เป็นข่าวชวนยินดีของภาคธุรกิจไทยในปีนี้ที่บริษัทสัญชาติไทย 22 แห่งได้รับคัดเลือกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) หรือ DJSI ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน อีกทั้งยังมี 8 บริษัทได้รับตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมถ่านหินและเชื้อเพลิง น้ำมันและแก๊สธรรมชาติ เครื่องดื่ม ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้าง โทรคมนาคม การคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน

เห็นสถิติแบบนี้ หลายคนอาจยืดอกอย่างภาคภูมิใจว่าภาคเอกชนไทยประสบความสำเร็จด้านความยั่งยืน เป็นแนวหน้าของนวัตกรรมที่ใส่ใจทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ทั่วโลกต่างให้การยอมรับ

ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจว่าความเข้าใจนั้นผิดถนัด เพราะถึงบริษัทจะอยู่ในดัชนี DJSI และได้รับการยอมรับว่าอยู่แนวหน้าของโลก แต่ก็เป็นการเปรียบเทียบกับมาตรฐานภายในอุตสาหกรรมเดียวกันเอง นั่นหมายความว่าบริษัทน้ำมันและแก๊สธรรมชาติก็ยังขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเผาเพื่อปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ บริษัทแอลกอฮอล์ชื่อดังก็ยังจำหน่ายเครื่องดื่มมึนเมา บริษัทวัสดุก่อสร้างยังระเบิดภูเขาหิน และบริษัทคมนาคมก็ยังคิดค่าบริการแบบแพงหูฉี่ แต่มีข้อแตกต่างคือระดับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลที่มากกว่าบริษัทอื่น ‘โดยเปรียบเทียบ’

การที่บริษัทได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี DJSI หรือกระทั่งได้รับคำสรรเสริญว่าเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมจึงควรตระหนักเสมอว่าบริษัทยั่งยืน ‘เชิงสัมพัทธ์’ เท่านั้น ในขณะที่ DJSI ไม่ได้วัดความยั่งยืน ‘เชิงสัมบูรณ์’ แต่อย่างใด ความก้าวหน้าในแต่ละอุตสาหกรรมจึงมากน้อยแตกต่างกันออกไป

การตีความการเป็นสมาชิกดัชนี DJSI จึงต้องใช้ความระมัดระวัง ก่อนที่เราจะกระโดดดีใจจนตัวลอยว่าภาคเอกชนไทยอยู่แนวหน้าด้านความยั่งยืน ผู้เขียนขอชวนมาทำความเข้าใจกระบวนการคัดเลือกบริษัทเข้าสู่ดัชนี DJSI รวมถึงหลายกรณีศึกษาที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสงสัยต่อความน่าเชื่อถือของดัชนีดังกล่าว

DJSI คัดเลือก ‘บริษัทยั่งยืน’ อย่างไร?

            หลายคนอาจไม่ทราบว่าการคัดเลือกบริษัทเข้ามาสู่ดัชนี DJSI นั้น ใช้ข้อมูลแทบทั้งหมดจากแบบสอบถามเฉพาะรายอุตสาหกรรมที่บริษัทจะต้องเป็นผู้ตอบคำถามโดยที่บริษัทอิสระทำการสอบทานความถูกต้องของข้อมูล ประกอบกับข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะของบริษัท ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับกระแนะกระแหนว่าบริษัทใน DJSI อาจไม่ใช่บริษัทที่ยั่งยืนที่สุด แต่ต้องเป็นบริษัทที่ตอบแบบสอบถามเก่งที่สุด

ประเด็นนี้คือประเด็นที่หลายคนตั้งคำถามถึงความเที่ยงตรงของดัชนี เพราะข้อมูลอ้างอิงแทบทั้งหมดที่มาจากการตอบแบบสอบถามของบริษัทย่อมมีแนวโน้มที่จะตอบโดยอคติเข้าข้างตนเอง อีกทั้งการสอบทานโดนผู้ตรวจสอบอิสระหรือข้อมูลสาธารณะก็อาจไม่เพียงพอโดยผู้เขียนจะอภิปรายในหัวข้อถัดไป

