บนท้องถนนในกรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยยวดยานพาหนะนานาชนิด ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล แท็กซี่ รถสามล้อ จักรยานยนต์ จักรยาน ตลอดจนรถเมล์ หนึ่งในขนส่งสาธารณะที่มักถูกพูดถึงและเป็นที่ถกเถียงอย่างมากโดยเฉพาะประเด็นเรื่องคุณภาพและการพัฒนา ไล่ตั้งแต่สภาพรถ คุณภาพการบริการของพนักงาน หรือการคาดเดาไม่ได้ของตารางการเดินรถ และประเด็นถกเถียงร้อนระอุล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้วคือ การทวงถามนโยบายของพรรคพลังประชารัฐที่หาเสียงไว้เมื่อปี 2562 ว่าจะกำจัดรถเมล์ร้อนให้หมดไปภายในปี 2565 เพราะเรายังพบรถเมล์ร้อนวิ่งอยู่เต็มท้องถนน

เราต่างเข้าใจกันดีว่ารถเมล์ร้อนไม่เหมาะกับการนำมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ โดยหลายฝ่ายต่างให้เหตุผลที่ควรยกเลิกว่า เนื่องจากสภาพอากาศบ้านเราร้อนจัด อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่าเราสามารถสร้างข้อถกเถียงให้หนักแน่นขึ้นได้ โดยเริ่มจากการพิจารณาว่าอากาศร้อนเชื่อมโยงกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐจำเป็นต้องปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากภัยพิบัติดังกล่าว

ภาพจาก: https://www.thairath.co.th/business/economics/1826609

 

อากาศร้อนและสิทธิมนุษยชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันโลกกำลังเผชิญอยู่กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนึ่งในปรากฏการณ์ทางลบที่กำลังส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทั่วทุกมุมโลกคือ คลื่นความร้อนหรืออากาศที่ร้อนขึ้นต่อเนื่องและยาวนาน หลายประเทศต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย โดยผู้คนในยุโรปตะวันตกมากกว่า 20,000 คนต้องเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนในฤดูร้อนปี 2022 ในปีเดียวกันสหราชอาณาจักรถึงกับต้องประกาศเตือนประชาชนถึงภัยดังกล่าว เนื่องจากวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส สูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา

จากภาวะคลื่นความร้อนที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วทุกมุมโลก Human Rights Watch (HRW) จึงเสนอให้รัฐบาลแต่ละประเทศคุ้มครองประชาชนจากคลื่นความร้อนที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 10 ขั้นตอน โดยหนึ่งในนั้น คือ การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสภาพอากาศที่เย็นในช่วงที่ประเทศต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน HRW เสนอให้รัฐเพิ่มพื้นที่ปรับอากาศหรือพื้นที่ที่ให้ร่มเงาแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งหากเป็นไปได้รัฐควรจัดให้มีการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในหน่วยงานและสถาบันของรัฐ ตลอดจนเรือนจำ โรงเรียน ศูนย์สุขภาพ และระบบขนส่งมวลชน กล่าวอีกอย่างคือ เครื่องปรับอากาศควรเป็นสิทธิมนุษยชนในบริบทที่โลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางซึ่งมักได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่าคนกลุ่มอื่น

เมื่อเชื่อมโยงปรากฏการณ์คลื่นความร้อนกับการยกเลิกรถเมล์ร้อนในไทย ผู้เขียนเห็นว่าเราควรยกระดับการสนทนาเรื่องการยกเลิกรถเมล์ร้อนในมุมมองสิทธิมนุษยชน โดยมีจุดมุ่งหมายคือ การผลักดันให้รัฐแทนที่รถเมล์ร้อนด้วยการเปลี่ยนไปใช้รถเมล์ปรับอากาศทั้งหมด เนื่องจากการเข้าถึงอากาศเย็นเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งที่รัฐควรจัดสรรให้กับประชาชนภายใต้บริบทที่ประเทศไทยและกรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด

ภาพจาก: https://thaipublica.org/2017/05/bus-service-mbta/

 

อากาศที่ร้อนจัดในประเทศไทย

ขณะใช้บริการรถเมล์ร้อน หลายคนอาจเคยเกิดความรู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายเนื้อสบายตัว หรือหน้ามืดจนเป็นลม อันเนื่องมาจากอากาศร้อน นี่ไม่ใช้การกล่าวอ้างเกินจริงแต่อย่างใด เพราะหากพิจารณาสถิติอุณหภูมิของประเทศไทยจะพบว่า ระหว่างปี 2560-2564 อุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทยอยู่ที่ 44.2 องศาเซลเซียส ที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ในเดือนเมษายนปี 2562 และหากพิจารณาสถิติอุณหภูมิของกรุงเทพมหานครย้อนหลัง 20 ปี (2541-2560) พบว่า วันที่อากาศร้อนที่สุดจะมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 37.6-40.1 องศาเซลเซียส โดยวันที่ร้อนที่สุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ซึ่งอุณหภูมิสูงถึง 40.1 องศาเซลเซียส

