ในช่วงไม่กี่นาทีก่อนพระอาทิตย์ตก และท้องฟ้ากำลังละเลงสีชมพูบานเย็น ผู้เขียนวิ่งอยู่ในสวนสาธารณะที่ถูกรายล้อมไปด้วยอุณหภูมิที่เย็นลงหลังจากฝนที่ตกหนักมาทั้งวัน วันนี้ผู้เขียนฟัง podcasts รายการ Invisibilia ของสำนักงานข่าว NPR ในสหรัฐฯ ชื่อตอนว่า “Two Heartbeats A Minute” และ “The Last Sound” ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้พบกับเรื่องน่าสนใจที่ยิ่งใหญ่ระหว่างการวิ่งระยะทางสั้นๆ เพียง 3 กิโลเมตร
ขณะที่มนุษย์ใช้ภาษาส่งเป็นเสียงในการสื่อสาร สัตว์อื่นๆ ก็น่าจะมีภาษาบางอย่างที่ใช้ในการสื่อสารเช่นกัน ดังงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า โครงสร้างเสียงที่สัตว์ใช้สื่อสารกันนั้น มีความคล้ายคลึงกับโครงสร้างของดนตรี และมนุษย์เราสัมผัสเสียงที่มาจากโครงสร้างแบบนั้นได้จากความคุ้นเคย
นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ว่า เสียงมนุษย์ที่เกิดจากภาษา วัฒนธรรมที่ความแตกต่างกัน มีรากฐานอารยธรรมเดียวกัน
หลายทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาตร์พยายามศึกษาและทำความเข้าใจภาษาที่มนุษย์ใช้ โดยในปี ค.ศ. 2013 Tomas Mikolov และคณะ ได้เสนอวิธีการหาความสัมพันธ์ของคำศัพท์ต่าง ๆ ในภาษาอังกฤษ ผ่านการคำนวณจากวิธี unsupervised algorithm หรือ อัลกอริธึมที่ไม่มีผู้สอน การเชื่อมความสัมพันธ์ของคำศัพท์ด้วยวิธีนี้เรียกว่า “การฝังคำ” หรือ “word embedding” (Aiyar et al., 2014)
ความสามารถในการแสดงการเชื่อมโยงของคำศัพท์จากเทคนิคการฝังคำและการวิจัยบนรากฐานของเทคนิคสมัยใหม่ ขับเคลื่อนให้เกิดการวิเคราะห์ประมวลผลของภาษาธรรมชาติมากขึ้น และทำให้ประสิทธิภาพในการใช้เทคนิคการฝังรวบรวมความแตกต่างของคำได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น การนำคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มนุษย์นิยมใช้กันมากที่สุด 10,000 คำ มาวิเคราะห์โดยการฝังผ่านโปรแกรมวิเคราะห์ข้อมูล machine learning ซึ่งโปรแกรมจะเรียนรู้ความสัมพันธ์ของข้อมูลได้ด้วยตัวเองและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ได้ (big data) ผลที่ได้คือความสัมพันธ์ของคำศัพท์ทั้งหมดมีหน้าตาออกมาเป็นโครงสร้างเรขาคณิตที่มองดูแล้วคล้าย ๆ กลุ่มเมฆดวงดาวในกาแลกซี (ดังแสดงในรูปที่ 1)
คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดประการหนึ่งของการฝังคำเหล่านี้คือความสามารถในการเปรียบเทียบความหมายของคำศัพท์เชิงเรขาคณิต โดยความห่างและทิศทางที่ดวงดาวหรือคำศัพท์เรียงตัวอยู่ในแต่ละจุดในโครงสร้างเรขาคณิตนี้ ล้วนมีความหมายและมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ
การฝังคำจนพบความสัมพันธ์ของคำศัพท์ในรูปแบบโครงสร้างเรขาคณิตนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อวิเคราะห์ภาษาต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงสร้างระดับภาษาท้องถิ่นหรือภาษาในระดับสากลอย่างภาษาอังกฤษ เปรียบเหมือนการสร้างแผนที่ความสัมพันธ์ระหว่างแนวคิดต่าง ๆ จากเชื้อชาติ วัฒนธรรม และกฎเกณฑ์ทางสังคมที่แตกต่างกัน
ในปี ค.ศ. 2017 A. Conneau et al และ M. Artetxe et al ค้นพบวิธีเชื่อมโยงกลุ่มเมฆของหลากหลายภาษาเข้าด้วยกัน พวกเขาลองจัดรูปแบบของก้อนเมฆภาษาต่าง ๆ โดยการพลิกก้อนเมฆของภาษาหนึ่งเพื่อเทียบกับก้อนเมฆของอีกภาษาหนึ่ง พวกเขาพบว่า จุดคำศัพท์หรือตำแหน่งของดาวในโครงสร้างเรขาคณิตของภาษาหนึ่งจะมีความหมายตรงกับจุดคำศัพท์ในอีกโครงสร้างเรขาคณิตของอีกภาษาหนึ่ง สิ่งที่พวกเขาค้นพบมีความหมายอย่างลึกซึ้งต่อการศึกษาความสัมพันธ์ของภาษาและวัฒนธรรมของมนุษย์ที่แตกต่างกัน (Lample et al., 2018; Artetxe et al., 2018)
การพบจุดเชื่อมของคำศัพท์ที่ใช้ในภาษาต่าง ๆ ของมนุษย์ ทำให้พบความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและพื้นฐานการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมมนุษย์ จากที่มองผิวเผินว่ามนุษย์แต่ละเผ่าพันธุ์มีความแตกต่างทางภาษา วัฒนธรรม ความคิด หรือแม้กระทั้งบรรทัดฐานทางสังคม แต่ความจริงแล้วมนุษย์มีรากมาจากสิ่งเดียวกัน หรือมนุษย์มีอารยธรรมเดียวกันนั้นเอง
แล้วเสียงจากสัตว์แต่ละสายพันธุ์มีอารยธรรมของตัวเองไหม?
Roger Payne นักชีววิทยาและนักสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน ผู้ค้นพบเพลงวาฬหลังค่อม (Song of Humpback Whale) ในปี ค.ศ. 1969 – 1970 เขาได้เริ่มต้นศึกษาเสียงของวาฬหลังค่อมภายหลังจากที่ได้รับฟังเสียงวาฬที่ถูกอัดมาจากใต้ท้องเรือดำน้ำ โดย Frank Watlington นาวิกโยธินประจำห้องเครื่องยนต์ในเรือดำน้ำสหรัฐช่วงสมัยสงคราม
“ผมเริ่มฟังเสียงนี้ และพระเจ้า! มันเป็นเสียงที่พิเศษและทรงพลังที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา และจำได้ว่าใจของผมเต้นแรงเมื่อได้ฟังสิ่งนี้ ผมคิดว่า – นี่ – นี่คือวิธี ถ้าเพียงแต่คุณส่งเสียงเหล่านี้เข้าไปในหูและสมองของคนทั่วโลกได้ นั่นก็จะขโมยหัวใจของโลกไป นั่นคือสิ่งที่ผมคิด ” Payne กล่าวใน podcast รายการ Invisibilia
เขานำเสียงวาฬกลับมาศึกษา และพบว่าเสียงของวาฬมีโครงสร้างคล้ายกับโครงสร้างเสียงดนตรีของมนุษย์ โดยในเนื้อเสียงจะมีช่วงที่เป็นท่อนหลักซึ่งจะร้องซ้ำวนไปมา และมีท่อนเสริมที่ร้องเสริมท่อนหลักขึ้นมา และวาฬดูเฉพาะเจาะจงมากเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำทางดนตรีของพวกมัน หลังจากนั้น เขานำเสียงของวาฬหลังค่อมมาเรียบเรียงเป็นเพลง และผลักดันผ่านวงการดนตรีจนสามารถสร้างความตื่นตัวของสาธารณะต่อสถานการณ์การล่าวาฬที่เลวร้ายในช่วงทศวรรษที่ 70-80 ได้ การขับเคลื่อนครั้งนั้นนำมาสู่ความสำเร็จในการประกาศยุติการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ได้ในเวลาถัดมา โดย Payne คิดว่าสาเหตุที่เพลงวาฬหลังค่อมสามารถชนะใจของคนทั่วโลกได้นั้น เพราะเสียงที่เกิดขึ้นมีจังหวะ (beat) และความเร็ว (tempo) ที่มนุษย์สามารถเชื่อมโยงได้ มนุษย์จึงเข้าใจและรู้สึกถึงเสียงของสัตว์ (Payne & McVay, 1971)
Bernie Krause นักนิเวศวิทยาด้านภูมิทัศน์เสียง (soundscape ecologist) ผู้เสนอแนวคิดเรื่อง เสียงเพลงบรรเลงจากเหล่าสัตว์ (animal acoustic) Krause เริ่มต้นจากการเป็นนักดนตรีชาวอเมริกันที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในทศวรรษที่ 60-70 เขาถือเป็นผู้เชี่ยวชาญคนแรก ๆ ในการสร้างเสียงใหม่ ๆ จาก Moog synthesizer หรือ เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถสร้างโลกใหม่ของเสียง โดยสามารถสร้างโทนเสียงต่าง ๆ ได้ และสามารถนำเสียงนั้นมาดัดให้เป็นรูปร่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน Krause สร้างผลงานที่โด่งดังมากมายและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวงดนตรีชื่อดังหลายวงในสมัยนั้น
ในปี ค.ศ. 1968 เพื่อนร่วมงานของ Krause คนหนึ่งมีความคิดว่า อยากลองนำเสียงอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเองไปผสมผสานเข้ากับเสียงธรรมชาติ Krause จึงมีโอกาสเดินทางไปอัดเสียงธรรมชาติในป่า
