การระบาดของโควิด-19 ทำให้การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศลดลงเฉลี่ย 17 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก นับว่าเป็นการลดลงครั้งประวัติศาสตร์เนื่องจากเศรษฐกิจแทบทั้งระบบในหลายประเทศเกือบจะหยุดนิ่งเพราะมาตรการล็อคดาวน์
แต่ข่าวนี้ดูจะเป็นข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี เพราะตัวเลขดังกล่าวสามารถตีความได้ว่า แม้เมืองจะถูกแช่แข็งและคนส่วนใหญ่ต้องกักตัวเองอยู่ในบ้าน แต่การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของเรากลับไม่ได้ลดเหลือศูนย์แต่ยังสูงถึง 83 เปอร์เซ็นต์ของภาวะปกติ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงต้องทำมากกว่าให้พนักงานทำงานที่บ้าน ปิดห้างสรรพสินค้า หรืองดเดินทางโดยเครื่องบิน
นักสิ่งแวดล้อมต่างเห็นพ้องต้องกันว่าขอบเขตที่ปลอดภัยสำหรับมนุษยชาติและระบบนิเวศโลกคือการจำกัดอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม ณ สิ้นคริสตศตวรรษนี้
ปัจจุบัน ทุกภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น ประชากรหลายประเทศทั่วโลกต่างให้น้ำหนักวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่ารุนแรงเทียบเท่ากับการระบาดของโควิด-19 ในระยะยาว แลร์รี ฟิงค์ (Larry Fink) ประธานและผู้บริหารกองทุนขนาดยักษ์ที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในโลก แบล็คร็อค (BlackRock) ส่งจดหมายถึงผู้บริหารทั่วโลกโดยตีเส้นทึบว่า “ความเสี่ยงจากวิกฤตภูมิอากาศคือความเสี่ยงในการลงทุน” พร้อมเรียกร้องให้ธุรกิจปรับตัว ขณะที่ภาครัฐก็พยายามเดินหน้าตามแผนที่ให้คำมั่นไว้เมื่อลงนามในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
แต่ความคืบหน้าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมากล่าวได้ว่าค่อนข้างจำกัด หากเทียบกับเป้าหมายเพื่อไม่ให้โลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่ต้องลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้า
การระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศเจ็บหนัก รัฐบาลบางแห่งเริ่มโอดครวญว่าปากท้องต้องมากก่อน ส่วนสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องรองรอให้เศรษฐกิจดีค่อยว่ากันใหม่ แต่หากไม่รีบลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบัน ต้นทุนของการไม่ทำอะไรอาจสูงถึง 600 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นศตวรรษนี้
โชคดีที่เรายังพอมีทางออก นั่นคือการออกแบบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ เป็นการก่อร่างสร้างเศรษฐกิจที่พังทลายขึ้นมาใหม่ให้พร้อมรับมือกับวิกฤติภูมิอากาศที่กำลังจะมาถึงในอนาคต
ฟื้นเศรษฐกิจแบบเขียวและดี
“วิกฤติการระบาดของโควิด-19 จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของความก้าวหน้าในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
นี่คือประโยคหนึ่งของงานวิจัยโดยนักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้าจากสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร อาทิ โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph Stiglitz) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และลอร์ด นิโคลัส สเติร์น (Lord Nicholas Stern) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อพยายามตอบโจทย์ว่าเครื่องมือทางการคลังใดที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวรวบรวมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 700 นโยบายตั้งแต่เกิดวิกฤติซับไพรม์เมื่อ ค.ศ. 2008 จวบจนปัจจุบันพร้อมทั้งทำแบบสำรวจกับผู้เชี่ยวชาญ 231 คนจาก 53 ประเทศ โดยพบว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้นทำให้การจ้างงานได้มากกว่า สร้างผลตอบแทนระยะสั้นที่สูงกว่าและช่วยเพิ่มการประหยัดต้นทุนในระยะยาวหากเทียบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วไป
เริ่มต้นที่พลังงานหมุนเวียนซึ่งทศวรรษที่ผ่านมาต้นทุนลดลงอย่างน่าประหลาดใจ โดยต้นทุนการผลิตพลังงานลมลดลง 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ลดลงถึง 89 เปอร์เซ็นต์ ทำให้พลังงานหมุนเวียนกลายเป็นแหล่งพลังงานที่ต้นทุนต่ำที่สุดแซงหน้าเชื้อเพลิงฟอสซิลราคาถูกอย่างถ่านหินในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย และฝรั่งเศส เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนจะจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากในช่วงแรกของโครงการซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจในภาวะวิกฤติที่งานกลายเป็นสิ่งหายาก แต่ในขณะเดียวกัน พลังงานหมุนเวียนไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากนักในการดำเนินการและการดูแลรักษา ทำให้แรงงานไม่ขาดแคลนในอุตสาหกรรมอื่นเมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
โครงการระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยจะใช้แรงงานมากกว่าโครงการก่อสร้างทั่วไปราว 2.5 เท่า อีกทั้งในระยะยาวยังช่วยลดต้นทุนการเปลี่ยนผ่านภาคบังคับสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำเมื่อความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันกลายเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจจริงๆ ในอนาคต
ความโดดเด่นอีกประการโครงการสีเขียวบางประเภทคือความเร็วในการเริ่มโครงการในระดับแทบจะทันที อย่างการปรับปรุงอาคารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น เสริมฉนวนกันความร้อนและเปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอดไฟประหยัดพลังงาน หรือการปรับภูมิทัศน์เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น การปลูกป่า ฟื้นฟูระบบนิเวศ และการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะเฉพาะทางของแรงงานมากนัก อีกทั้งยังสามารถทำงานโดยเว้นระยะห่างทางกายภาพได้อีกด้วย
การฟื้นฟูสีเขียว (green recoveries) จึงเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจ เพราะตอบโจทย์ทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวในระยะสั้นและรับมือวิกฤติภูมิอากาศในระยะยาว
ฟื้นวิกฤติภาคปฏิบัติ
กระแสการฟื้นฟูสีเขียวส่งเสียงดังที่สุดในสหภาพยุโรป ทั้งเสียงจากภาคประชาสังคมที่มองว่านี่คือโอกาสของภูมิภาคในการผลักดันนโยบายสัญญาเขียวแห่งสภาพยุโรป (European Green Deal) ว่าด้วยการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของประเทศสมาชิกที่ได้รับการลงนามราวปลายปีที่ผ่านมาโดยมีงบประมาณมูลค่ากว่าหนึ่งแสนล้านยูโร ในขณะที่ภาคเอกชนก็มีออกแถลงการณ์ร่วมกันของ 68 บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Unilever Ikea และ Puma ที่เรียกร้องให้รัฐบาลออกแบบนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ตัวเลขล่าสุดของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปมีมูลค่าสูงถึง 1.85 ล้านล้านยูโร โดยกันเงินส่วนหนึ่งเพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศสมาชิกที่ยังพึ่งพาถ่านหินสู่พลังงานที่สะอาดขึ้น รวมถึงการลงทุนในภาคเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมการสหภาพยุโรปแถลงว่าจะระดมเงินมาจากตราสารหนี้ที่มีอายุยาวนาน โดยจะระดมเงินรายได้จากแหล่งภาษีใหม่ เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน
“เราจำเป็นต้องชัดเจนและมั่นคงอย่างยิ่งในการรับมือวิกฤติครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกัน นโยบายเหล่านั้นก็ต้องทำให้เราพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต”
นอกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลทั่วโลกยังสามารถเพิ่ม ‘เงื่อนไขสีเขียว’ ในสินเชื่อหรือเงินให้เปล่าสำหรับอุ้มธุรกิจที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอีกด้วย เช่น รัฐบาลฝรั่งเศสที่อนุมัติเงินช่วยเหลือมูลค่า 8 พันล้านยูโรให้กับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ระบุว่าเป็นแผนที่จะทำให้ฝรั่งเศส “เป็นผู้นำด้านการผลิตยานพาหนะพลังงานสะอาดแห่งสหภาพยุโรป”
การฟื้นฟูสีเขียวไม่ใช่เรื่องใหม่ องค์การสหประชาชาติเคยเรียกร้องมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเกิดวิกฤติซับไพรม์ แต่เสียงดังกล่าวส่งไม่ถึงผู้นำในหลายประเทศ หลังเกิดวิกฤติในโลกการเงิน เงินจำนวนมหาศาลยังคงไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมสกปรกอย่างเชื้อเพลิงถ่านหิน ท่ามกลางเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า รอยเท้าคาร์บอนของมนุษยชาติก็เข้าใกล้ขีดจำกัด
เราเคยพลาดโอกาสไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ผู้เขียนหวังว่าวิกฤติในปัจจุบันที่มาในวันซึ่งเทคโนโลยีสะอาดก้าวหน้าขึ้นมาก ต้นทุนต่ำลง และวิกฤติภูมิอากาศกลายเป็นเรื่องเร่งด่วน ผู้นำทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย จะร่วม “สร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม” มุ่งหน้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและปูทางเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนรุ่นต่อไป
เอกสารประกอบการเขียน
Will COVID-19 fiscal recovery packages accelerate or retard progress on climate change?
Can we tackle both climate change and Covid-19 recovery?
Climate change: Could the coronavirus crisis spur a green recovery?
Coronavirus recovery plan ‘must tackle climate change’
E.U.’s Coronavirus Recovery Plan Also Aims to Fight Climate Change
Could COVID-19 mark a ‘turning point’ in the climate crisis?