สถิติยังบ่งบอกอีกว่าในเดือนที่ร้อนที่สุดอุณหภูมิเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 34.9-37.4 องศาเซลเซียส ซึ่งเมษายนเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดที่ 60 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยเดือนพฤษภาคมและเดือนมีนาคมที่ 30 และ 10 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ นอกจากนี้ หากพิจารณาจำนวนวันที่มีอากาศร้อนหรือวันที่มีอุณหภูมิเกิน 35 องศาเซลเซียสเป็นต้นไป จะพบว่าแต่ละปีระหว่างปี 2556-2560 มีจำนวนวันที่ร้อนมากกว่า 100 วัน

นอกจากจะส่งผลให้เกิดความหงุดหงิดและไม่สบายตัวแล้ว อากาศร้อนยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคเผยสถิติผู้เสียชีวิตที่เข้าข่ายการเฝ้าระวังการเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อนหรือฮีตสโตรกในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมระหว่างปี 2558-2564 ว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 234 ราย ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงจากโรคดังกล่าวมักเป็นผู้ที่ทำอาชีพหรือมีกิจกรรมกลางแจ้ง ตลอดจนผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว (เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคอ้วน) และผู้มีรายได้น้อย

 

ขนส่งสาธารณะปรับอากาศเป็นสิทธิที่ประชาชนควรได้รับ

การพิจารณาว่าอากาศเย็นคือ สิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง ก็น่าจะทำให้ข้อเรียกร้องเรื่องการผลักดันให้รัฐต้องจัดหารถเมล์ปรับอากาศมาให้บริการแก่ประชาชนมีความหนักแน่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนไปใช้รถเมล์ปรับอากาศ รัฐก็ไม่ควรละเลยประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่อาจตามมา เช่น ค่าบริการที่อาจเพิ่มสูงขึ้น โดยรัฐควรมีแนวทางในการควบคุมราคาและค่าบริการให้เหมาะสม (ถูกหรือฟรี) เพื่อให้คนรายได้น้อยเข้าถึงขนส่งมวลชนชนิดนี้ได้อย่างเท่าเทียม พูดอีกอย่างคือ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากคลื่นความร้อนไม่ควรมาพร้อมกับการกีดกันหรือเพิ่มภาระให้กับผู้ใช้บริการผู้มีรายได้น้อย ในทางตรงกันข้าม คนทุกกลุ่มควรได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากรัฐอย่างเท่าเทียมกัน

แน่นอนว่าหากมองภาพกว้างพ้นไปจากกรุงเทพฯ เราพบว่ายังมีระบบขนส่งสาธารณะอีกหลากหลายชนิดที่ให้บริการโดยไม่เกรงใจอากาศร้อนและไม่คำนึงถึงชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน อาทิ รถไฟร้อนทางไกล รถเมล์ร้อนรับส่งข้ามจังหวัด รถสองแถว หรือรถสามล้อ ขนส่งสาธารณะเหล่านี้ โดยเฉพาะประเภทแรกก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันไปใช้ระบบปรับอากาศแทน เนื่องจากประชาชนผู้เดินทางไม่ควรที่จะต้องมาทรมานกับการเดินทางอันแสนทรหดที่เต็มไปด้วยความร้อน ฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศและทางเสียง ตรงกันข้ามประชาชนควรได้รับการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจากภาครัฐนั่นคือ การเข้าถึงอากาศที่เย็นในช่วงเวลาที่โลกต้องเผชิญกับอากาศที่ร้อนจัด

หากคิดในมุมกลับเราอาจตั้งคำถามได้ว่า รัฐแบบไหนกันที่ปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญกับความยากลำบากถึงเพียงนี้ ?

 

เอกสารประกอบการเขียน

Air Conditioning Is a Human Right

Air-Conditioning Should Be a Human Right in the Climate Crisis

Over 20,000 died in western Europe’s summer heatwaves, figures show

Protecting People from Extreme Heat

Summer is Coming เปิดสถิติ ‘อากาศร้อน’ ของ กทม. ย้อนหลัง 20 ปี

เปิดสถิติย้อนหลังอุณหภูมิสูงที่สุดของไทย จังหวัดไหนอากาศร้อนสุด-กี่องศาฯ?