bcorp

สิ่งที่ทรงพลัง (และบางคนมองว่าเลวร้าย) ที่สุดในยุคทุนนิยม คงจะหนีไม่พ้นองค์กรธุรกิจ ที่นับวันจะยิ่งเห็นชัดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่องค์กรผู้คุมกฎอย่างรัฐบาลกลับไม่สามารถจัดการได้อยู่มือ การใช้กลยุทธ์ ‘หนามยอกต้องเอาหนามบ่ง’ โดยนำธุรกิจมาปรับเปลี่ยนหน้าตาให้เป็น ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ จึงน่าจะเป็นทางเลือกและทางรอดของโลกในอนาคต

การทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ต้องตอบโจทย์ด้านกำไรในฐานะ ’ธุรกิจ’ และตอบโจทย์ด้านพันธกิจเพื่อสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมหรือสิ่งแวดล้อม นับว่าไม่ง่าย แต่สิ่งที่ยากกว่าคือจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคยอมรับเชื่อถือว่าสิ่งที่บริษัททำหรือโฆษณาต่อสาธารณชนนั้นคือความจริง ไม่ใช่แค่สร้างภาพ!

b3

 โครงสร้างการทำงานของ B Lab

            กระบวนการ ‘สร้างความเชื่อมั่น’ จึงถูกก่อตั้งขึ้นในนามองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร B lab ผู้ทำหน้าที่ในการออกใบรับรอง ‘Beneficial Corporation Certifications’ หรือที่เรียกสั้นๆว่า ‘Certified B Corporation’ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 และปัจจุบัน มี 1,128 บริษัท จาก 35 ประเทศที่ผ่านกระบวนการรับรองว่าเป็น ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ ตามมาตรฐานการประเมินของ B Lab ซึ่งคล้ายกับกระบวนการรับรองกาแฟที่ซื้อขายอย่างเป็นธรรม หรืออาคารประหยัดพลังงาน

หลายคนอาจสงสัยว่า เจ้ามาตรฐานการประเมินดังกล่าวมีหน้าตาเป็นอย่างไร ผู้เขียนขอแนะนำให้ลองเข้าไปในเว็บไซต์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจที่อยากได้รับสัญลักษณ์ B มาประดับบริษัท โดยแบบสอบถามจะสร้างขึ้นจากลักษณะธุรกิจ ประเทศที่ตั้ง ประกอบกับขนาดธุรกิจที่วัดจากจำนวนลูกจ้างในบริษัท

เมื่อใส่ข้อมูลพื้นฐานเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่แบบสอบถามออนไลน์ที่จำเป็นต้องใช้เวลากรอกราว 1 – 3 ชั่วโมง โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 4 ส่วนหลักคือ ด้านธรรมาภิบาล (Governance) ที่จะครอบคลุมเรื่องความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) ที่จะมองเรื่องผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัท รอยเท้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ การใช้พลังงาน และการขนส่ง ด้านแรงงาน (Workers) ที่จะครอบคลุมสวัสดิการ การมีส่วนร่วมในการบริหาร และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ส่วนด้านสุดท้ายคือชุมชน (Community) ที่จะประเมินว่าบริษัทส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างไร เช่นการจ้างงานผู้ด้อยโอกาส การใช้วัตถุดิบที่ซื้อมาอย่างเป็นธรรม

หลังจากตอบแบบสอบถามเสร็จ บริษัทที่เข้ารับการประเมินก็ทราบว่าได้คะแนนเท่าไรจากคะแนนเต็ม 200 โดยหากต้องการได้รับการรับรองว่าเป็นบริษัท B ก็จะต้องมีคะแนนเกิน 80 คะแนนขึ้นไป ซึ่งคะแนนเฉลี่ยของบริษัทที่เข้ารับการประเมินจะอยู่ที่ราว 50

แน่นอนว่ากระบวนการคงไม่จบอยู่แค่นั้น เพราะพนักงาน B Lab จะพูดคุยกับบริษัทในบางประเด็นที่อาจตอบคำถามอย่างคลุมเครือ รวมทั้งต้องส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อยืนยันข้อมูลที่ตอบไปในการประเมิน

เมื่อผ่านขั้นตอนที่หนึ่งเรียบร้อยแล้ว ก่อนจะได้รับรองว่าเป็น B Corporation บริษัทต้องแสดง ‘ความตั้งใจ’ ผ่านกระบวนทางกฎหมาย แก้ไขจุดประสงค์ของบริษัทโดยทั่วไปที่มุ่งสร้างกำไรสูงสุดให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  เพิ่มเติมให้เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยมีข้อผูกพันว่าจะคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อม และนำผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาประกอบการตัดสินใจเชิงธุรกิจ

b2

 หนึ่งในแคมเปญโฆษณาที่เชิญชวนให้ผู้บริโภค ‘มอง’ สินค้าให้ลึกกว่าเปลือกนอก โดยคิดถึงคุณภาพของบริษัทประกอบการตัดสินใจ

