(ที่มา: http://www.eco-business.com/news/sgbc-launches-sustainable-lighting-green-certification-initiatives/)
รู้จักอาคารสีเขียวไหมครับ? อาคารสีเขียวเป็นแนวคิดที่แพร่หลายและได้รับการพัฒนาอย่างมากในทวีปยุโรปและอเมริกา แต่เพิ่งจะเริ่มแพร่หลายในประเทศไทย ผู้เขียนจึงขอนำเสนอเกี่ยวกับแนวคิดนี้เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้ว่าอาคารสีเขียวคืออะไร? มีความสำคัญอย่างไรต่อสังคมและสิ่งเเวดล้อมของเรา?
อาคารสีเขียวคืออะไร?
อาคารสีเขียว (Green building) คือ อาคารที่สร้างขึ้นโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมตลอดวัฏจักรชีวิต (life cycle) ของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการเลือกพื้นที่ทำเล การออกแบบ การก่อสร้าง การดำเนินการ การดูแล การซ่อมแซมปรับปรุง รวมไปถึงการทำลายตัวอาคารด้วย เพราะเป้าหมายหลักของเเนวคิดนี้คือการลดผลกระทบจากอาคารก่อสร้าง หรือ สิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างต่างๆ (built environment) ที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้คน (human health) และสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ (natural environment) ฉะนั้นอาคารสีเขียวจึงมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้:
- ประสิทธิภาพของการใช้น้ำ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ
- ปกป้องสุขภาพและส่งเสริมความสามารถในการทำงานของผู้คนในอาคาร
- ลดปัญหาขยะ มลพิษ และการทำลายสิ่งแวดล้อม
ทำไมอาคารต้องเป็น ‘สีเขียว’?
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและความรู้เป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมการก่อสร้างอาคารและสถาปัตยกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ยิ่งเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความเจริญมากเท่าใด จำนวนสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างของมนุษย์ก็มีมากขึ้นเท่านั้น ข้อมูลของ United Nations ระบุว่า ในปี 2011 โลกมีประชากร 7 พันล้านคน โดย 3.6 พันล้านคนเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในเมือง ซึ่งมีสัดส่วนสอดคล้องกับเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ที่พัฒนาไปเป็นสังคมเมือง (urbanization) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก โดยในช่วงปี 2010-2015 อัตราการขยายตัวของความเป็นเมืองโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.97 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า ในอนาคตจำนวนอาคารก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นตึกสูง ตึกแถว และบ้านเรือนจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ (จากที่มากอยู่แล้ว) ผลกระทบจากอาคารต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมก็จะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น
โดยผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างเหล่านี้สามารถแบ่งได้เป็น 7 ด้านดังนี้
- ด้านทรัพยากรพลังงาน เนื่องจากตึกหรืออาคารส่วนใหญ่มีการเผาผลาญทรัพยากรพลังงานไปกับสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ การระบายอากาศ การสูบน้ำ หลอดไฟทั้งในและนอกอาคาร ลิฟต์ และอื่นๆ
- ด้านทรัพยากรน้ำ ในที่นี้หมายถึงปริมาณน้ำที่ถูกใช้ทั้งในการบริโภค ทำความสะอาด รดน้ำต้นไม้ในสวนรอบๆ บริเวณพื้นที่อาคาร
- ด้านสภาพอากาศในพื้นที่และชั้นบรรยากาศ ตึกอาคารต่างๆ มีส่วนในการเพิ่มอุณหภูมิของพื้นที่รอบข้าง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า urban heat island นอกจากนี้การใช้ทรัพยากรพลังงานเกือบตลอดทั้งวันยังส่งผลให้อาคารปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศในปริมาณมาก
- ด้านการใช้พื้นที่ หากก่อสร้างอาคารบนพื้นที่สีเขียวก็จะต้องมีการตัดไม้ทำลายป่า หรือรุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติ นอกจากนี้การก่อสร้างยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้างได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ขยะมลพิษจากกระบวนการก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงมลพิษทางเสียง นอกจากนี้แสงไฟจากตึก อาคารเอง ก็ยังรบกวนชุมชนรอบข้างในตอนกลางคืน
- ด้านสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร หลายคนอาจมองว่ามลพิษข้างนอกบ้านนั้นอันตราย โดยไม่รู้ว่ามลพิษภายในอาคารก็อันตรายเหมือนกัน มลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดอันนึงคือ ก๊าซเรดอน ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีอยู่ทั่วไป ทุกหนแห่ง ไม่มีรส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ ของมนุษย์ ก๊าซเรดอนเป็นสารก่อให้เกิด โรคมะเร็งปอดในมนุษย์ สามารถพบได้ทั่วไปในดินหินตามธรรมชาติ เมื่อมนุษย์นำดิน หิน หรือทราย ที่มีแร่เรเดียมเจือปนมาก่อสร้างอาคาร วัสดุเหล่านั้นก็จะปล่อยก๊าซเรดอนออกมาตามปริมาณเรเดียมที่ปะปนอยู่ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญคือ แร่ใยหิน (asbestos) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่มักพบในวัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องแผ่นเรียบ ฝ้าเพดาน หากไม่มีการระบายอากาศที่ดี แร่ใยหินก็จะเป็นอันตรายต่อปอดของมนุษย์ได้ถ้าสูดดมเข้าไป ทำให้เป็นโรคมะเร็งปอดหรือโรคปอดอักเสบ นอกจากนี้กิจกรรมของมนุษย์เองก็สร้างมลพิษได้เหมือนกัน เช่น บุหรี่ ยาฆ่าแมลง สเปรย์ต่างๆ เป็นต้น
- ด้านวัตถุดิบก่อสร้างและขยะ ยิ่งมีการก่อสร้างมากขึ้น วัตถุดิบธรรมชาติที่นำมาแปรรูปเพื่อใช้ก่อสร้าง ซ่อมแซม และบำรุงก็ต้องถูกเผาผลาญมากขึ้น แร่หิน น้ำ น้ำมัน พลังงานต่างๆ ที่ต้องใช้ในการก่อสร้าง ก็จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับขยะจากขั้นตอนเหล่านั้น
จะเห็นได้ว่าผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างของมนุษย์เป็นสิ่งที่เราไม่อาจมองข้ามไปได้ แนวคิดอาคารสีเขียวจึงมีความสำคัญมากขึ้นในการแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้
(ข้อมูลแสดงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มาจากอาคารทั่วโลก ที่มา: http://www.woodsolutions.com.au/dotAsset/7430828c-2597-4c75-8142-bb14b8548d70.jpg)
มาตรฐานในการประเมินอาคารสีเขียว
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาคารใดมีคุณสมบัติดีพอที่จะเรียกได้ว่ามีความ ‘เขียว’? มีอะไรเป็นตัววัด?
ปัจจุบันมาตรฐานที่ว่าด้วยเรื่องของอาคารสีเขียวมีมากกว่าหนึ่งมาตรฐาน ตามแต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมของชาตินั้นๆ จะเป็นคนกำหนด โดยมาตรฐานที่ได้รับการยอบรับอย่างแพร่หลายและถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานอ้างอิงในการพัฒนามาตรฐานรุ่นใหม่คือ มาตรฐานอาคารสีเขียวของสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (US Green Building Council) หรือที่เรียกกันว่า มาตรฐานแบบประเมินอาคาร LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) อีกมาตรฐานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับแพร่หลายเช่นกันก็คือ มาตรฐานของประเทศอังกฤษที่เรียกว่า BREEAM (Building Research Establishment’s Environmental Assessment Method) สำหรับบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจะขอลงรายละเอียดของมาตรฐาน LEED ซึ่งมีการใช้งานมานานและมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในประเทศไทย
(รูปซ้าย, ที่มา: http://www.englertinc.com/images/stories/leed.jpg )
(รูปขวา, ที่มา: http://ffr-ski.ru/upload/images/0090/08939.jpg)
