จากหน้าจอมืดสนิท ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นภาพเด็กชายกำลังลุกขึ้นมาจากเตียง
เขาอาบน้ำสระผมด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มซึ่งผลิตจากการถางและเผาป่าในอินโดนีเซีย ก้าวออกมาจากห้องน้ำเพื่อสวมเสื้อผ้าที่ผลิตด้วยแรงงานบังคับในประเทศบังคลาเทศ มีฝ้ายที่ปลูกโดยใช้สารเคมีเข้มข้นเป็นวัตถุดิบ
กล้องแพนตามเด็กชายที่กำลังเดินลงบันได เขานั่งลงข้างโต๊ะอาหารเช้า แล้วค่อยๆ หั่นไส้กรอกซึ่งทำจากเนื้อไก่ที่เลี้ยงโดยข้าวโพดที่เปลี่ยนจังหวัดน่านเป็นเขาหัวโล้น กัดแซนด์วิชไส้ทูน่าที่จับโดยแรงงานทาสบนเรือประมง และทิ้งซองพลาสติกบรรจุอาหารที่อาจใช้เวลาอีกหลายร้อยปีในการย่อยสลาย
เด็กน้อยเตรียมตัวพร้อมจะนั่งรถไปโรงเรียน – จอภาพมืดลง ขึ้นเป็นตัวอักษรว่าอนาคตที่ยั่งยืน เริ่มได้ที่ตัวคุณ
โฆษณาด้านบนนี้ไม่มีอยู่จริง แต่ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นโครงการรณรงค์ในลักษณะดังกล่าวมาไม่มากก็น้อย ที่เชื่อมโยงสินค้าอุปโภคบริโภคที่เราใช้ในชีวิตประจำวันกับผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทาน
ราวทศวรรษที่ผ่านมา ผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในห่วงโซ่อุปทานได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้บริโภคที่สร้างแรงกดดันให้บรรษัทใส่ใจและเปิดเผยข้อมูลในห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งการตีแผ่โดยสำนักข่าวใหญ่ เช่น The Guardian ที่เจาะลึกการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงไทยเมื่อ พ.ศ. 2557
ตัวอย่างโฆษณาชิ้นสำคัญของ Greenpeace ที่เชื่อมโยงบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเนสท์เล่ กับการทำลายป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของลิงอุรังอุตัง ในฐานะผู้รับซื้อน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในขนมหลายชนิด หลังจากการรณรงค์ดังกล่าว เนสท์เล่ก็ประกาศหยุดรับซื้อน้ำมันปาล์มที่มีที่มาจากการทำลายป่า (คลิกที่ภาพเพื่อชมวีดีโอ)
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสะท้อนมาในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ข้อ 12 ที่ระบุว่าการผลิตอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องเดินหน้าไปควบคู่กับการบริโภคอย่างยั่งยืน นั่นหมายความว่าภาระที่ครั้งหนึ่งตกอยู่บนบ่าของผู้ผลิตเพียงลำพัง ได้ถูกแบ่งสรรปันส่วนมาให้ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วม หรือการบังคับใช้กฎหมายฉบับใหม่ เช่น Modern Slavery Act 2015 ในประเทศอังกฤษ หรือการพิจารณากฎหมาย Business Supply Chain Transparency on Trafficking and Slavery Act of 2015 ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีใจความคล้ายคลึงกันคือให้บรรษัทขนาดใหญ่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานต่อสาธารณะ
ในฐานะผู้บริโภค คงเป็นเรื่องยากที่จะรับรู้ปัญหาในห่วงโซ่อุปทานอันยาวเหยียดของบริษัทข้างชาติขนาดยักษ์ (ซึ่งบางครั้งตัวบริษัทเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำ!) เช่นเด็กชายในโฆษณาคงไม่สงสัยว่า เสื้อผ้าที่เขาสวมใส่หรืออาหารบนจานมีที่มาอย่างไร
คงไม่น่าสนุกนัก หากขณะช้อปปิ้งสิ้นค้าในโมเดิร์นเทรดทุกชิ้น เราๆ ท่านๆ จำเป็นต้องค้นข้อมูลผ่าน Google เพื่อหาว่าสินค้าดังกล่าวมีข่าวผลกระทบเชิงลบหรือไม่ หรือการจะซื้อผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง เราต้องไปไล่อ่านรายงานความยั่งยืนหรือรายงานประจำปี เพื่อชั่งน้ำหนักว่าบริษัทผู้ผลิตมีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด
แทนที่ผู้บริโภคซึ่งใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมจะต้องลงทุนลงแรงมากมายตามย่อหน้าข้างต้น ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรไม่แสวงหากำไรก็สร้าง ‘ทางออก’ ที่เปรียบเสมือนข้อมูลยืนยันกับผู้บริโภคว่าสินค้าที่กำลังเลือกซื้ออยู่นั้น ‘มีความรับผิดชอบ’
ทางออกที่ว่าย่นย่อข้อมูลข่าวสารมาในรูปแบบตราสัญลักษณ์บนสินค้าหรือที่รู้จักกันในชื่อ Ecolabel
Ecolabel คืออะไร
Ecolabel หรือฉลากนิเวศ คือตราสัญลักษณ์ที่ใช้รับรองโดยสมัครใจว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านข้อกำหนดหรือชุดตัวชี้วัดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจรับรองโดยภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไร หรืออาจเกิดจากความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วน องค์การสากลว่าด้วยการกำหนดมาตรฐาน (International Standardization and Organization – ISO) ได้แบ่งประเภทกว้างๆ ของฉลากด้านสิ่งแวดล้อมแบบสมัครใจเป็น 3 ประเภทคือ
- ประเภทที่ 1 เป็นฉลากที่มอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติตรงตามชุดกฎเกณฑ์ที่กำหนดโดยองค์กรอิสระที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมแบบตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle)
- ประเภทที่ 2 เป็นฉลากที่ผู้ผลิตระบุถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง (Self-declared Environmental Claims) เช่น เป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์ หรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ฉลากในลักษณะนี้ไม่มีองค์กรกำกับดูแล
- ประเภทที่ 3 เป็นฉลากที่ระบุข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่สามารถวัดเชิงปริมาณได้ ซึ่งกำหนดชุดดัชนีชี้วัดโดยองค์กรอิสระที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีกระบวนการรับรองโดยองค์กรอิสระอีกองค์กรหนึ่ง
ในบทความนี้จะเน้นถึง Ecolabel ประเภทที่ 1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภคมากที่สุด ในขณะที่ Ecolabel ประเภทที่ 2 มักถูกโจมตีว่าขาดความน่าเชื่อถือและโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ส่วนประเภทที่ 3 มักมีรายละเอียดทางเทคนิคค่อนข้างมากจึงเหมาะกับตลาดระหว่างธุรกิจหรือองค์กรขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี Ecolabel ที่ใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันอาจไปไม่ถึงขั้นการตั้งชุดกฎเกณฑ์แบบตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ แต่จะเน้นการสร้างชุดกฎเกณฑ์เพื่อประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ในบางช่วงชีวิต เช่น การผลิต การจัดจำหน่าย การบริโภค หรือการกำจัด
โฆษณา Follow the Frog ของ Rainforest Alliance บอกเล่าเรื่องราวของ Ecolabel ได้อย่างน่าสนใจ ว่าผู้บริโภคที่ใส่ใจผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอาจไม่ต้องเดินทางไปสุดขอบโลกเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว แต่เลือกซื้อสินค้าที่ได้รับการรับรองว่าไม่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม กล่าวคือได้รับการรับรองจากฉลากนิเวศนั่นเอง
อ่านถึงตรงนี้ หลายคนคงยังนึกไม่ออกว่าหน้าตาและกลไกของ Ecolabel นั้นเป็นอย่างไร ผู้เขียนขอยกตัวอย่างง่ายๆ ด้วยสินค้าที่หลายคนคงคุ้นเคยกันดี คือผักที่ผลิตแบบอินทรีย์