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้แบบสอบถามเพื่อประเมินบริษัทหลายพันแห่งถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่วิธีดังกล่าวก็ต้องแลกได้แลกเสียกับรายละเอียดจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญหายระหว่างทาง การคัดเลือกบริษัทเข้าสู่ดัชนี DJSIจะอิงจากแบบสอบถาม 3 ด้านประกอบด้วยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม คิดแปลงผลตอบแบบสอบถามเป็นคะแนนแล้วนำมาถ่วงน้ำหนักโดยแต่ละอุตสาหกรรมจะถ่วงน้ำหนักแต่ละด้านไม่เท่ากัน วิธีดังกล่าวอำนวยความสะดวกในการแปลงเป็นค่าดัชนี แต่นั่นหมายความว่าความโดดเด่นในบ้างด้านจะกลบลบจุดอ่อนที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่จะให้คะแนนด้านเศรษฐกิจ 33 เปอร์เซ็นต์ สิ่งแวดล้อม 33 เปอร์เซ็นต์ และสังคม 34 เปอร์เซ็นต์ หากพิจารณารายละเอียดปลีกย่อย เราจะเห็นจุดอ่อนของการแปลงทุกอย่างเป็นตัวเลขคะแนน เช่น คะแนนความหลากหลายทางชีวภาพจะคิดเป็นเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่กลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ การดำเนินงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 9 เปอร์เซ็นต์และความเสี่ยงเกี่ยวกับน้ำ 7 เปอร์เซ็นต์ บริษัทจึงสามารถมองข้ามความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งมีสัดส่วนคะแนนที่ต่ำแล้วให้ความสำคัญกับด้านอื่นแทน หากทำตามกลยุทธ์นี้ บริษัทอาจได้ชื่อว่าเป็นผู้นำด้านสิ่งแวดล้อมโดยแทบให้ความสำคัญกับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ

ช่องว่างระหว่างการกระทำและคำพูด

            แม้บริษัทจะตอบแบบสอบถามของ DJSI ดีแค่ไหน หรือมีกลยุทธ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมบนกระดาษเลิศลอยเพียงใด แต่ปัญหาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันของบริษัทคือทุกอย่างที่มีอยู่บนกระดาษอาจไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ความสวยหรูจึงอยู่แค่ในรายงาน แต่การประกอบธุรกิจก็ไม่ได้ดีเด่นกว่าบริษัทคู่แข่งแต่อย่างใด หรือบางกรณีอาจเลวร้ายกว่าด้วยซ้ำ

เหตุการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้ DJSI ถูกตั้งคำถามด้านความน่าเชื่อถือ คือกรณีอื้อฉาวของโฟล์กสวาเกน (Volkswagen) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมรถยนต์เมื่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่โฟล์กสวาเกนถูกหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ ออกมาตีแผ่ว่ารถยนต์หลายรุ่นที่วางจำหน่ายโดยกล่าวอ้างว่าปล่อยมลพิษน้อยแสนน้อย แท้จริงแล้วปล่อยมลพิษมากกว่าค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนดราว 10-40 เท่า แต่บริษัทติดตั้งซอฟต์แวร์หลอกองค์กรกำกับดูแลในขณะที่ทดสอบการปล่อยมลภาวะ

