รูปอ้างอิงจากเว็ปข่าว Guestlist (http://bit.ly/2EAtEZi)

แก้วน้ำพลาสติกจำนวนพันๆ แก้ว..  เศษอาหารกองพะเนิน.. ถุงพลาสติกจำนวนหมื่นๆ ชิ้น.. เกลื่อนกลาดเต็มพื้น…

ผู้อ่านท่านใดที่เคยไปหรือชื่นชอบการไปงานปาร์ตี้และงานเทศกาลดนตรี คงเคยเห็นภาพดังกล่าว เราอาจเห็นมันบ่อยจนเข้าใจว่า ที่ไหนมีงานเทศกาลดนตรี ที่นั่นต้องมีการทิ้งขยะเกลื่อนกลาด และหากเราจะถามหาใครซักคนที่จะมาช่วยจัดการสภาพอันสกปรกและน่าชังนี้ แทบไม่มีใครเต็มใจยกมือเลย

อย่างไรก็ดี มีองค์กรจัดงานเทศกาลดนตรีแห่งหนึ่งที่เชื่อว่า ความสนุกไม่ควรเป็นข้ออ้างในการละเลยความรับผิดชอบ ตรงกันข้าม ในฐานะผู้จัด พวกเขามองว่างานเทศกาลดนตรีสามารถมอบทั้งสองสิ่งไปพร้อมๆ กันได้ องค์กรนั้นชื่อว่า DGTL (อ่านว่า ดิ-จิ-ทัล)

DGTL คือ องค์กรจัดงานเทศกาลดนตรีและศิลปะการแสดงในยุโรป ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในหมู่ชาวปาร์ตี้สายเพลงอีดีเอม (EDM) ว่าเป็นงานเทศกาลดนตรีที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม DGTL พยายามสื่อสารและให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมกับผู้เข้าร่วมผ่านกิจกรรมและสื่อต่างๆ ในงาน ตัวอย่างเช่น ไม่ขายอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เพื่อลดปริมาณรอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ทั้งต่อตัวงานและผู้เข้าร่วมงาน จัดแสดงงานศิลปะหรือหนังที่สอดแทรกความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา DGTL มุ่งหาวิธีที่จะทำให้งานเทศกาลของตนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งปี 2017 องค์กรได้ยกระดับความตั้งใจไปอีกขั้น เมื่อพวกเขาประกาศว่าจะผันตัวไปเป็นผู้จัดเทศกาลดนตรีแบบเซอร์คูล่า หรือ เซอร์คูล่าเฟสติวัล (circular festival) แห่งเเรกของโลก

 


คำว่า เซอร์คูล่า (circular) มีที่มาจากแนวคิดเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (circular economy) ซึ่งเป็นแนวคิดการแก้ปัญหาขยะและลดใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองที่กำลังได้รับความสนใจมากในยุโรป หัวใจสำคัญของแนวคิดนี้คือการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุดตลอดอายุของทรัพยากรนั้นๆ เพื่อไม่ให้ทรัพยากรหมดคุณค่า กลายเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์ต่อทั้งระบบเศรษฐกิจและระบบนิเวศก่อนเวลาอันควร ดังนั้น เซอร์คูล่าเฟสติวัล จึงหมายถึงงานเทศกาลปาร์ตี้ที่จัดสรรทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและปราศจากขยะ

แต่การเป็นเซอร์คูล่าเฟสติวัลไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ภายในวันสองวัน จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่าน คือ การมองปัญหาในภาพรวมและเป็นเชิงระบบ ซึ่งในกรณีนี้ คือการศึกษาทรัพยากรต่างๆ ที่ถูกใช้และทิ้งในงานเทศกาล องค์กรต้องตอบให้ได้ว่า ในแต่ละงานจะมีการใช้ทรัพยากรอะไรบ้าง  จำนวนเท่าไหร่ และเมื่องานจบลง ปลายทางของพวกมันจะไปจบลงที่ไหน เพราะข้อมูลเหล่านี้คือกุญแจสำคัญในการวางกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านขององค์กร