พิเชษฐ์ เป็นชนชั้นกลางอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เขาต้องการเลือกซื้อเฉพาะผักที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ หลังจากได้เห็นข่าวว่าคนไทยส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคที่ไม่ติดต่อ (noncommunicable diseases: NCDs ) เช่น โรคหัวใจ หรือมะเร็ง เนื่องจากได้รับสารเคมีที่ปนเปื้อนในผักผลไม้ เขาขับรถไปโมเดิร์นเทรดใกล้บ้านพลางนึกสงสัยในใจว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าผักแบรนด์ไหนที่ผลิตแบบออร์แกนิคจริงๆ เพราะสำหรับผู้บริโภคในเมือง เราแทบไม่รู้ว่าผักแต่ละประเภทถูกส่งมาจากที่ไหน ไม่ต้องพูดถึงการไปตามสัมภาษณ์เกษตรกรที่อยู่ต้นทางการผลิตว่าใช้สารเคมีหรือไม่
หลังจากจอดรถเสร็จ พิเชษฐ์เก็บความสงสัยไว้ในใจก่อนก้าวเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต เขามองเห็นผักคะน้าในล็อคแรกที่เขียนยืนยันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคแบบที่พอจะเดาได้ว่าผู้ผลิตประกาศยืนยันด้วยตัวเอง เขามองด้วยท่าทางสงสัยก่อนไปสะดุดตากับผักคะน้าอีกแบรนด์หนึ่งที่ติดตราสัญลักษณ์ Organic Thailand เขาหยิบโทรศัพท์มือถือมาค้นในอินเตอร์เน็ตและพบว่า ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวคือตราสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่รับรองโดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอนที่เขากำลังจะคว้าผักตรงหน้าใส่ตะกร้า สายตาของพิเชษฐ์ก็กวาดไปเห็นผักคะน้าข้างๆ ที่ติดตรา IFOAM และ USDA แถมใกล้ๆ กันก็มีสัญลักษณ์ดาวเรียงเป็นใบไม้สีเขียว และ CANADA ORGANIC อีก ด้วยความที่เลือกไม่ถูก สุดท้ายพิเชษฐ์ก็ตัดสินใจซื้อโดยพิจารณาจากราคา
ตัวอย่าง Ecolabel ที่รับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีการใช้อย่างแพร่หลายและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในวงกว้าง
สถานการณ์ที่พิเชษฐ์ต้องเผชิญน่าจะไม่แตกต่างจากใครอีกหลายคนที่ต้องการลดรอยเท้าที่เกิดจากการบริโภคของตนเอง แต่เมื่อไปเลือกซื้อสินค้าตามโมเดิร์นเทรดกลับพบว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต่อให้ Ecolabel จะรับรองในประเด็นเดียวกันเช่นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ก็มีเงื่อนไขในการรับรองแตกต่างกันตามระดับความเข้มงวดของผู้ให้การรับรอง เรียกได้ว่าต่อให้ข้อมูลจะได้รับการย่นย่อให้พอรู้ว่าผลิตภัณฑ์มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่หากต้องการทราบในรายละเอียด ผู้บริโภคเองก็ต้องใช้ความพยายามไม่น้อย
หลายคนอาจสงสัยว่า Ecolabel มีจำนวนมากขนาดไหน เว็บไซต์ Ecolabel Index ได้สำรวจและรวบรวมรายละเอียดเบื้องต้นของ Ecolabel กว่า 465 ฉลากจาก 199 ประเทศที่รับรองใน 25 อุตสาหกรรม ตั้งแต่ตรา 100% Green Electricity ที่รับรองว่าใช้พลังงานสะอาด ตรา B Corporation ที่รับรองว่าธุรกิจส่งผลกระทบทางบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตรา BONSUCRO ที่รับรองว่าเป็นน้ำตาลที่ผลิตอย่างยั่งยืน รวมถึงฉลากเขียวในไทยที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