โฟล์กสวาเกนไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ใน DJSI รายเดียวที่เผชิญกับกรณีอื้อฉาว เพราะมีอีกหลายครั้งที่บริษัทซึ่งได้รับการคัดสรรว่าอยู่แนวหน้าด้านความยั่งยืนก็ ‘โป๊ะแตก’ ตั้งแต่ ปิโตรบราส (Petrobras) บริษัทน้ำมันประจำชาติบราซิลที่ถูกสอบสวนเรื่องคอร์รัปชั่นและฉ้อโกงตั้งแต่ พ.ศ. 2557 รวมถึงบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างโตชิบาซึ่งอยู่ในดัชนี DJSI อย่างยาวนานก็เผชิญกับข่าวฉาวเรื่องการตกแต่งบัญชีโดยซุกผลขาดทุนกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐไว้ใต้พรม และล่าสุดคือกรณีของโกลเด้น อกริ-รีซอร์ซ (Golden Agri-Resources) สมาชิก DJSI ที่เหล่าองค์กรพัฒนาภาคเอกชนมองว่าดำเนินการตรงข้ามกับคำว่ายั่งยืน ทั้งการสนับสนุนให้ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อแปลงเป็นพื้นที่การเกษตร ละเมิดสิทธิมนุษยชน และช่วงชิงที่ดิน โดยทั้งหมดถูกถอดออกจาก DJSI ในเวลาต่อมาไม่นานนัก

หลายคนอาจมองว่าผู้เขียนหยิบแต่ตัวอย่างแย่ๆ มาโดยมีอคติต่อดัชนี DJSI ในขณะที่งดเว้นการกล่าวถึงอีกหลายร้อยบริษัทที่ไม่เผชิญกับกรณีอื้อฉาว ผู้เขียนขอหยิบยกงานวิจัยที่ครอบคลุมบริษัทสัญชาติอเมริกันที่อยู่ในดัชนี DJSI ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งสรุปว่า บริษัทในกลุ่ม DJSI จะมีชื่อเสียงด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆ แต่มีประสิทธิผลด้านสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่กว่า โดยการได้เข้าเป็นสมาชิก DJSI หรือไม่นั่น ขึ้นอยู่กับการตอบแบบสอบถามของบริษัทมากกว่าการดำเนินธุรกิจจริงๆ

DJSI กับความยั่งยืน

อ่านถึงตรงนี้ บางคนอาจมีคำถามในใจว่าดัชนีความยั่งยืนอย่าง DJSI ไม่มีคุณค่าในการผลักดันบริษัทให้เข้าใกล้ความยั่งยืนเลยหรือ?

คำตอบคือมีครับ แต่เราต้องตีความการเข้าเป็นสมาชิก DJSI ของบริษัทอย่างระมัดระวัง เพราะ DJSI ไม่ได้เป็นเครื่องมือเพื่อตอบคำถามว่าบริษัทยั่งยืนมาหรือน้อยเพียงใด แต่เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้บริษัทเดินไปบนเส้นทางสู่ความยั่งยืน รวมถึงเป็นแหล่งข้อมูลความรู้สำหรับบริษัทที่ไม่เคยสนใจเรื่องความยั่งยืนมาก่อน และไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร

เราควรระลึกไว้เสมอว่าเส้นทางสู่ความยั่งยืนเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน แน่นอนว่าการได้เป็นสมาชิก DJSI นับเป็นความสำเร็จระยะสั้นที่เราควรยินดี แต่ตัวชี้วัดหลายประการของ DJSI อิงจากเอกสารแสดงถึงกลยุทธ์และความมุ่งมั่นของบริษัทที่ยาวนานนับทศวรรษ

หากจะตอบคำถามว่าบริษัท ‘ยั่งยืน’ แค่ไหน การได้เป็นสมาชิก DJSI อาจยังไม่ตอบโจทย์ โดยเราคงต้องหวังพึ่งเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าความตั้งใจในปัจจุบันจะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ในอนาคต รวมถึงตัวชี้วัดใหม่ๆ ที่วัด ‘เชิงสัมบูรณ์’ เพื่อให้เห็นภาพชัดว่าบริษัทได้เข้าใกล้ความยั่งยืนเพียงใด

เอกสารประกอบการเขียน

EthicsWatch: DJSI – credible sustainability measurement?

แน่ใจว่า “ยั่งยืน”? Volkswagen กับข้อจำกัดของ Dow Jones Sustainability Indices