ ทำให้เกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่มองน้ำ อาหาร และพลังงาน แบบเชื่อมโยงกันเป็นระบบ (The Water-Food-Energy Nexus) และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เช่น การจัดการน้ำเสียโดยท้องถิ่นเพื่อลดการใช้พลังงาน หรือการเปลี่ยนน้ำเสียให้กลับมาเป็นพลังงานอีกครั้ง รวมไปถึงการชั่งน้ำหนักการใช้ทรัพยากรน้ำในการผลิตอาหาร หรือผลิตพืชพลังงานในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้การใช้น้ำ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด มีประสิทธิภาพสูงสุด

คงเป็นการยากที่เราจะมองน้ำให้เป็นเศรษฐทรัพย์ (Economic Goods) หรือสินค้าที่จำเป็นต้องมีการซื้อขาย เพราะการเข้าถึงน้ำสะอาดนับว่าเป็นสิทธิที่ประชากรทุกคนพึงมีพึงได้ แต่หากยังมองน้ำเป็นสินค้าไร้ราคาก็ไม่อาจแก้ปัญหาการใช้น้ำเกินระดับความยั่งยืนได้ มิติของการจัดการน้ำในอนาคตจึงต้องมองน้ำเป็นทรัพยากรที่จำกัดและมีมูลค่า ในขณะเดียวกันก็เป็นทรัพยากรสำหรับทุกคน

ส่วนบริษัทขนาดยักษ์มีแนวโน้มในการปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับปัญหา หรือมีนวัตกรรมใดในการจัดการน้ำ ผู้เขียนจะนำมาบอกเล่าเร็วๆ นี้ครับ

เอกสารประกอบการเขียน
Thinking about Water Differently: Managing the Water-Food-Energy Nexus
Water and energy interactions
A World without Water
Water Scarcity