วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้เป็นหนึ่งในวิทยากรของงาน TEDxThammasatU 2017 โดยหัวข้อที่คุณสฤณีหยิบมาบอกเล่า คือเรื่องราวที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ 4 ปีที่คลุกคลีกับประเด็นความยั่งยืนของภาคธุรกิจ และพบว่าการแก้ไขมิติใดมิติหนึ่งเพียงลำพัง ยากที่จะตอบโจทย์ความยั่งยืน

            สำหรับใครที่พลาดไม่ได้ไปร่วมงานดังกล่าวสามารถชมคลิปวีดีโอย้อนหลังได้ทางด้านล่าง หรือหากท่านใดถนัดรับสารผ่านการอ่าน ป่าสาละก็ได้นำเรื่องราวที่คุณสฤณีบอกเล่ามาเรียบเรียงไว้ในบทความนี้เช่นกัน

แก่นสารของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย สฤณี อาชวานันทกุล

            คิดว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับภาพภูเขาหัวโล้นของประเทศไทยกันบ้างนะคะ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับป่าต้นน้ำทางภาคเหนือของประเทศเรา ซึ่งภาคเหนือมีพื้นที่ป่าต้นน้ำราว 46 เปอร์เซ็นต์ของป่าต้นน้ำทั้งประเทศ ที่เราเคยท่องกันสมัยเด็กๆ ว่านี่คือต้นกำเนิดของแม่น้ำสายหลักของไทย คือ ปิง วัง ยม และน่าน

            กรมอุทยานแห่งชาติระบุว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ป่าต้นน้ำถูกบุกรุกทำลายไป 8.6 ล้านไร่ โดยมีผู้บุกรุกทั้งสิ้น 800,000 คน หมายเหตุไว้ก่อนนะคะว่านี่คือมุมมองของภาครัฐในเรื่องการบุกรุกทำลาย รวมทั้งคำว่าผู้บุกรุก

            เมื่อป่าต้นน้ำไม่มี แน่นอนว่าปัญหาทั้งหลายก็จะตามมา ตั้งแต่พื้นดินที่จะดูดซับน้ำมีน้อยลง การกัดเซาะพังทลายเพิ่มขึ้น 10 เท่าจากอัตราปกติ ปัญหาน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มในฤดูฝน เมื่อถึงฤดูแล้งน้ำก็จะขาดแคลน สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่เรายอมให้ป่าต้นน้ำหายไปเรื่อยๆ

            อีกด้านหนึ่ง ข้อมูลการสำรวจของธนาคารโลกเมื่อ พ.ศ. 2557 ชี้ว่า ประเทศไทยมีคนที่อยู่ใต้เส้นความยากจน 7.1 ล้านคน หมายถึงประชาชนที่มีรายได้ไม่ถึง 2,700 บาทต่อเดือน หรือวันละไม่ถึง 100 บาท และมีประชากรอีก 6.7 ล้านคนที่ธนาคารโลกจัดให้อยู่ในประเภทเกือบจน คือมีรายได้เฉลี่ย 3,300 บาทหรือประมาณวันละ 100 บาทเศษ สูงกว่ากลุ่มแรกนิดหน่อย

            หากเราเอาตัวเลขสองตัวนี้มาบวกกันจะได้ประชากร 13.8 ล้านคน หรือคนไทยราว 1 ใน 5 ที่เป็นคนจนหรือเกือบจน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เผชิญกับความท้าทาย 3 อันดับแรกคือ การเข้าไม่ถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การที่ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และมีแนวโน้มว่าจะโดนผลกระทบที่ร้ายแรงกว่าคนอื่น หากเกิดเหตุการณ์วิกฤติ

            ความท้าทายเรื่องผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าคนจนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นเกษตรกร ในขณะเดียวกัน ธนาคาร Credit Suisse ก็ได้ทำการสำรวจความมั่งคั่งของคนทั่วโลก และเปรียบเทียบว่าคนที่รวยที่สุด 1% ของแต่ละประเทศ มีความมั่งคั่งคิดเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ผลการสำรวจพบว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก โดยเศรษฐีที่รวยที่สุด 1% ครอบครองทรัพย์สินทั้งหมด 58% ของประเทศ เป็นรองแค่ประเทศรัสเซีย อินเดีย และนำหน้าประเทศจีน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา

            หากถามว่าถ้าป่าต้นน้ำหายไปเรื่อยๆ ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้นเรื่อยๆ ระยะยาวจะนำไปสู่อะไร ?