การประเมินของ LEED มีความละเอียดและหลากหลาย โดยมีการแบ่งรูปแบบมาตรฐานการประเมินตามแต่ละด้านหรือส่วนของอาคาร เช่น ด้านการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร (building design and construction) ด้านการออกแบบและการก่อสร้างภายใน (interior design and construction) ด้านการบริหารจัดการอาคารเดิม (building operations and maintenance) ด้านการพัฒนาวางผังชุมชน (neighborhood development) ด้านอาคารบ้านและอาคารพักอาศัยรวม (homes) เป็นต้น โดยในแต่ละด้านยังแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ อีกด้วย เพื่อให้สามารถประเมินลักษณะเฉพาะของอาคารแต่ละประเภทได้อย่างละเอียด ยกตัวอย่างเช่น ด้านการออกแบบและการก่อสร้างอาคาร จะแบ่งออกเป็นการสร้างอาคารใหม่ หรือการปรับปรุงใหญ่ ด้านการพัฒนาระบบภายในอาคาร ด้านโรงเรียน ด้านอาคารธุรกิจปลีก ด้านโกดังสินค้า ด้านสถานบริการ ด้านอาคารศูนย์ข้อมูล และด้านโรงพยาบาล
ส่วนการประเมินจะมีเนื้อหาเหมือนกัน คือ แบ่งออกเป็น 7 หมวดหลัก
- สถานที่ตั้งโครงการเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Site)
- การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Efficiency)
- พลังงานและบรรยากาศ (Energy and Atmosphere)
- วัสดุและทรัพยากร (Material and Resources)
- คุณภาพสภาพแวดล้อมในอาคาร (Indoor Environmental Quality)
- นวัตกรรมในการออกแบบ(Innovation in Design)
- ความสำคัญเร่งด่วนของภูมิภาค (Regional priority)
(หมายเหตุ: ข้อมูลจากมาตรฐานฉบับ ค.ศ. 2009)
(ที่มา:http://www.southface.org/green-building-services/programs/about-leed-for-homes)
นอกจากนี้ LEED ยังมีการแบ่งเกณฑ์ระดับการรับรองมาตรฐาน((level of certification เป็นหลายระดับด้วยกันตามกลุ่มคะแนน ดังนี้
(ที่มา: http://sumacinc.com/en/wp-content/uploads/2013/11/certifications-levels.jpg)
โดยปัจจุบันมีอาคารทั่วโลกที่ผ่านการรับรองในเกณฑ์สูงสุดเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะในประเทศแคนาดา จีน เกาหลี อินเดีย เยอรมนี สิงค์โปร์ หรือแม้กระทั่งในประเทศไทย
ตัวอย่างอาคารสีเขียว: อาคาร Adobe towers (สหรัฐอเมริกา)
(อาคาร Adobes Towers, ที่มา:http://images.businessweek.com/ss/08/08/0801_arch2030/image/slide-2.jpg)
จุดเด่นของอาคารสีเขียว Adobes Towers คือ การลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 35 เปอร์เซ็นต์ ลดการใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซธรรมชาติได้ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ลดการใช้น้ำจากพื้นที่ใกล้เคียงและน้ำจากการผันมาได้ถึง 22 เปอร์เซ็นต์ และ 76 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ นอกจากนี้ยังสามารถจัดการขยะด้วยวิธีการหมักและรีไซเคิลแทนการทับถมได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย
การลดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเกิดจากหลายวิธี เช่น การลดใช้ทรัพยากรโดยตรง การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการใช้ทรัพยากร และการปรับเปลี่ยนวิธีการในการจัดการทรัพยากรดังกล่าว เช่น การจัดการทรัพยากรขยะด้วยวิธีการหมักหรือรีไซเคิลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ เป็นต้น
อาคารสีเขียวในประเทศไทย และอาคาร เอสซีจี 100 ปี
ประเทศไทยเองก็มีอาคารหลายแห่งที่ได้การรับรองมาตรฐานระดับ Platinum แห่งแรกก็คือ อาคาร Park Venture ซึ่งได้รับรางวันในด้านการ ออกแบบและการก่อสร้างอาคาร ประเภทการจัดการระบบภายในอาคาร (core & shell) ขณะที่อาคารออฟฟิศหลัก 1, 2 และ 5 ของบริษัท เอสซีจี จำกัด ก็ได้รับรางวัลในด้านการบริหารจัดการอาคารเดิม ซึ่งเป็นรายแรกในอาเซียนที่ได้รับรางวัลด้านนี้ ส่วนศูนย์การเรียนรู้ของธนาคารกสิกรไทยก็เป็นอาคารแรกของประเทศไทย ที่ได้รับรางวัลระดับสูงสุดในด้านการออกแบบและการก่อสร้าง ประเภทอาคารก่อสร้างใหม่
เมื่อไม่นานมานี้ อาคารเอสซีจี 100 ปีก็เพิ่งได้รับการรับรองมาตรฐานระดับ Platinum จาก LEED ในด้านการออกแบบและการก่อสร้างอาคารประเภท core & shell ซึ่งบริษัทได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นเพื่อเปิดตัว “อาคารเอสซีจี อาคารสีเขียวที่เคารพต่อธรรมชาติและนอบน้อมต่อสังคม” ในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทป่าสาละเองก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานด้วย ผู้เขียนจึงขอนำข้อมูลเกี่ยวกับอาคารเอสซีจี 100 ปี มาเผยแพร่ให้ผู้อ่านเห็นภาพของอาคารสีเขียวชัดเจนมากขึ้น
(อาคาร เอสซีจี 100 ปี, ที่มา: http://www.portfolios.net/profiles/blogs/scg-100)
คุณสมบัติเด่นที่ทำให้อาคารเเห่งนี้เป็นอาคารสีเขียวมีอยู่หลายด้าน เริ่มตั้งแต่ด้านการเลือกพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในบริเวณกลุ่มอาคารสํานักงานของบริษัทที่ไม่มีธรรมชาติปกคลุมอยู่ก่อน (brownfield) จึงไม่สร้างผลกระทบต่อสภาพเเวดล้อมธรรมชาติมากเท่าพื้นที่ที่มีป่าไม้ปกคลุม (Greenfield)
บริเวณรอบๆโครงการมีพื้นที่สีเขียวอยู่มากกว่า 50% แต่ก็มีการรักษาต้นไม้เดิมไว้ ด้วยการถอนต้นไม่ไปดูแลรักษา แล้วนํามาปลูกในบริเวณพื้นที่เดิมหลังสร้างอาคารเสร็จ ขณะที่บางส่วนของดาดฟ้าก็มีการปลูกต้นไม้ (garden rooftop) เพื่อลดอุณหภูมิในบริเวณอาคารด้วย
- ด้านประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรน้ำ มีการกักเก็บน้ำฝน (rain harvesting) เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ในการดูแลภูมิทัศน์บริเวณอาคาร พร้อมทั้งมีการใช้ผลิตภัณฑ์ประหยัดน้ำภายในอาคาร (ก็อกน้ำและ สุขภัณฑ์ เป็นต้น) จึงช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 6 ล้านลิตรต่อปี
- ด้านการประหยัดพลังงาน อาคารเอสซีจี 100 ปี ใช้เทคโนโลยีกระจกสองชั้นเพื่อช่วยลดปริมาณความร้อนที่จะเข้าสูบตัวอาคาร รวมถึงมีการติดตั้งระบบเทคโนโลยีประหยัดไฟฟ้า อาทิ ระบบควบคุมแสงไฟ (daylight sensor) ระบบควบคุมอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ หลอดไฟฟ้า LED และ T5 เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สํานักงานที่ได้รับมาตรฐาน Energy star จากสหรัฐอเมริกา ทําให้สามารถลดการใช้ไฟฟ้าของอาคารได้ถึง 2,300,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ที่สำคัญอาคารเอสซีจี 100 ปียังได้ติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) ขนาด 84 กิโลวัตต์ ซึ่งช่วยผลิตไฟฟ้าได้ถึง 99,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี
- ด้านของวัสดุก่อสร้าง มีการใช้วัตถุดิบหลายชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น กระเบื้องปูพื้น Cotto Eco Rockrete ที่มีส่วนผสมจากวัสดุรีไซเคิลร้อยละ 60 ส่วนวัสดุที่เป็นไม้ก็ใช้ไม้จากป่าปลูกที่ได้รับการรองรับจาก Forest Steward Council (FSC) ถึงกว่าร้อยละ 50
- ด้านการเดินทางและการขนส่ง มีการใช้วัสดุท้องถิ่นในการก่อสร้างอาคาร เพื่อลดมลพิษจากการขนส่งวัสดุ นอกจากนี้ยังมีการจัดการประชุมด้วยระบบ Video conference ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อลดมลพิษที่มาจากการเดินทาง
- ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายใน มีการติดตั้งระบบกรองฝุ่นและระบบควมคุมปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อัตโนมัติ อากาศบริสุทธิ์จากภายนอกอาคารจึงถ่ายเทเข้ามาในตัวอาคารได้มากขึ้น และเลือกใช้พรมที่ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี
ถึงเเม้ว่าแนวคิดอาคารสีเขียวจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นในประเทศไทย แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันผลักดัน เพราะภาคธุรกิจยังมองไม่เห็นประโยชน์ทางธุรกิจจากการสร้างอาคารสีเขียว ขณะที่ภาคประชาชนและภาครัฐก็ยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบของอาคารที่มีต่อสภาพแวดล้อมและผู้คนในสังคมในระดับภาพรวม ผู้เขียนจึงหวังว่างานเขียนชิ้นนี้จะช่วยให้ทุกภาคส่วนได้รู้ถึงประโยชน์ของอาคารสีเขียว และสนับสนุนแนวคิดนี้มากขึ้น
(วิดิโอเกี่ยวกับตัวอาคาร เอสซีจี 100 ปี สามารถคลิ๊กดูได้ ที่นี่)
________________________________________________________
ข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติม
http://www.youtube.com/watch?v=7EndHvwD-do
http://www.epa.gov/greenbuilding/pubs/gbstats.pdf