Capture

เวลาพูดถึงหมู่เกาะสิมิลัน พวกเราจะนึกถึงอะไรกันบ้าง ส่วนใหญ่คงจะนึกถึงท้องทะเลสีฟ้าอมเขียว ใสเหมือนกระจก ปะการังหลากหลายชนิดสีสันสวยงาม และปลาน้อยใหญ่ที่แหวกว่ายอยู่ตามหมู่ปะการังเหล่านั้น แต่นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว การไปเยี่ยมเยือนสิมิลันของผู้เขียนครั้งนี้ ยังทำให้ได้คิดอะไรเกี่ยวกับปูเสฉวน.. สิ่งมีชีวิตแสนธรรมดาที่คนมักมองข้าม

ปูเสฉวนมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า Hermit Crab  อยู่ในวงศ์ Paguridae เป็นปูที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างปูกับกุ้ง แถมยังอาศัยอยู่ในเปลือกหอย โดยบริเวณปลายสุดของลำตัวจะมีลักษณะโค้งงอ เพื่อให้เกี่ยวกับเปลือกหอยที่มันเลือกเข้าไปอยู่ และด้วยลำตัวที่มีความอ่อนนิ่ม ปูเสฉวนจึงอยู่โดยปราศจากเปลือกไม่ได้

ปูเสฉวนเป็นหนึ่งในสมาชิกของระบบนิเวศของหมู่เกาะต่างๆ เรามักจะเห็นพวกมันตามชายหาด เขตน้ำขึ้นน้ำลง หรือแม้กระทั่งโคนต้นไม้ต่างๆ มีตั้งแต่ขนาดเล็กที่วางบนปลายนิ้วได้ จนกระทั่งขนาดใหญ่กว่ากำปั้น โดยเฉพาะปูเสฉวนที่ผู้เขียนพบบนเกาะสิมิลัน มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันบอกเราว่า ปูเสฉวนที่นี่บางตัวมีอายุถึง 5 ปี โดยเมื่อปูเสฉวนมีขนาดใหญ่ขึ้นจนไม่สามารถอยู่ในเปลือกหอยอันเดิมได้แล้ว มันก็จะหา “บ้าน” ใหม่ที่ใหญ่ขึ้น ด้วยการลองย้ายเข้าไปอยู่ จนกว่าจะพบ “บ้าน” ที่ถูกใจ

อย่างไรก็ดีจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ที่ดูแลอุทยานได้ความว่า ปูเสฉวนที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ มักประสบปัญหาขาดแคลน “บ้าน” หรือเปลือกหอยที่มีขนาดพอดีกับตัว เพราะปัจจุบันเปลือกหอยฝาเดียวที่มีขนาดใหญ่ ถูกเก็บไปขายบ้าง เก็บไปเป็นของที่ระลึกบ้าง ทำให้พวกมันต้องไปอยู่ตามขวด กระป๋อง หรือแก้วที่ถูกพัดพามาติดตามชายหาดแทน

1980255_801935869835807_4103323805331493308_o

เมื่อได้ยินดังนั้น เราจึงขอไปพิสูจน์ให้เห็นกับตาตัวเอง เจ้าหน้าที่แนะนำให้เรานำไฟฉายออกมาส่องดูตามโคนต้นไม้ หรือบริเวณน้ำขึ้นน้ำลงในเวลากลางคืน เพราะเป็นช่วงเวลาหากินของเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ พวกนี้ และเราก็ได้เห็นจริงๆ ดูเผินๆ เหมือนขยะเคลื่อนที่เองได้ แต่พอเข้าไปมองใกล้ๆ จึงพบว่าขยะเดินได้พวกนี้ แท้จริงแล้วคือเจ้าปูเสฉวนที่หาเปลือกหอยมาเป็นบ้านไม่ได้นั่นเอง นี่ยังไม่รวมบางตัวซึ่งเดินออกจากบ้านเก่าที่แสนคับแคบหรือปริแตก หมายมั่นออกมาเสี่ยงดวงหาบ้านหลังใหม่ แต่ก็หาไม่เจอ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็พบเป็นซากแห้งตายอยู่ตามที่ต่างๆ เพราะปูเสฉวนพวกนี้ ไม่สามารถอยู่โดยไม่มีเปลือกหอยได้นานๆ ส่วนบางตัวที่โชคร้ายหน่อยก็อาจโดนมดรุมกัดจนตาย ตั้งแต่ยังออกจากบ้านเก่าไปไม่ได้ไกลนัก

1908257_801936293169098_1237183458635096283_n

ปูเสฉวนตัวนี้ออกมาจากบ้านเก่าแล้ว แต่ยังหาบ้านใหม่ไม่ได้

แม้ว่าการนำเอาขยะชนิดต่างๆ มาดัดแปลงเป็นบ้านของปูเสฉวนจะช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปได้ แต่ในระยะยาวแล้ว กลับส่งผลกระทบต่อเจ้าของบ้านไม่น้อย เช่น ปูเสฉวนที่เลือกปลากระป๋องมาเป็นบ้าน เมื่ออยู่ไประยะหนึ่ง บ้านจะเริ่มขึ้นสนิม หรือคนอาจเก็บมันไปทิ้ง เพราะคิดว่าเป็นเศษขยะ นอกจากนั้นการใช้เศษขยะแทนบ้านยังทำให้ทัศนียภาพของชายหาดไม่สวยงาม ดูเหมือนมีขยะเคลื่อนที่ได้เกลื่อนกลาดอยู่ทั่วบริเวณ

1558385_801936383169089_6089100513233894877_n

ปูเสฉวนกระป๋อง

1966347_801935926502468_6851709874042861877_o

ปูเสฉวนโฟม

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จะมีทางออกอะไรที่พอจะแก้ปัญหาที่ปูเสฉวนเผชิญอยู่ได้บ้าง……

ทางออกแรกที่เจ้าหน้าที่พยายามทำก็คือการรณรงค์ไม่ให้นักท่องเที่ยวเก็บเปลือกหอยกลับบ้านไปเป็นของที่ระลึก แต่ก็ยังคงมีนักท่องเที่ยวลักลอบเก็บเปลือกหอยไปอยู่เสมอ จับได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้ามีเจ้าหน้าที่เห็น ก็จะคอยเตือนและขอเปลือกหอยกลับมาคืนที่ชายหาดเหมือนเดิม อีกทางออกหนึ่งที่พวกเราอาจจะมีส่วนร่วมได้ก็คือการบริจาคเปลือกหอยฝาเดียวที่มีอยู่ในครอบครอง โดยอาจส่งไปรษณีย์มาที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันได้โดยตรง หรือนำเอาเปลือกหอยมาบริจาคด้วยตัวเองตอนที่มาเที่ยวก็ย่อมได้

อย่างไรก็ดีในระหว่างที่ยังหาเปลือกหอยมาเป็นบ้านให้เจ้าปูเสฉวนทั้งหลายไม่ได้ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นจะต้องวางขวดซุปไก่สกัดบ้าง กระป๋องปลากระป๋องบ้าง ไว้ตามที่ต่างๆ ให้เจ้าปูเสฉวนอยู่แก้ขัดไปก่อน เจ้าหน้าที่เล่าว่าถ้าวันไหนอากาศดีๆ หน่อย จะมีปูเสฉวนหลายตัวรีบเข้ามาแย่งกันจับจองขวดนั้นภายในระยะเวลาไม่นาน

10155143_801936179835776_5651427014194310612_n

ปูเสฉวนขวดซุปไก่

10154298_10202429138748057_6422130718819279407_n

ปูเสฉวนหัวราวผ้าม่าน

ปัญหาปูเสฉวนขาดบ้านตามธรรมชาตินี้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ไม่ใช่แค่ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันเท่านั้น เจ้าหน้าที่เล่าว่าที่หมู่เกาะสุรินทร์และหมู่เกาะอื่นๆ ก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน จนน่ากลัวว่าวันหนึ่งเราอาจจะไม่ได้เห็นปูเสฉวนอีกต่อไป

ผู้เขียนคิดว่าในเมื่อเปลือกหอยที่เป็นบ้านของปูเสฉวนขาดแคลน เราน่าจะหาอะไรมาทดแทนเปลือกหอยที่หายไปได้บ้าง จึงลองสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า เราจะสามารถสร้างหรือสังเคราะห์อะไรมาให้ปูเสฉวนใช้เป็นบ้านแทนเปลือกหอยได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ตอบอย่างแข็งขันทันทีว่ามีคนเสนอไอเดียนี้มาหลายคนแล้ว ส่วนตัวคิดว่าน่าจะทำได้และไม่มีปัญหาอะไร แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงบทความหนึ่งที่ได้อ่านก่อนมาสิมิลันครั้งนี้

บทความนั้นพูดถึงนวัตกรรมสีเขียว (green innovation) ของบริษัทแดรี่โฮม ซึ่งผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมออแกนิก ที่ได้จากแม่วัวที่เลี้ยงด้วยวิธีตามธรรมชาติ ปล่อยให้แม่วัวได้มีพื้นที่ออกไปหาหญ้ากินเอง ส่วนหญ้าที่ปลูกภายในไร่นั้น ต้องไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อแม่วัวได้เดินเล่น กินหญ้าอย่างอิสระแล้ว สุขภาพจิตของแม่วัวก็จะดีตามไปด้วย เมื่อถึงเวลาที่แม่วัวคัดนม จะเดินกลับมาที่คอกเพื่อให้คนงานรีดนม ทำให้น้ำนมที่ได้มีรสชาติดี ปลอดภัย และมีคุณค่าสูงสุด โดยน้ำนมดิบที่ได้จะถูกแปรรูปไปเป็นนมยูเอชที ไอศกรีม โยเกิร์ต ฯลฯ

นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตของแดรี่โฉม เมื่อทานจนหมดแล้ว ยังสามารถนำบรรจุภัณฑ์มาใช้เป็นกระถางเพาะเมล็ดพันธุ์ได้ โดยเมื่อเมล็ดงอกออกมาเป็นต้นอ่อน ก็นำกระถางพลาสติกเล็กๆ นี้ไปปลูกในดินได้ทันที เนื่องจากบรรจุภัณฑ์นี้ผลิตมาจากพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ในดิน

maled

maled2

นวัตกรรมใส่ใจสิ่งแวดล้อมและลดการใช้ทรัพยากรของแดรี่โฮมนี้ ทำให้ผู้เขียนเกิดความคิดว่า ถ้าเราสามารถหาธุรกิจที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และมีความต้องการจะช่วยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เมื่อใช้เสร็จแล้ว สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เป็นบ้านให้กับปูเสฉวนได้อย่างเหมาะสมก็คงจะดีไม่น้อย โดยอาจต้องทำการศึกษาก่อนว่า ปูเสฉวนชอบอยู่บ้านลักษณะไหน ขนาดใดที่ขาดแคลนบ้าง หรือถ้าให้ดีกว่านั้นเราอาจะต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีสีสันคล้ายเปลือกหอยตามธรรมชาติ เป็นสินค้าที่มีจำนวนจำกัด (limited edition) เพื่อให้ลูกค้าเก็บไว้ร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทรให้กับปูเสฉวนโดยเฉพาะ นอกจากจะเป็นการช่วยหาบ้านให้ปูเสฉวนได้แล้ว ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดี กิจกรรมที่มีประโยชน์ และการมีส่วนร่วมระหว่างบริษัทและลูกค้า รวมถึงได้ปลูกจิตสำนึกให้เกิดความใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

IMG_3660

ถ้าหากไม่เริ่มลงมือทำ ต่อให้ดีหรือมีประโยชน์มากแค่ไหน ก็คงอยู่ได้แค่เพียงบนหน้าจอที่ท่านอ่านนี้เท่านั้น ดังนั้นหากผู้อ่านท่านใดอ่านบทความนี้จบ แล้วรู้สึกว่ามีอะไรที่พอจะมีส่วนร่วมช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ไม่ว่าจะทำด้วยตัวท่านคนเดียว ทำร่วมกับเพื่อนๆ หรือทำงานอยู่ในบริษัทที่อาจยื่นมือเข้ามาร่วมทำอะไรดีๆ นี้ ขอให้ติดต่อผู้เขียนได้ทันที เรายินดีช่วยเป็นสื่อกลางให้

หวังว่าการเริ่มต้นทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเขียนบทความนี้ จะช่วยก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมดีๆ ต่อไปในอนาคต ไม่มากก็น้อย