ที่มา: https://www.thairath.co.th/content/500350

พบกันอีกครั้งกับบทความในชุด ป.ปลาหายไปไหน หลังจากที่ผู้เขียนไม่ได้เขียนบทความลงเว็บไซต์ของบริษัท ป่าสาละ มากว่าสองปี เนื่องจากติดภารกิจไปศึกษาต่อด้านความยั่งยืน ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กลับมาครั้งนี้ผู้เขียนตั้งใจที่จะมาอัพเดทสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมปลาป่น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เอาไว้ ว่ามีเหตุการณ์ที่สำคัญและน่าสนใจอะไรบ้างในช่วงระยะสอง-สามปีที่ผ่านมา นอกจากนี้จะนำประสบการณ์การลงพื้นที่ทำวิจัยและผลการวิจัยในหัวข้อ “การศึกษาปัจจัยที่ทำให้โรงงานปลาป่นในประเทศไทยรับมาตรฐาน IFFO RS” ซึ่งเป็นหัวข้องานวิจัยของผู้เขียนขณะที่เรียนอยู่ที่ญี่ปุ่น  มาเล่าสู่กันฟัง

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่บริษัทป่าสาละเริ่มลงพื้นที่ทำวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานปลาป่นในจังหวัดสงขลา คณะผู้วิจัยได้พบความจริงอันน่าตกใจว่า ท้องทะเลไทยโดนทำร้ายจากอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมปลาป่นเป็นอย่างมาก ทั้งจากการใช้อวนที่มีตาอวนขนาดเล็กจนเกินไป การทำประมงโดยใช้เครื่องมือที่หลายๆ คนมองว่าเป็นเครื่องมือที่ ”ทำลายล้าง” อย่างอวนลาก อวนรุน หรือการจับปลาโดยใช้แสงไฟล่อในตอนกลางคืน ทำให้มีลูกปลาและปลาวัยอ่อนติดขึ้นมา ซึ่งส่งผลต่อการขยายพันธุ์ และทำให้จำนวนปลาลดลงได้ นอกจากนี้ ณ ขนะนั้นยังมีเรือประมงที่ผิดกฏหมาย โดยเฉพาะเรืออวนลากเถื่อนอยู่เป็นจำนวนมาก และอุตสาหกรรมปลาป่นไทยก็ตกเป็นจำเลยสังคมในฐานะที่เป็นผู้รับซื้อปลาจากเรืออวนลากเหล่านี้ โดยเฉพาะปลาเป็ดปลาไก่ ซึ่งเป็นปลาที่มีคุณภาพต่ำที่ผู้บริโภคไม่สามารถบริโภคได้ เนื่องจากเน่าเสียหรือสภาพไม่สมบูรณ์ หรือบางครั้งอาจจะเป็นปลาที่มีขนาดเล็กและคนไม่นิยมบริโภค ปลาเหล่านี้จะถูกขายให้กับโรงงานปลาป่น อย่างไรก็ดี ความไม่ยั่งยืนที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมประมงไทยยังไม่เป็นที่รับรู้กันมากนักในหมู่ประชาชนทั่วไป

จนกระทั่งช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้ออกรายงานประจำปีเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report – TIP Report) และได้ลดอันดับประเทศไทยจากที่เคยอยู่ระดับที่สอง คือต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Tier 2 Watch List) เป็นเวลาสี่ปี ลงไปอยู่ในระดับที่สาม (Tier 3)  คือเป็นประเทศที่นอกจากจะไม่ดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายสหรัฐฯแล้ว ยังไม่มีความพยายามแก้ไขอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ “อาจ” พิจารณาระงับการให้ความช่วยเหลือที่มิใช่ความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและการค้า รวมไปถึงงบประมาณสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรม และ “อาจ” คัดค้านความช่วยเหลือที่รัฐบาลประเทศไทยอาจได้รับจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม มาตรการระงับความช่วยเหลือดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติทันที (ปัจจุบันประเทศไทยกลับมาอยู่ที่ Tier 2 Watch List)