           ส่วนขั้นตอนสุดท้ายคือการลงนามใน ‘คำประกาศอิสรภาพ’ อย่างเป็นทางการ จ่ายค่าธรรมเนียมที่อิงตามยอดขาย หลังจากนั้นชื่อของบริษัทก็จะได้เข้าไปอยู่บนเว็ปไซต์ B corporation เพื่อประกาศว่าบริษัทเป็นหนึ่งในผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง ลูกค้าและนักลงทุนจึงอุ่นใจได้ว่า พวกเขาจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งมอบผลประโยชน์ให้กับสังคม มากกว่าเป็นผู้ถือหุ้นเพียงอย่างเดียว หากให้การสนับสนุนบริษัทนั้นๆ

จากกระบวนการที่ค่อนข้างยุ่งยาก และต้องปรับเปลี่ยนวิธีปฏิบัติทางธุรกิจ ทั้งการสั่งซื้อ สวัสดิการแรงงาน และการจ้างงาน เพื่อให้ได้ตามมาตรฐาน หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมบริษัทกว่า 1,000 แห่ง จึงยอมที่จะเปลี่ยนตัวเองเพื่อเป็น B corporation

คำตอบง่ายๆ คือพวกเขาอยากกลายเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม มากกว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา อีกทั้ง B corporation ยังสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการราคาประหยัดสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม เช่นได้รับการติดตั้งซอฟท์แวร์ Enterprise Resource Planning (ERP) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือได้รับส่วนลดจากบริการจ่ายผ่านบัตรเครดิต อีกทั้งยังดึงดูดนักลงทุนเพื่อสังคม (Impact Investors) ที่สนใจในการสนับสนุนเหล่าธุรกิจที่มองไกล อีกทั้ง B corporation จะได้รับการโฆษณาผ่านแคมเปญโฆษณาเฉพาะสำหรับ B corporation ซึ่งมีการจัดทำอย่างต่อเนื่อง เช่น B The Change

B1

 จำนวนรัฐในสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านกฎหมายธุรกิจเพื่อสังคม และรัฐที่กำลังอยู่ในระหว่างการผลักดัน

            นอกจาก B corporation จะเป็นไอเดียที่ทำให้หลายคนมองเห็นโอกาสใหม่และทางเลือกในการทำธุรกิจ กระแสดังกล่าวยังทำให้เกิดการตื่นตัวของภาครัฐในสหรัฐอเมริกา ที่มีการออกกฎหมาย “บริษัทเพื่อสังคม” หรือ Benefit Corporation ใน 27 รัฐ ซึ่งมี B Lab และเหล่า  B corporation เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการผลักดัน

แม้ว่า Benefit Corporation จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษจากภาครัฐ แต่ก็เป็นการยืนยันถึงเจตนารมย์ของบริษัทที่แตกต่างจาก ‘บริษัทกระแสหลัก’ อีกทั้งยังช่วยปกป้องเหล่าผู้บริหารให้สามารถตัดสินใจโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมในทุกสถานการณ์ เช่นหากเกิดสภาวะวิกฤติ บริษัทที่แม้จะมีพันธกิจในการทำเพื่อสังคม ก็อาจตัดสินใจเปลี่ยนจุดยืนกระทันหันเพื่อความอยู่รอด ซึ่งจะแตกต่างจาก Benefit Corporation ที่มีข้อผูกพันในทางกฎหมาย

อย่างไรก็ดี บริษัทที่ได้รับ ‘Certified B Corporation’ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น Benefit Corporation เนื่องจาก B Corporation ไม่ใช่สถานะทางกฎหมาย แต่เป็นการรับรองของภาคเอกชนคือ B Lab

เส้นทางของ ‘บริษัทเพื่อสังคม’ ยังจะดูอีกยาวไกล แต่นี่ก็คือคลื่นลูกใหม่ที่ไปไกลกว่ารุ่นพี่เพราะการรับรองว่าเป็น B corporation จะมองภาพรวมในฐานะบริษัทหนึ่งบริษัท ซึ่งมากกว่าการรับรอง ‘สินค้าที่ดี’ ที่จะมองแค่มุมของผลิตภัณฑ์ว่า ไม่ใช้สารเคมี ใช้วัตถุดิบเป็นธรรม หรือไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงนับว่าเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามอง และในอนาคต นี่อาจเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่จะมาแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก็ได้

ภาพจาก B Corporation