            ถ้าป่าต้นน้ำหายไป คนที่อยู่ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำจะต้องเดือดร้อน ถ้าเราปล่อยให้ความเหลื่อมล้ำลุกลาม คนจนก็จะหมดหวัง เพราะเขาจะคิดว่าไม่สามารถถีบตัวเองขึ้นมาจากความยากจนได้ รวมทั้งลูกหลานของเขาเองก็ไม่มีทางหลุดพ้นจากความยากจน

            ประวัติศาสตร์โลกสอนเราว่า ไม่มีสังคมไหนที่คนรวยจะอยู่สุขสบายไปได้ตลอด หากคนจนและชนชั้นกลางยังรู้สึกถึงความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรม

            หลายคนคงได้ยินวาทะโด่งดังระดับโลกของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” แต่ส่วนตัวชอบอีกวาทะหนึ่งของไอน์สไตน์มากกว่า คือ “เราไม่มีวันที่จะแก้ปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ด้วยวิธีคิดเดียวกับวิธีที่เราใช้ตอนที่สร้างปัญหาขึ้นมา” กล่าวคือ ถ้าเราคิดจะแก้ปัญหา เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด

            ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวคิดการทำงานพัฒนา 3 เรื่องคือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” สังเกตนะคะว่าคำว่าเข้าใจมาก่อนคำว่าเข้าถึงและพัฒนา ย้อนกลับมาที่ปัญหาป่าต้นน้ำและปัญหาความเหลื่อมล้ำ เราจะเปลี่ยนวิธีคิดยังไง วิธีคิดแบบไหนที่เราไม่ควรใช้แล้ว และเราควรเข้าใจอะไรบ้าง

            เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ได้มีโอกาสก่อตั้งบริษัทวิจัยเล็กๆ ชื่อว่า ‘ป่าสาละ’ เราตั้งใจจะเป็นบริษัทที่ปลูกธุรกิจที่ยั่งยืน ผ่านการทำงานวิจัยและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ เราเริ่มต้นที่ประเด็นความไม่ยั่งยืน ประเด็นที่ยังเป็นปัญหา และพยายามหาทางออก

            งานวิจัยชิ้นแรกของป่าสาละคือการทำแผนที่ห่วงโซ่อุปทานข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใน จ.น่าน เราศึกษาใน 4 ตำบล โดยมีโจทย์ว่า เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ไหน มีความเป็นมาอย่างไร และเกิดผลกระทบอะไรบ้าง โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากองค์การพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

            ตอนทำวิจัยชิ้นนี้ เราคาดหวังว่าหน่วยงานอย่างกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้น่าจะมีข้อมูล แต่ปรากฏว่าไม่มี เราเลยขอความร่วมมือจากสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่ย้อนหลัง โดยพิจารณาจากภาพถ่ายดาวเทียม 2 ช่วงเวลา คือระหว่าง พ.ศ. 2545 2550 และ 2556 ซึ่งสรุปได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 61 เคยเป็นป่ามาก่อน นี่คือตัวเลขที่สร้างความกระจ่างว่ามันเกิดอะไรขึ้น

แผนที่การปลูกข้าวโพด จังหวัดน่าน (ภาพดาวเทียมจาก GISTDA)

            นอกจากปัญหาป่าต้นน้ำ เราก็พบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่อีกหลายปัญหา เช่น ปัญหาหมอกควันเนื่องจากเกษตรกรต้องเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก เหตุผลหนึ่งก็เพราะลงทุนแค่ไม้ขีดก้านเดียว แต่อีกเหตุผลคือลักษณะพื้นที่เพาะปลูกที่ค่อนข้างชัน จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่รถไถจะขึ้นไปได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการใช้สารเคมีเกินขนาด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า หากใช้เกินขนาดอาจเกิดผลต่อตัวผู้ใช้ทันที คือ แสบตา แสบมือ ปวดหัว หรือหายใจติดขัด ถ้าใช้อย่างต่อเนื่อง ก็อาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคผิวหนังเรื้อรัง

            ประเด็นการใช้สารเคมีเกินขนาดถือว่าเป็นปัญหาระดับชาติ จากการสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2557 ระบุว่า เกษตรกรร้อยละ 34 มีสารเคมีทางการเกษตรสะสมในร่างกายในระดับที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาเหล่านี้ยังไม่รวมถึงสารเคมีอาจจะซึมเข้าสู่แหล่งน้ำ และปนเปื้อนมาสู่มนุษย์ผ่านการอุปโภคบริโภค

