ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาจากสารไนโตรเจน รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศหรือสภาวะโลกร้อน (เวิร์คพอยท์ทูเดย์, 2562) ด้วยเหตุนี้หลายภาคส่วนทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ประชาสังคม องค์กรไม่แสวงหากำไร และภาคธุรกิจจึงต่างพยายามผลักดันนโยบายและดำเนินการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แม้แต่ธุรกิจฟุตบอลก็ขอเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาและกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
ฟุตบอลเป็นกีฬาที่แพร่หลายและได้รับความนิยมทั่วโลก จากข้อมูลพบว่าคนที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลมีจำนวนมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่ฟุตบอลโลกปี 2018 จะมีผู้ติดตามกว่า 3.5 พันล้านคน (Rios, 2019) ส่วนรายการฟุตบอลที่มีแฟนบอลติดตามชมมากที่สุดก็คือพรีเมียร์ลีกของอังกฤษ ซึ่งมีผู้ชมทางบ้านมากกว่า 725 ล้านหลังคาเรือนใน 185 ประเทศทั่วโลก[1] (Campelli, 2018) จึงเป็นเรื่องดีที่ปัจจุบันหลายสโมสรในพรีเมียร์ลีกมีความตระหนักและใส่ใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยให้โลกพัฒนาไปอย่างยั่งยืน[2]
ความสนใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมของสโมสรฟุตบอลเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 เมื่อพรีเมียร์ลีกทำข้อตกลงเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งภายใน 2 ปีกับองค์กร Sky Ocean Rescue โดยทอตนัมฮอตสเปอร์เป็นสโมสรแรกที่ลดการใช้พลาสติกประเภทดังกล่าวในสนามแข่งขัน รวมถึงมีการจัดสอนหลักสูตรการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพลาสติกให้กับเด็กอายุระหว่าง 5-11 ปี ในโรงเรียนประถม 15,000 แห่งทั่วประเทศอังกฤษ และคาดว่าเด็ก ๆ จะนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับผู้ปกครองในลำดับถัดไป (Campelli, 2018)
นอกจากนี้ องค์กรที่มุ่งให้กีฬาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่าง Sport Positive ยังกำหนดตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมจำนวน 8 ตัว เพื่อประเมินการจัดการสิ่งแวดล้อมของสโมสรทั้งหมดในพรีเมียร์ลีก ประกอบไปด้วย การใช้พลังงานสะอาด การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การคมนาคมที่ยั่งยืน การลดหรือไม่ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การจัดการของเสีย การใช้น้ำ การจัดอาหารที่ทำจากพืชหรืออาหารที่ผลิตคาร์บอนต่ำ การสื่อสารและการมีส่วนร่วม[3] ผลการประเมินพบว่าอาเซน่อล แมนเชสเตอร์ซิตี้ แมนฯ ยูไนเต็ด และทอตนัมฮอตสเปอร์เป็นสโมสรที่ได้อันดับหนึ่งร่วมกัน โดยอาเซน่อลเป็นสโมสรที่หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน และมีการจำหน่ายอาหารมังสวิรัติให้กับแฟนบอล[4] ทอตนัมฮอตสเปอร์มีนโยบายลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ส่วนแมนเชสเตอร์ซิตี้และแมนฯ ยูไนเต็ดมีนโยบายไม่กำจัดของเสียด้วยวิธีฝังกลบ รวมถึงมีนโยบายการกักเก็บน้ำฝน ซึ่งในส่วนของแมนฯ ยูไนเต็ดนั้นยังมีการนำวัสดุเหลือใช้และอาหารไปรีไซเคิลหรือทำเป็นปุ๋ยเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Campelli, 2019; Green is Universal, n.d.)