การเพิ่มขึ้นของ Ecolabel ใช่ว่าจะเป็นเรื่องดีเสมอไป เนื่องจากฉลากที่ขาดความชัดเจนอาจสร้างความสับสนต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ การนำฉลากมาเปรียบเทียบกันยังทำได้ค่อนข้างยาก เพราะปัจจุบัน ฉลากนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญตามกฎเกณฑ์ที่ระบุไว้ไม่เพียงพอ ความสับสนอีกประการคือผู้รับรองมีความน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหน เพราะการติดตรา Ecolabel นั้นเปรียบเสมือนบริการให้ความเชื่อมั่น (assurance services) หากผู้ให้การรับรองสูญเสียความน่าเชื่อถือ ก็เป็นอันว่าฉลากที่ติดอยู่บนสินค้าไม่ได้ยืนยันอะไรเลย
ถ้าผู้ให้การรับรองไม่สามารถก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ได้ สุดท้ายผู้บริโภคก็จะใช้เกณฑ์ราคาในการตัดสินใจซื้อ เหมือนพิเชษฐ์ในตัวอย่างข้างต้น
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า ถ้าการรับรองต้องอาศัยระบบตรวจสอบยุ่งยากมากมาย นั่นก็หมายความว่าราคาสินค้าที่ได้รับการรับรองต้องสูงกว่าสินค้าทั่วไปหรือเปล่า คำตอบในมุมมองของผู้เขียนคือใช่ในระยะสั้น แต่ไม่ใช่ในระยะยาว
ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ เพราะผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับการรับรองดังกล่าวอาจใช้เทคโนโลยีหรือวัสดุที่ดีกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไปทำให้ราคาสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ แต่ผู้บริโภคหลายคนคงเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฉลากรับรอง เพราะพิจารณาแล้วว่าหากใช้ไปในระยะยาว ค่าไฟฟ้าที่ลดลงจะคุ้มค่ากับส่วนเพิ่มที่ต้องจ่าย ณ เวลาที่ซื้อสินค้า
ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อาจแปรมูลค่าเป็นตัวเงินได้ค่อนข้างยาก เช่น การรับประทานผักและผลไม้อินทรีย์เป็นประจำที่อาจทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่ไม่ติดต่อลดลง หรือหากมองในภาพกว้างกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่เราอุปโภคบริโภคแทบทุกชนิดต่างทิ้งรอยเท้าไว้ตามที่ต่างๆ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้นำมารวมไว้ในผลิตภัณฑ์ หรือเรียกว่าผลกระทบภายนอก (externalities) ผลกระทบดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งสุดท้ายก็ต้องใช้เงินภาษีในการแก้ไขปัญหา หรือในกรณีที่แย่ที่สุด ผลกระทบดังกล่าวก็จะย้อนกลับมายังผู้บริโภคเอง เช่น ปัญหาหมอกควันจากการเผาป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน หมอกควันจากการเผาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หรืออุทกภัยเนื่องจากป่าไม้ถูกแปรสภาพกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม
หมอกควันที่เกิดจากการเผาซังข้าวโพดซึ่งยังหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ในปัจจุบัน
หากมองสนามการแข่งขันทางธุรกิจเสมือนการเลือกตั้ง ผู้บริโภคนับว่ามีบทบาทสำคัญในการ ‘โหวต’ โดยใช้เงินในกระเป๋าเป็นคะแนนเสียงว่าบริษัทใดสมควรที่จะอยู่รอด Ecolabel ก็เปรียบเสมือนตรารับรองว่าผู้สมัครคนใดใส่ใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่สุดท้าย ต่อให้บริษัทดังกล่าวจะใส่ใจผลกระทบของการดำเนินธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากเพียงใด ก็ไม่อาจอยู่รอดได้หากขาดการสนับสนุนจากผู้บริโภค กล่าวคือการผลิตที่ยั่งยืนนั้นไม่อาจเกิดขึ้นได้หากผู้บริโภคยังเลือกซื้อสินค้าโดยขาดความใส่ใจ
Ecolabel ที่น่าสนใจ