เพื่อที่จะหาคำตอบดังกล่าว DGTL ได้ร่วมมือกับ Metabolic – บริษัทที่ปรึกษาและปลูกธุรกิจเพื่อความยั่งยืน – ทำการศึกษาระบบเผาผลาญ หรือระบบ metabolism ของงานเทศกาล ด้วยการวิเคราะห์การไหลของสาร (material flow analysis) ทั้งหมด ตั้งแต่ก่อนเริ่มไปจนถึงจบงาน โดยเลือกงานเทศกาลประจำปี 2017 ที่จัดขึ้นที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่คนนิยมไปงานเทศกาลกันล้นหลาม แต่ละปีจึงมีงานเทศกาลไม่น้อยกว่า 700 งาน และมีผู้เข้าร่วมมากถึง 21 ล้านคน

 

ผลลัพธ์จากการศึกษาได้ถูกนำเสนออยู่ในรูปของแผนภาพ Sankey (Sankey Diagram) ที่แสดงเส้นทางและปริมาณการไหลของทรัพยากรที่สำคัญต่างๆ (ดูรูปด้านล่าง) เริ่มจากทางด้านซ้าย ซึ่งแสดงถึงทรัพยากรต้นทาง (material inputs) ที่ใช้ทั้งหมดในงานเทศกาล ไล่ไปทางขวาที่แสดงถึงทรัพยากรปลายทาง (material outputs) ที่หลงเหลือหลังงานเลิก เช่น เศษไม้ เเก้วน้ำ โครงเหล็ก รวมไปถึงมวลวัตถุที่ถูกทิ้งในงานอย่างเศษอาหารและปัสสาวะ เป็นต้น ความหนาบางของเส้นแต่ละเส้นแสดงถึงปริมาณของทรัพยากรนั้นๆ เมื่อเทียบสัดส่วนกับทรัพยากรประเภทอื่นๆ (สำหรับทรัพยากรที่มีสัดส่วนใหญ่มากกว่าประเภทอื่นเกินไป เช่น ทรัพยากรน้ำ ความหนาของเส้นจะถูกลดสัดส่วนลง จึงไม่ตรงตามการเปรียบเทียบสัดส่วนจริง)

แผนภาพ Sankey ด้านล่าง เป็นผลการศึกษาระบบเผาผลาญของงานเทศกาล DGTL ที่อัมสเตอร์ดัมในปีนี้ (2018) ซึ่งเป็นการศึกษาครั้งที่สอง โดย DGTL ใช้ผลการศึกษาของปีที่แล้ว เป็นแนวทางการวางกลยุทธ์การจัดงานในปีนี้

คลิ๊กเพื่อขยายแผนภาพ

ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า งานเทศกาลของ DGTL มีประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรมากกว่างานเทศกาลดนตรีทั่วไป ทรัพยากรปลายทาง (outputs) เกือบทั้งหมดได้รับการจัดสรรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่มีทรัพยากรใดที่จบลงด้วยการฝังกลบ (landfill) วัสดุก่อสร้าง เมื่อใช้เสร็จแล้วถูกนำมาถอดแยกชิ้นส่วนออกเพื่อจัดเก็บและนำไปใช้ในงานอื่น ส่วนวัสดุประเภทแก้วและพลาสติกที่ใช้แล้วจะถูกคัดแยกและจัดเก็บเพื่อนำไปรีไซเคิล แม้แต่เศษอาหารและขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ก็ถูกรวบรวมและส่งเข้าเครื่องย่อยสลายเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยหมักสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร สำหรับกรณีที่แย่ที่สุดอย่างทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือสร้างประโยชน์อื่นๆ ได้ ก็จะถูก downcycle คือนำไปรีไซเคิลในคุณภาพที่ด้อยลง หรือเผาเพื่อผลิตพลังงาน (incineration for energy)