            ถ้าถามว่าเรื่องราวเหล่านี้เกี่ยวข้องกับตัวเราอย่างไร บางคนอาจมองเห็นว่าเราเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่เรื่องข้าวโพดเกี่ยวพันกับเรามากกว่านั้น เพราะปลายทางของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คือการแปรรูปเป็นอาหารไก่ เชื่อว่าทุกคนในห้องนี้ไม่มีใครไม่กินไก่ หรือไม่เคยกินไก่ใช่ไหมคะ นี่คือจุดที่พวกเราทุกคนมีส่วนร่วม จึงนำไปสู่คำถามถัดไปว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

            บางคนอาจตอบในใจว่า ถ้าภูเขาหัวโล้นนั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ทำไมไม่ให้รัฐเข้าไปจัดการกับผู้บุกรุก ทำไมไม่ทวงคืนผืนป่ากลับคืนมา ซึ่งอาจจะทำได้ แต่คำถามต่อเนื่องคือ คนที่เคยใช้พื้นที่ตรงนั้นเพื่อการยังชีพ เขาจะทำอาชีพอะไรและจะไปอาศัยอยู่ที่ไหน และเราควรจะจัดการกับคนกลุ่มนี้เช่นเดียวกับที่เราจัดการกับรีสอร์ตที่บุกรุกพื้นที่ป่าหรือเปล่า

            บนพื้นฐานสังคมของเราที่นิยมจิตอาสา หลายคนอาจคิดว่าเราลองระดมพลังไปปลูกป่าก็น่าจะแก้ปัญหาได้ งานอาสาเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้ลองมองย้อนกลับไปที่แผนที่เมื่อสักครู่ จะเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่พื้นที่รกร้างว่างเปล่า แต่เป็นพื้นที่ทำกิน ซึ่งสุดท้ายปัญหาที่เกิดขึ้นก็คงไม่ต่างกัน

            เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องคนไปพร้อมกัน ไม่ใช่ได้แค่ต้นไม้กลับคืนมาแล้วคนเดือดร้อนจนปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น หรือการปล่อยให้ประชาชนทำกินต่อไปเพื่อบรรเทาความเหลื่อมล้ำ ป่าไม้ก็จะถูกทำลายต่อไป

            สิ่งสำคัญที่เป็นข้อค้นพบจากงานวิจัย คือเส้นทางข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ได้มีตัวละครแค่เกษตรกร เพราะเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรจะต้องขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับ ‘หัวสี’ ซึ่งเป็นพ่อค้าคนกลาง หัวสีจะรวบรวมผลผลิต แล้วขายต่อให้สหกรณ์หรือไซโล ซึ่งจะนำไปปรับปรุงคุณภาพให้ได้ราคาดี แล้วขายต่อให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ นี่คือห่วงโซ่อุปทานอย่างง่ายของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

            นอกจากนี้เราจะดูแค่เส้นทางข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คงไม่ได้ หากต้องการเห็นภาพปัญหาทั้งหมด เราจะต้องดูเส้นทางของเงินทุนด้วย เกษตรกรที่ทำไร่ข้าวโพดส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้เงินเก็บของตัวเอง แต่ใช้เงินทุนจากการกู้ยืมโดยมีแหล่งทุนหลัก 2 แหล่งคือเงินกู้ในระบบ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) แต่ถ้าเกษตรกรเครดิตไม่ดี หรือเงินกู้ที่ได้มาไม่เพียงพอ เกษตรกรก็จะต้องไปพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ ซึ่งอาจใช้วิธีซื้อเชื่อปัจจัยการผลิต คือเกษตรกรจะไปเอาปัจจัยการผลิต จากร้านค้ามาก่อนแล้วเมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จก็จะนำผลผลิตไปขายให้กับผู้ที่ให้ปัจจัยการผลิต ซึ่งร้านค้าก็จะหักค่าปัจจัยการผลิตและดอกเบี้ยออกจากราคาผลผลิต ซึ่งเกษตรกรอาจต้องเสียดอกเบี้ยถึง 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน

            ภาครัฐเองก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ เพราะรัฐเองก็มีนโยบายหลายด้าน เช่น การประกันราคา การรับจำนำ รวมถึงการเปิดเสรีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งนโยบายนี้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโพด รวมทั้งเกษตรกร

            ถ้าเราลองมาเรียงอำนาจการต่อรอง จะเห็นว่าเกษตรกรมีอำนาจการต่อรองน้อยที่สุดในห่วงโซ่อุปทาน ส่วนคนที่มีอำนาจต่อรองมากที่สุดก็คือโรงงานผลิตอาหารสัตว์ เพราะเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อ ส่วนแหล่งทุนอย่าง ธกส. ก็มีบทบาทสูงในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อ เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ชันยิ่งเผชิญกับปัญหามากกว่าการปลูกข้าวโพดบนที่ราบเนื่องจากผลผลิตต่ำและจัดการลำบาก ถ้าปีไหนที่ข้าวโพดราคาดี ก็จะมีรายได้ประมาณ 60,000 – 80,000 บาทต่อปี แต่หากปีไหนข้าวโพดราคาไม่ดี รายได้ก็จะเหลือประมาณ 30,000 บาท[1] บางรายอาจถึงขั้นติดลบ กล่าวคือเกษตรกรจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประชาชนที่เกือบจนในทันที