ถึงกระนั้นการปรับลดระดับประเทศไทยลงไปอยู่ระดับสามก็ทำให้หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องวิตกกังวลถึงผลกระทบที่จะตามมา สื่อต่างๆ เริ่มให้ความสนใจ ปัญหาในอุตสาหกรรมประมงจึงเริ่มเป็นที่รับรู้ของประชาชนทั่วไป ประกอบกับก่อนที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯจะลดระดับประเทศไทยเพียงสิบวัน (วันที่ 14 มิถุนายน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งเป็นผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลกและเป็นผู้รับซื้อปลาป่นรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ณ ขณะนั้น ได้กลายเป็นข่าวใหญ่บนเว็บไซต์ของสำนักข่าวออนไลน์ The Guardian ว่า ซีพีเอฟได้รับซื้อปลาป่นจากโรงงานที่ใช้ปลาซึ่งจับโดยเรือประมงที่มีการใช้แรงงานทาส มาผลิตอาหารกุ้ง แล้วส่งขายให้แก่ประเทศสหรัฐฯ หลังจากที่ข่าวนี้ถูกเปิดเผยออกไปไม่นาน ห้างค้าปลีกรายใหญ่ของโลกอย่างคาร์ฟูได้ประกาศหยุดซื้อกุ้งจากซีพีเอฟ จนกว่าจะมีการแก้ไข เหตุการณ์นี้ส่งผลให้บริษัทซีพีเอฟ ซึ่งเคยซื้อปลาป่นร้อยละ 40-50 ของปริมาณที่ผลิตได้ในประเทศ ประกาศหยุดรับซื้อปลาป่นจากคู่ค้าภายในประเทศ คู่ค้าของบริษัทซีพีเอฟจึงต้องหาทางระบายสินค้าของตน โดยส่วนหนึ่งหันมาพึ่งพิงตลาดส่งออกอย่างประเทศจีนมากขึ้น แต่สองเดือนผ่านไป บริษัทซีพีเอฟก็กลับมารับซื้อปลาป่นในประเทศอีกครั้ง โดยเสนอราคารับซื้อสูงมากคือ กิโลกรัมละ 42.50 บาทสำหรับปลาป่นเกรดกุ้ง (ซึ่งเป็นเกรดที่มีคุณภาพดีที่สุด คือมีเปอร์เซ็นต์ของโปรตีนสูงที่สุด) จากที่เคยรับซื้ออยู่เพียงแค่กิโลกรัมละ 31.50 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าจะรับซื้อแต่ปลาป่นที่มีเอกสารรับรองที่มา เช่น MCPD-FM (ซึ่งมีกรมประมงเป็นผู้ตรวจเช็คความถูกต้องของเอกสาร) และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ส่งผลให้ตลาดปลาป่นถูกแบ่งเป็นสองตลาด คือ ตลาดที่ขายให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ที่ต้องการเอกสารรับรองแหล่งที่มา อย่างซีพีเอฟ กับตลาดที่ขายให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รายย่อยและผู้ค้าส่งที่ส่งออกปลาป่นไปต่างประเทศ (โบรกเกอร์) ที่ไม่ต้องการเอกสารรับรองแหล่งที่มา

อย่างไรก็ตามในปีถัดมา (พ.ศ. 2558) เรื่องแรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงได้เป็นข่าวในหน้าเว็บไซต์ของสำนักข่าวออนไลน์ The Guardian อีกครั้ง หลังจากที่บริษัทซีพีเอฟและบริษัทคอสโก้ (CostCo) ซึ่งเป็นผู้นำเข้ากุ้งจากซีพีเอฟไปขายในประเทศสหรัฐฯ ถูกผู้บริโภคชาวสหรัฐฯฟ้องในข้อหานำกุ้งที่เลี้ยงโดยปลาป่นที่ใช้แรงงานทาสมาขายให้แก่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ โดยไม่มีการติดฉลากบอก แต่ในภายหลัง (พ.ศ. 2560) ศาลได้ยกฟ้องคดีนี้ เพราะจากหลักฐานบันทึกการซื้อขายสินค้าภายในของจำเลยไม่พบว่าโจทก์ซื้อกุ้งที่ผลิตจากประเทศไทย ดังนั้นโจทก์จึงไม่ได้เป็นผู้เสียหายในคดีนี้

ทว่าฝันร้ายของอุตสาหกรรมประมงและปลาป่นไทยก็ยังไม่สิ้นสุดลง เพราะใน พ.ศ.2558 ที่ตกเป็นข่าวเรื่องแรงงานทาส ประเทศไทยก็ได้รับใบเหลืองจากคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ อีซี (European Commission – EC) เนื่องจากอีซีตรวจพบว่า ประเทศไทยไม่ได้พยายามเฝ้าดู ควบคุม หรือคว่ำบาตรปัญหาการทำประมงผิดกฏหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม หรือที่เรียกย่อๆ ว่า ไอยูยู (Illegal Unreported and Unregulated Fishing – IUU) ซึ่งใบเหลืองนี้เป็นเหมือนการส่งสัญญานเตือนจากอีซีให้ประเทศไทยรีบปรับปรุงตัว มิฉะนั้นแล้วอีซีอาจจะให้ใบแดงได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยโดนกีดกันทางการค้า และอุตสาหกรรมประมงไทยก็จะสูญรายได้กว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ปัจจุบันประเทศไทยยังได้ใบเหลืองอยู่)

ในบทความตอนต่อไป ผู้เขียนจะมาเล่าให้ฟังว่าหลังจากได้รับใบเหลืองเกิดผลกระทบหรือสร้างความปั่นป่วนให้แก่ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น อุตสาหกรรมปลาป่นอย่างไรบ้าง