   

หากเทียบกับผลลัพธ์ในปีที่แล้ว ความสำเร็จที่สำคัญของ DGTL Amsterdam ในปีนี้ คือ (1) ปริมาณขยะจากการรื้อถอน (demolition wastes) ลดลงถึงร้อยละ 86 (2) ปริมาณขยะจากผู้เข้าร่วมลดลงถึงกึ่งหนึ่ง ซึ่งน้อยกว่าปริมาณขยะที่ผลิตจากผู้เข้าร่วมงานเทศกาลทั่วไปถึง 7 เท่า ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่ทำให้ DGTL ประสบความสำเร็จ มีด้วยกันหลักๆ 5 ประการ

1. การออกแบบโครงสร้างให้ถอดประกอบได้ง่าย (design for disassembly) – การออกแบบโครงสร้างเวทีและอาคารให้ถอดแยกชิ้นส่วนได้ง่ายช่วยให้องค์กรสามารถคัดแยกและจัดเก็บทรัพยากรต่างๆ เพื่อนำไปใช้ซ้ำในโอกาสอื่นๆ ได้สะดวก และไม่ต้องส่งไปรีไซเคิลหรือเผาเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน ซึ่งทำลายคุณค่าของทรัพยากรมากกว่า

 

2. การบริการแก้วน้ำแบบระบบหมุนเวียน (hard-cup rotation system) – เมื่อหลายปีก่อน องค์กรพบว่า ขยะที่มาจากผู้เข้าร่วมงานส่วนใหญ่เป็นภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่ม จึงปรับเปลี่ยนโดยการแจกแก้วน้ำแบบหมุนเวียน โดยผู้บริโภคต้องจ่ายค่ามัดจำ ซึ่งจะได้รับเงินคืนเมื่อนำแก้วน้ำมาคืนเมื่องานจบ แก้วน้ำนี้จะถูกเก็บไว้ใช้ซ้ำ แต่หากมีแก้วเสียจนไม่สามารถใช้ซ้ำได้ องค์กรจะส่งไปรีไซเคิลรวมกับขวดน้ำเพื่อผลิตเป็นขวดน้ำใหม่ไว้ใช้ในงานปีหน้า 

 

3. การส่งเสริมการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ – เพราะ DGTL ตั้งใจทำให้ขยะกลายเป็นวัตถุดิบใหม่อีกครั้งจริงๆ องค์กรจึงต้องการสื่อสารให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจในประเด็นนี้เช่นกัน ดังนั้นแทนที่บริเวณรวบรวมขยะของงานในปีนี้จะตั้งอยู่ในซอกหลืบที่ห่างไกลจากสายตาผู้คน องค์กรเลือกที่จะตั้งไว้ตรงกลางทางเดิน เพื่อให้เตะตาผู้คนที่เดินผ่าน เป็นการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ให้ผู้เข้าร่วมเห็นมูลค่าของขยะที่ตนทิ้ง โดยเรียกบริเวณนี้ว่า “ซอยทรัพยากร” (resource street) และมีการแสดงวิธีการคัดแยกและการรีไซเคิลขยะประเภทฝาขวดน้ำด้วยกระบวนการ pyrolysis ในบริเวณนี้ด้วย

 

4. ศูนย์อาหารไร้ขยะ (circular food-court) – ส่วนกลยุทธ์การจัดการกับขยะจำพวกภาชนะจานและเศษอาหารของผู้เข้าร่วมงานนั้น ปีนี้ DGTL ได้ติดตั้งเครื่องผลิตปุ๋ยหมักด้วยการย่อยสลายขยะอินทรีย์ไว้ในศูนย์อาหาร จึงไม่มีเศษขยะจากอาหารให้เห็นเมื่อจบงาน มีแต่ปุ๋ยหมักที่จะนำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์

 