ส่วนสโมสรที่ได้อันดับสองร่วมจากการประเมินมีจำนวน 3 สโมสรประกอบไปด้วย ไบรตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบียน นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด โดยสองสโมสรแรกมีการใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ในสนามฝึกซ้อม ขณะเดียวกันก็มีการจำหน่ายอาหารมังสวิรัติในสนามแข่งขัน ส่วนเวสต์แฮม ยูไนเต็ดมีการจำหน่ายอาหารมังสวิรัติและใช้พลังงานหมุนเวียนหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ในสนามลอนดอนสเตเดี้ยม ซึ่งเป็นสนามเหย้าของทีม[5] (Campelli, 2019)
สำหรับสโมสรในฟุตบอลลีกอื่น ๆ ที่ปฏิบัติตามแนวทางความยั่งยืน ก็อย่างเช่น เรอัล เบติส ที่เป็นสโมสรแรกในลาลีกาลีกของสเปนที่ลงนามในข้อตกลง Climate Neutral Now เพื่อให้ความร่วมมือในการลดรอยเท้านิเวศ (Ecology Footprint) ส่งผลให้สโมสรเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟ LED และปรับปรุงระบบจัดการของเสียให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการปรับระบบจัดการของเสียและระบบไฟของศูนย์ฝึกซ้อมแห่งใหม่ที่กำลังก่อสร้างให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ มากกว่านั้นยังมีการใช้ระบบพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ ใช้ระบบขนส่งจากพลังงานไฟฟ้า รวมถึงจะมีการรีไซเคิลขยะและน้ำเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Rios, 2019)
ฟอเรสต์ กรีน โรเวอร์ส ซึ่งเล่นอยู่ในลีกระดับล่างของอังกฤษ ก็เป็นอีกสโมสรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสนามแข่งของสโมสรถือว่าเป็นสนามออแกนิคแห่งแรกในสหราชอาณาจักร เพราะใช้ผลิตภัณฑ์จากพืชแทนการใช้สารเคมีในการฆ่าแมลงและดูแลรักษาพื้นสนามหญ้า อีกทั้งยังใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การตัดแต่งพื้นสนามด้วยหุ่นยนต์ตัดหญ้าที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มากกว่านั้น สโมสรยังจัดและจำหน่ายแต่อาหารมังสวิรัติที่เป็นมิตรกับสุขภาพให้กับทุกคนในทีมรวมถึงแฟนบอล ส่วนเรื่องนอกสนาม สโมสรใช้ผงซักฟอกที่ปราศจากสารฟอสเฟตสำหรับทำความสะอาดชุดแข่งของนักเตะ[6] (มฤคย์, ม.ป.ป. ;Balch, 2014)
หากมองโลกในแง่ดีก็อาจกล่าวได้ว่าสโมสรฟุตบอลสีเขียวทั้งหลายในปัจจุบันกำลังกลายเป็นต้นแบบให้หลากหลายภาคส่วนขับเคลื่อนหรือปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับกระแสธารของความยั่งยืน แต่คงจะดีกว่านี้หากลีกฟุตบอลต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรีเมียร์ลีกจะลงทุนกับการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมในระดับที่เข้มข้นกว่านี้ ดังที่พรีเมียร์ลีกเคยประสบความสำเร็จกับการจัดทำแคมเปญแก้ไขปัญหาสังคมอย่างการต่อต้านการเหยียดสีผิวหรือการเหยียดเชื้อชาติมาแล้ว (Campelli, 2018) เพราะพวกเขาอาจกลายเป็นกระบอกเสียงที่ทรงพลังในการเตือนให้ผู้คนทั่วโลกใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อที่โลกของเราจะก้าวสู่อนาคตที่ดีขึ้น
[1] ในปี ค.ศ. 2017 ทวิตเตอร์ของสโมสรใหญ่ได้แก่ แมนเชสเตอร์ซิตี้ แมนฯ ยูไนเต็ด ลิเวอร์พูล ทอตนัมฮอตสเปอร์ เชลซี และอาเซน่อลมีผู้ติดตามรวมกันมากกว่า 66 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรในสหราชอาณาจักร (Campelli, 2018)
[2] ควรกล่าวด้วยว่า 1.) กระแสความยั่งยืนเริ่มมีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 และเติบโตเรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 2015 ที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) เพื่อใช้เป็นแผนในการดำเนินงานการพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงปี ค.ศ. 2030 ประกาศดังกล่าวประกอบไปด้วยเป้าหมาย 17 ประการ และ 169 ประสงค์ (รพีพัฒน์, 2559, สฤณี, 2560; Scheyvens et al, 2016:) ทั้งนี้เป้าหมายทั้งหมดล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับการพัฒนาคุณภาพของผู้คนและโลก อาทิ การขจัดความยากจน การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเราสามารถสรุปรวบยอดได้ว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเน้นการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม (United Nation, n.d.) และ 2.) ฟุตบอลเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและโลก ซึ่งสาเหตุเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-Use Plastics) การใช้น้ำอย่างมหาศาล การไม่ใช้พลังงานหมุนเวียน รวมไปจนถึงการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางของแฟนบอล เช่น ในนัดชิงชนะเลิศรายการยูโรปาลีกและยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 2019 ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนรวมกันถึง 35,450 ตัน เปรียบเทียบกับจำนวนคาร์บอนที่แต่ละคนปล่อยเฉลี่ยเพียง 10 ตันต่อปี (Balch, 2014; Pundy, 2019)
[3] ควรกล่าวด้วยว่า 1.) สโมสรจะได้ 1 คะแนนเมื่อมีการดำเนินกิจกรรมที่เข้าเกณฑ์ทั้งในสนามแข่งขัน สนามซ้อม หรือสำนักงาน และสโมสรจะได้ 0.5 คะแนนเมื่อแผนการต่าง ๆ กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนา และ 2.) หัวข้อการลดคาร์บอนไม่ปรากฏในตัวชี้วัดการประเมิน (Skelton and Lockwood, 2019)
[4] พลังงานหมุนเวียนที่อาเซน่อลใช้คือ ระบบแบตเตอรี่ที่กักเก็บพลังงานเพื่อใช้ในสนามตลอดเวลาการแข่งขัน 90 นาที ระบบดังกล่าวช่วยให้สโมสรลดค่าไฟฟ้าลง เนื่องจากสโมสรสามารถกักเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ในช่วงที่ค่าไฟพุ่งสูง อีกทั้งยังสามารถจำหน่ายไฟฟ้าคืนแก่บริษัทไฟฟ้าและพลังงานอย่าง National Grid ได้ (Campelli, 2018) นอกจากนี้ควรกล่าวด้วยว่าอาหารมังสวิรัติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต่างจากอาหารที่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบซึ่งผลิตจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ อันเป็นแหล่งกำเนิดคาร์บอนและก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การเกิดมลภาวะในแหล่งน้ำ และการสูญหายของความหลากหลายทางชีวภาพ (รพีพัฒน์, 2560)
[5] ทั้งสามสโมสรได้คะแนนเต็มครบทุกข้อยกเว้นหัวข้อการสื่อสารและการมีส่วนร่วมที่ได้ 0.5 คะแนน
[6] สารฟอสเฟตที่มีอยู่ในผงซักฟอกมีส่วนทำให้สัตว์น้ำตายและน้ำเน่าเสีย (ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ, ม.ป.ป.)