ฉลากนิเวศในไทยเท่าที่ผู้เขียนสังเกตเห็นส่วนใหญ่คือฉลากรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ แต่ตรารับรองดังกล่าวเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของ Ecolabel ทั่วโลกที่ครอบคลุมหลายอุตสาหกรรม คงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้เขียนจะสามารถบอกเล่ารายละเอียดทุกฉลากได้อย่างครบถ้วน จึงขอหยิบยกตัวอย่างที่น่าสนใจมาบอกเล่า ส่วนใครที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมก็เข้าไปเยี่ยมชมได้ในเว็บไซต์ Ecolabel Index
Rainforest Alliance Certified™
ตราสัญลักษณ์กบสีเขียวนี้ริเริ่มโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร Rainforest Alliance ซึ่งสินค้าที่ได้รับตราสัญลักษณ์ดังกล่าวจะต้องใช้วัตถุดิบจากฟาร์มหรือป่าพาณิชย์ที่บริหารจัดการภายใต้เงื่อนไขที่ออกแบบเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่า ปกป้องดินและทางน้ำ รวมทั้งแรงงาน ครอบครัว และชุมชนโดยรอบ ปัจจุบัน การรับรองดังกล่าวได้ครอบคลุมถึงบริการการท่องเที่ยวอีกด้วยโดยมีบุคคลที่สามเป็นผู้ให้การรับรอง
ตราสัญลักษณ์รูปปลาสีฟ้าอยู่ภายใต้การดูแลของ Marine Stewardship Council องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Unilever และองค์กรสิ่งแวดล้อมข้ามชาติ WWF ซึ่ง Marine Stewardship Council มีเป้าหมายเพื่อกำหนดมาตรฐานการประมงอย่างยั่งยืน ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ได้รับการรับรองจะต้องผ่านเกณฑ์ดังกล่าวที่ครอบคลุมทั้งประเด็นเรื่องปริมาณปลา ผลกระทบต่อระบบนิเวศ และการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การรับรอง Fairtrade เกิดจากความร่วมมือระหว่างเครือข่ายเกษตรกรและแรงงานและองค์กรสนับสนุนการค้าที่เป็นธรรม 25 องค์กรทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความยากจนด้วยการค้าที่เป็นธรรม (Fairtrade) สินค้าที่ได้รับการรับรอง Fairtrade คือสินค้าที่รับซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตในราคาที่เป็นธรรม กล่าวคือมากกว่าราคาขั้นต่ำที่เป็นธรรม และมีการจ่ายค่าพรีเมียมเพื่อใช้เป็นเงินกองทุนสำหรับพัฒนาชุมชน พร้อมทั้งผ่านเกณฑ์ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
LEED Green Building Rating Systems
LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design มีเป้าหมายเพื่อรับรองอาคารสีเขียวหรืออาคารที่ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึงวัสดุที่ใช้ก่อสร้าง ระบบไฟฟ้าและน้ำ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมภายในอาคารที่เหมาะสำหรับผู้ใช้งานหรือผู้อยู่อาศัย LEED เป็นมาตรฐานที่รับรองอาคารทุกรูปแบบตั้งแต่ที่อยู่อาศัยไปจนถึงตึกสำนักงานขนาดใหญ่ โดยการรับรองจะมีหลายระดับขึ้นอยู่กับคะแนนที่ได้
Natrue เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่เน้นสนับสนุนและรับรองผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติและจากเกษตรอินทรีย์ โดยมีเงื่อนไขค่อนข้างเข้มงวดคือห้ามใช้ส่วนผสมสังเคราะห์ นอกจากนี้ Natrue ยังมีอีกเงื่อนไขที่น่าสนใจคือบริษัทที่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ของตัวเองได้รับตราของ Natrue จะต้องมีผลิตภัณฑ์อย่างน้อยร้อยละ 75 ของแบรนด์ที่เข้าร่วมระบบรับรองเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคสับสนรวมทั้งไม่ให้บริษัทที่ต้องการฟอกเขียว (green washing) มาเข้าร่วม
เอกสารประกอบการเขียน
INTRODUCTION TO ECOLABELLING โดย GLOBAL ECOLABELLING NETWORK
An Overview of Ecolabels and Sustainability Certifications in the Global Marketplace
Questioning and evolving the eco-label โดย Patrin Watanatada