5. การร่วมมือกับอาสาสมัคร (volunteer engagement) – หนึ่งในกำลังหลักที่ช่วยให้งานเทศกาลประสบความสำเร็จในการจัดการกับปัญหาขยะมาจากความร่วมมือของกลุ่มอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยเก็บกวาด คัดแยก และรีไซเคิลขยะในงานเทศกาล โดยเฉพาะในปีนี้ ทาง DGTL มีการวางแผนและร่วมงานกับทีมอาสาเป็นอย่างดี จึงทำให้ประสิทธิภาพในการจัดการดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว

 

แม้ว่าผลงานในปีนี้จะช่วยให้งานเทศกาลดนตรี DGTL เข้าใกล้การเป็นเซอร์คูล่าเฟสติวัลไปอีกก้าวหนึ่ง แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ต้องปรับปรุงต่อไปในอนาคต เช่น ขยะจากการรื้อถอนที่ไม่สามารถถอดประกอบเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ยังถูกนำไป downcycle หรือแปรรูปเป็นแหล่งพลังงานชีวมวล ซึ่งองค์กรควรพยายามลดปริมาณขยะเหล่านี้ในปีหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  นอกจากนี้ องค์กรยังควรศึกษาเรื่องแหล่งพลังงานที่ใช้เพิ่มขึ้น เพราะแม้ว่าภายในงานจะมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์อยู่แล้ว แต่องค์กรยังใช้พลังงานไฟฟ้าจากส่วนกลางอยู่ ความท้าทายขององค์กรก็คือการหันมาใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด

หันกลับมามองงานเทศกาลในประเทศไทย ถึงแม้ว่าในบ้านเราจะเริ่มมีกระแสลดการใช้พลาสติกแล้วก็ตาม แต่ความหวังที่เราจะก้าวไปเป็นเซอร์คูล่าเฟสติวัลแบบเดียวกับ DGTL นั้นคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก หลายคนอาจโทษว่า เป็นเพราะคนไทยมีนิสัยมักง่ายและขี้เกียจ แต่ผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะไม่ว่าประเทศใดก็ตาม มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการความสะดวกสบาย และมีความมักง่ายด้วยกันทั้งนั้น ต่อเมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจปัญหาและผลกระทบของมันอย่างละเอียดเท่านั้นความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาจึงจะเกิดขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้คนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็คือ การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก (insights) ด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยยังบกพร่อง เมื่อไม่มีข้อมูลเชิงลึก เราก็ไม่ทราบว่าปัญหาที่สำคัญมีอะไรบ้าง และควรแก้ปัญหาไหนก่อนหลังถึงจะเกิดผลลัพธ์ทางสังคมและทางธุรกิจมากที่สุด เป็นเหตุให้บริษัทหรือองค์กรต่างๆ ไม่มีกลยุทธ์ความยั่งยืนที่ชัดเจน แม้กระทั่ง DGTL เอง หากไม่ริเริ่มทำการศึกษาวิเคราะห์การไหลของทรัพยากรในงาน องค์กรก็จะไม่ทราบว่างานเทศกาลของตนอยู่ไกลจากการเป็นเซอร์คูล่าเฟสติวัลแค่ไหน

สำหรับ DGTL ความฝันขององค์กรที่จะเป็นผู้จัดงานเซอร์คูล่าเฟสติวัลแนวหน้าคงไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม ขอเพียงองค์กรยังยึดมั่นในภารกิจและเป้าหมายที่วางไว้ เราคงได้เห็นงานเทศกาลดนตรีที่ยั่งยืนที่สุดในโลกงานหนึ่งในอีกไม่กี่ปีนี้ และนั่นก็จะทำให้ DGTL กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจตัวอย่างที่พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า ธุรกิจกับความยั่งยืนไม่ได้เป็นอุปสรรคของกันและกันเลย

แหล่งเนื้อหาอ้างอิง:
บทความและรายงานผลการวิเคราะห์เมทาบอลิซึม (metabolism analysis) ของงาน DGTL Amsterdam จัดทำโดยบริษัท Metabolic