รายการอ้างอิง
มฤคย์ ตันนิยม. (ม.ป.ป.). รักษ์โลก เอฟซี: รู้จัก “ฟอเรสต์ กรีน” สโมสรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก. สืบค้นจาก www.mainstand.co.th/catalog/4-Lifestyle/230-รักษ์โลก+เอฟซี%3A+รู้จัก+“ฟอเรสต์+กรีน”+สโมสรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก. เข้าถึงเมื่อ 8 กรกฎาคม 2563
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. (2559). ความยั่งยืน (ฉบับย่นย่อ) – ว่าด้วยทุนนิยม สังคม สิ่งแวดล้อม และธุรกิจสมัยใหม่. สืบค้นจาก http://salforest.com/blog/sustainability-interview. เข้าถึงเมื่อ 26 มีนาคม 2562.
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. (2560). กินมังฯ ทำไม?. สืบค้นจาก http://salforest.com/blog/why-vegetarian เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563
เวิร์คพอยท์ทูเดย์, (2562). 10 ปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก 3 เรื่องรุนแรงเกินโลกรับไหว. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/10-environmental-threats1/. เข้าถึงเมื่อ 12 กรกฎาคม 2563
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. (ไม่ระบุปีที่พิมพ์). ผงซักฟอก. สืบค้นจาก www.bangkokhealth.com/author/ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ%20ในเครือ%20%20บริษัท%20กรุงเทพดุสิตเวชการ%20จำกัด%20(มหาชน).เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563
สฤณี อาชวานันทกุล. (2560). “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” กับการระบุประเด็น (ที่ควรจะ) เร่งด่วนสำหรับไทย. สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2017/03/sdgindex/. เข้าถึงเมื่อ 25 มิถุนายน 2563.
Balch, O. (2014). Sustainability in football: greening the game. from https://www.theguardian.com/sustainable-business/2014/oct/02/sustainability-football-green-game-sport. Retrieved 6 July 2020
Campelli, M. (2018). Premier League commitment on single-use plastics could be game-changing. from https://sportsustainabilityjournal.com/analysis/premier-league-commitment-on-single-use-plastics-could-be-game-changing/ Retrieved 3 July 2020
Campelli, M. (2018). Arsenal installs battery system that can power Emirates Stadium for a 90-minute match. from https://sustainabilityreport.com/2018/11/26/arsenal-installs-battery-system-that-can-power-emirates-stadium-for-a-90-minute-match/ Retrieved 3 July 2020
Campelli, M. (2019). London and Manchester rivals perform well in Premier League sustainability table. from https://sustainabilityreport.com/2019/11/13/london-and-manchester-rivals-perform-well-in-premier-league-sustainability-table/ Retrieved 3 July 2020
Green is Universal. (n.d.). Kicking for Green Goals this Premier League Season. Retrieved from http://www.greenisuniversal.com/blog/kicking-for-green-goals-this-premier-league-season/ Retrieved 1 July 2020
Pundy, D. (2019). How sustainable can football be?. from https://www.euractiv.com/section/health-consumers/news/how-sustainable-can-football-be/ Retrieved 18 June 2020
Rios, B. (2019). Betis, the Spanish club committed to going climate neutral. from https://www.euractiv.com/section/health-consumers/news/betis-the-spanish-club-committed-to-going-climate-neutral/ Retrieved 1 July 2020
Scheyvens, R et al. (2016). The Private Sector and the SDGs: The Need to move Beyond ‘Business as Usual. In Sustainable Development, Vol 24. pp. 371-382.
Skelton, J and Lockwood, D. (2019). How green are Premier League clubs?. from https://www.bbc.com/sport/football/50317760. Retrieved 2 July 2020
United Nation. (n.d.). Sustainable Development Goals. from https://sustainabledevelopment.un.org/?menu=1300. Retrieved 25 June 2020.