            ถ้าเปรียบเรื่องนี้เป็นเหมือนภาพยนตร์ ก็คงไม่มีผู้ร้ายในเรื่อง เพราะทุกคนมีส่วนร่วม และทุกคนก็สามารถมีบทบาทในการแก้ไขปัญหา อาทิ รัฐบาลอาจทำการสนับสนุนกลไกที่พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยให้คนอยู่กับป่าได้ เช่น แนวคิดเรื่องป่าชุมชน หรือโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือโครงการจอมป่า รวมถึงโครงการอย่างธนาคารต้นไม้ที่สนับสนุนให้คนอยู่กับป่า ผู้เล่นอื่น เช่น โรงงานผลิตอาหารสัตว์ก็สามารถพัฒนามาตรฐานการรับซื้ออย่างยั่งยืน ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่ออาจกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเรื่องการปล่อยกู้ แต่ที่ขาดไม่ได้คือทุกฝ่ายต้องไม่ลอยแพเกษตรกร คือต้องให้ทุน ทรัพยากร และความรู้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ได้ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน เพราะเราต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทำให้คนเดือดร้อนกว่าเดิม เพราะนั่นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในระยะยาว

            งานวิจัยของอาจารย์เขมรัฐและอาจารย์สิทธิเดชยังสำรวจเพิ่มเติมถึงทางเลือกให้เกษตรกรเลิกปลูกข้าวโพดและสามารถยังชีพได้จริง โดยแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ การปลูกพืชหมุนเวียนในที่ราบ การปลูกไม้ยืนต้นบนที่ชัน และการคืนป่าให้กับธรรมชาติ โดยต้องสร้างแรงจูงใจให้คนอยู่กับป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน

            ตัวชี้วัดง่ายๆ คือ การได้พื้นที่ป่าต้นน้ำกลับคืนมา โดยที่เกษตรกรต้องไม่เดือดร้อน นี่คือปลายทางที่เราควรจะคาดหวัง และเป็นตัวอย่างวิธีคิดวิธีใหม่ที่ไม่ละเลยมิติใดมิติหนึ่งของการพัฒนา

            หลายคนอาจจะคุ้นภาพวงกลม 3 สามวงของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องเกิดขึ้นภายใต้ฐานความสมดุลของวงกลมทั้ง 3 วงนี้ ส่วนตัวคิดว่าฟังดูดี แต่อาจเป็นนามธรรมนิดหน่อย และคิดว่าภาพที่ใกล้เคียงความเป็นจริงกว่าน่าจะเป็นอีกรูปหนึ่ง คือไม่มีส่วนใดของเศรษฐกิจที่อยู่นอกสังคม และสังคมทั้งหมดของมนุษย์ก็จะอยู่ภายในโลกธรรมชาติคือสิ่งแวดล้อม การมองแต่ละมิติให้เชื่อมโยงกัน คือหัวใจของการพัฒนาที่จำเป็นในปัจจุบัน และจะจำเป็นยิ่งขึ้นไปในอนาคต เพราะปัญหาในวันนี้ ก็มีการพัฒนาความซับซ้อนไม่ต่างกัน

            สำหรับการแก้ปัญหาของพวกเรา เรามีหมวก 2 ใบ หนึ่งคือหมวกพลเมือง เรามีสิทธิที่จะเรียกร้องให้รัฐจริงใจกับการแก้ไขปัญหามากขึ้น เรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยรับฟังเสียงของเกษตรกร เสียงของผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว ในขณะเดียวกัน เราก็มีหมวกผู้บริโภคที่จะต้องตั้งคำถามมากขึ้นว่า อาหารหรือสิ่งต่างๆ ที่ซื้อหาจากซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นมีที่มาอย่างไร และสร้างผลกระทบอะไรบ้างก่อนมาถึงมือผู้บริโภคอย่างเรา

[1] อ้างอิงจากงานวิจัย “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลไกสู่ความเหลื่อมล้ำในระดับท้องถิ่น กรณีศึกษา: ห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ.เวียงสา จ.น่าน” โดยเขมรัฐ เถลิงศรี และสิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน