Bonsucro Logo

ในหนึ่งวัน จะมีใครบ้างที่ไม่ต้องเข้าไปข้องเกี่ยวกับความหวานจากน้ำตาลอ้อย หากกาแฟยามเช้า ก๋วยเตี๋ยวยามเที่ยง เครื่องดื่มดับกระหายยามเย็น กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน มิหนำซ้ำ อ้อยยังไม่ได้เป็นเพียงส่วนผสมของอาหารหรือเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นเอทานอล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิง ที่นอกจากจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันทั่วไปที่ไม่ได้ผสมเอทานอล

แต่จะมีใครรู้บ้าง ปลายทางของความ ‘หวาน’ ที่เราคุ้นชินอยู่ทุกวัน อาจมีจุดเริ่มต้นมาจากความ ‘ขม’ ของต้นธารการผลิต

ความต้องการอ้อยในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบสองเท่าภายในเวลาเพียง 50 ปี ส่งผลให้นายทุนรายใหญ่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ หันมาผลิตอ้อยเพื่อตอบสนองอุปสงค์ของตลาด อันนำไปสู่ความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกิน ที่สะท้อนออกมาเป็นตัวเลขสถิติการซื้อที่ดินขนาดใหญ่โดยนายทุน เพื่อนำมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตอ้อยอย่างน้อย 40,000 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 10 ของพื้นที่ปลูกอ้อยทั่วโลก

นอกจากอ้อยจะเป็นหนึ่งในพืชเชิงเดี่ยวที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกมาก อ้อยยังเป็นพืชไร่ที่จำเป็นต้องใช้น้ำสูง เฉลี่ยประมาณ 1 ล้านลิตรต่อการผลิตอ้อย 12.5 ตัน รวมทั้งการเพาะปลูกอ้อยยังเริ่มรุกล้ำเข้าไปในผืนป่าอนุรักษ์และพื้นที่สูงชัน ก่อให้เกิดการพังทลายของหน้าดิน การใช้สารเคมีที่มากขึ้น และมลภาวะจากโรงงานผลิตน้ำตาลก็ทำให้น้ำเน่าเสีย สิ่งเหล่านี้อาจทิ้ง ‘รสขม’ ระหว่างทาง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นความหวานเพื่อส่งถึงมือผู้บริโภค

ที่ดินเพื่อปลูกอ้อยในประเทศบราซิล และการเปลี่ยนมือตั้งแต่ปี 2543 - 2553 จากรายงาน Sugar Rush Land rights and the supply chains of the biggest food and beverage companies

ที่ดินเพื่อปลูกอ้อยในประเทศบราซิล และการเปลี่ยนมือตั้งแต่ปี 2543 – 2553 จากรายงาน Sugar Rush Land rights and the supply chains of the biggest food and beverage companies

          ความกังวลเรื่องผลกระทบต่อธรรมชาติและสังคมจากการผลิตอ้อยนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรเพื่อพัฒนาการปลูกอ้อย (Better Sugarcane Initiative: BSI) โดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย ตัวตั้งตัวตีใหญ่คือ World Wild Fund for Nature หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในนาม WWF ก่อนจะพัฒนามาเป็น Bonsucro องค์กรไม่แสวงหากำไรในระดับสากล ที่ทำการพัฒนามาตรฐานการปลูกอ้อยอย่างยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจ รวมทั้งมาตรฐานการใช้ตรารับรองผลิตภัณฑ์ที่ใช้น้ำตาลที่ผลิตอย่างยั่งยืน

ในการประชุมใหญ่ครั้งแรกปี พ.ศ.2551 Bonsucro ได้กำหนดมาตรฐานโดยการร่วมมือกับผู้ค้าปลีกน้ำตาล นักลงทุน พ่อค้าคนกลาง ผู้ผลิต และองค์กรภาคเอกชน เพื่อให้การรับรองกับซัพพลายเออร์ และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2555 เอทานอลที่ได้รับมาตรฐาน Bonsucro ล็อตแรกจากบราซิลก็เดินทางมาถึงท่าเรือรอตเตอร์ดัม

ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอ้อยในโลกราว 3.66% และผลผลิตอ้อย 3.32% ที่ได้รับการรับรองโดย Bonsucro แม้อาจจะดูไม่มากนัก แต่ตัวเลขของเกษตรกรและโรงงานผลิตอ้อยที่เข้าร่วมกับ Bonsucro ก็มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยเฉพาะในประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกและผลิตสินค้าจากอ้อยอันดับหนึ่งของโลก

ความแตกต่างระหว่างมาตรฐาน Bonsucro กับมาตรฐานอื่นๆ คือ Bonsucro จะไม่มุ่งเน้นการประเมินความสามารถในการบริหารจัดการในไร่อ้อย แต่จะใช้ตัวชี้วัดที่สำคัญด้านความยั่งยืน เช่น ความมีประสิทธิภาพในการผลิต ความปลอดภัยและสุขภาพของคนงาน มลภาวะจากสารเคมีที่ถูกพัดพาไปกับน้ำฝน การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ปัญหาเรื่องที่ดิน รวมทั้งการบุกรุกพื้นที่ที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศ

มาตรฐาน Bonsucro แบ่งออกเป็น 5 ประเด็นหลัก 28 ประเด็นย่อย และ 69 ตัวชี้วัด โดยจะต้องผ่านเงื่อนไขเกินร้อยละ 80 สำหรับผู้ที่ต้องซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรองของ Bonsucro ก็สามารถซื้อได้ทั้งในรูปแบบการส่งมอบสินค้า หรือซื้อในระบบเครดิต (Credit Trading System) ซึ่งเป็นการแสดงว่าผู้ซื้อสนับสนุนการผลิตน้ำตาลที่ยั่งยืน ผู้ซื้อในระบบเครดิตจึงสามารถนำตรา Bonsucro ไปใช้ได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้

นอกจากจะทำงานกับต้นทางของการผลิต Bonsucro ยังเริ่มขยายฐานความรู้เรื่องการปลูกอ้อยที่ยั่งยืนไปยังประเทศผู้ส่งออกอ้อยรายใหญ่ เช่น ประเทศไทย อินเดีย เม็กซิโก และโคลัมเบีย เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อยอย่างยั่งยืน รวมทั้งก่อตั้งสมาคมชาวไร่อ้อย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และความเข้าใจ รวมทั้งวิธีปฏิบัติที่ดีเพื่อการผลิตอ้อยอย่างยั่งยืน

ตัวอย่างความสำเร็จของ Bonsucro คือได้เป็นคู่สัญญาในการค้าเอทานอลที่ผลิตอย่างยั่งยืนกับบริษัทพลังงาน Argos บริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ที่ดำเนินงานอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เยอรมัน และฝรั่งเศส แม้แต่บริษัทผลิตน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่อย่าง Coca Cola ก็ทำสัญญากับโรงผลิตน้ำตาลสัญชาติบราซิล Raizen เพื่อซื้อน้ำตาลที่ได้รับมาตรฐาน Bonsucro

นี่คือก้าวแรกของการเริ่มต้นบนเส้นทางที่ยังต้องทำงานอย่างหนักและต่อเนื่อง แม้อาจจะไม่ได้ประสบผลตามเป้าที่ตั้งไว้คือผลผลิตจากอ้อยร้อยละ 20 ของโลกได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ภายในปี พ.ศ.2558  แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะ Bonsucro เปรียบเสมือนตัวกลางที่สานความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทั่วโลก ทั้งบริษัทรายใหญ่ที่จำเป็นต้องใช้น้ำตาล ผู้ผลิตน้ำตาลยักษ์ใหญ่ รวมถึงภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคต และวางแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ดี มาตรฐาน Bonsucro ก็ยังมีข้อจำกัด และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘อ่อนต่อโลก’ เกินไป เช่นกรณีศึกษาในโคลัมเบียที่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ดินและการแย่งชิงทรัพยากรน้ำได้เนื่องจาก ‘โครงสร้างในอดีต’ ที่ผู้มีอิทธิพลยังคงมีอำนาจสูง การกว้านซื้อที่ดินจากเกษตรกรรายย่อยจึงเป็นไปโดยได้รับความยินยอม ดังนั้นแม้รัฐบาลจะพยายามใช้การปลูกอ้อยเพื่อป้อนตลาดเอทานอลในการแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท แต่จากงานวิจัยนำโดย Theresa Selfa ที่เผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ความต้องการเอทานอลของยุโรปทำให้ช่องว่างของคนจนและคนรวยในโคลัมเบียถ่างกว้างมากขึ้น

ในรายงานวิจัย Depoliticizing land and water ‘‘grabs’’ in Colombia ยังระบุว่า ช่องว่างขนาดใหญ่ในมาตรฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ Bonsucro คือการไม่กล่าวถึงความเท่าเทียมในการแบ่งสรรทรัพยากร โดยเฉพาะปัจจัยการผลิตที่สำคัญคือที่ดินและน้ำ ทำให้การได้รับมาตรฐานดังกล่าวไม่ได้รับรองว่าทรัพยากรจะได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียม ประเด็นนี้จึงเป็นจุดอ่อนขนาดใหญ่ของมาตรฐาน Bonsucro ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความเป็นสากล เพราะยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีความเฉพาะตัวของประเทศนั้นๆ ได้ ซึ่ง Bonsucro อาจต้องใช้ตัวอย่างดังกล่าวเป็นกรณีศึกษา เพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง

มีการคาดการณ์ว่าพื้นที่ปลูกอ้อยจะก้าวกระโดดจาก 30 ล้านเฮกเตอร์ในปัจจุบัน สู่ 50 ล้านเฮกเตอร์ในปี พ.ศ.2563 เนื่องจากความต้องการใช้เอทานอลในตลาดพลังงานทดแทน และแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากทรัพยากรที่เริ่มร่อยหรอ หากเรายังไม่เริ่มคิดอย่างจริงจังว่าทำอย่างไรจึงจะผลิตอ้อยได้อย่างยั่งยืน บางทีอนาคตอาจจะไม่ ‘หวาน’ อย่างที่เราคิด

อ้างอิง

http://www.bonsucro.com/

Sugar Rush: Land rights and the supply chains of the biggest food and beverage companies เข้าถึงได้ที่ http://www.oxfam.org/sites/www.oxfam.org/files/bn-sugar-rush-land-supply-chains-food-beverage-companies-021013-en_1.pdf

Selfa, T., Bain, C., & Moreno, R. (2014, May). Depoliticizing land and water ‘‘grabs’’ in Colombia: the limits of Bonsucro certification for enhancing sustainable biofuel practices. Agriculture and Human Values .