“เมื่อผมเปิดเครื่องบันทึกเสียงและได้ยินเสียงของพื้นที่เปิดโล่งในป่าเป็นครั้งแรก มันวิเศษมาก เสียงลมที่ไหลผ่านต้นเรดวู้ด กาที่บินอยู่เหนือศีรษะ คุณสามารถได้ยินเสียงขอบปีกของพวกมันขณะที่บินอยู่เหนือศีรษะเรา จนมันค่อย ๆ บินไกลออกไป มันทำให้ผมรู้สึกว่า นี้เป็นหนึ่งในเสียงที่สวยงามที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา” Krause กล่าวในรายการ Invisibilia อีกตอนหนึ่ง
ความหลงรักเสียงธรรมชาติ ทำให้ Krause ลาออกจากวงการเพลง เพื่อมาศึกษาและทำอาชีพรับจ้างอัดเสียงธรรมชาติ
วันหนึ่งขณะ Krause อัดเสียงอยู่กลางป่าในประเทศเคนยาที่ซึ่งระบบนิเวศยังมีความสมบูรณ์อย่างมาก เขาสังเกตว่าเสียงที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มีท่วงทำนองลักษณะเดียวกันกับการประสานเสียง (orchestration) เหมือนเขากำลังฟังเสียงเพลงจากวงออเคสตรา (orchestra) และเหมือนสิ่งมีชีวิตในป่าจัดระเบียบตัวเองและเล่นเพลงไปด้วยกัน เขาตั้งคำถามขึ้นทันทีว่า เป็นไปได้ไหมที่สัตว์ต่างสายพันธุ์ที่อยู่ในระบบนิเวศเดียวกันจะพยายามปรับโทนเสียงเข้าหากัน และจริง ๆ แล้ว เสียงอึกทึกในป่าที่ได้ยินอาจจะเป็นเสียงดนตรีที่เกิดจากสัตว์พยายามทำเสียงให้กลมกลืนกันก็ได้
หลังจากที่ Krause กลับจากเคนยา เขารีบนำเสียงที่ได้ยินเข้าเครื่อง spectrogram ซึ่งเป็นเครื่องแปลงเสียงให้เป็นรูปภาพเพื่อวิเคราะห์โครงสร้างเสียง และพบว่าโครงสร้างเสียงของธรรมชาติที่อัดออกมานั้นมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับเสียงดนตรีที่มนุษย์สร้างขึ้น Krause และเพื่อนร่วมงานที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ชื่อ Stuart Gage ได้ร่วมกันพัฒนาและศึกษาจนพบว่า สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศเดียวกันจะพยายามหาระดับความถี่ของช่องเสียงตัวเอง ที่ไม่ทับซ้อนกับสัตว์สายพันธุ์อื่น ซึ่งจะทำให้การส่งเสียงนี้มีความชัดเจนแก่เพื่อนในสายพันธุ์เดียวกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการบดบังเสียงที่ส่งออกไป เหมือนกับการจัดระเบียบเสียงของเครื่องดนตรีในวงออเคสตรา
ถึงแม้ในปัจจุบันเรายังไม่สามารถแปลความหมายของคำพูดสัตว์ต่างๆ ได้ แต่เรารู้ว่าเสียงของสัตว์เหล่านี้อาจมีภาษาหรืออารยธรรมเฉพาะเผ่าพันธุ์ซ่อนอยู่ ไม่แน่ว่าการเกิดขึ้นของเพลงและดนตรีที่มนุษย์สร้างขึ้นอยู่ทุกวันนี้ อาจมีรากมาจากการวิวัฒนาการของมนุษย์ร่วมกับสัตว์หลายสายพันธุ์ในป่าใหญ่ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมเวลาเข้าป่าหรือนอนท่ามกลางธรรมชาติ ร่างกายมนุษย์จึงคลายความตึงเครียด เหมือนตอนที่เราได้ฟังดนตรีคลาสิกที่บรรเลงจากวงออเคสตราต่างๆ เพราะรากอารยธรรมของเราผูกโยงกับการมีชีวิตอยู่ของสัตว์ในธรรมชาตินั้นเอง มนุษย์อาจรู้สึกถึงธรรมชาติโดยการสัมผัสผ่านเสียงเพลงของพวกมัน
เสียงที่เกิดจากการสื่อสารระหว่างสัตว์ต่างๆ สามารถบอกความสมบูรณ์ของธรรมชาติได้
Krause พยายามอธิบายการจัดเรียงที่ซับซ้อนของเสียงชีวภาพ และเสียงรอบข้างอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ทำการศึกษา โดยตั้งชื่อว่า “เสียงทางชีววิทยา (biophony)” เพื่ออธิบายองค์ประกอบของเสียงที่สร้างขึ้นโดยสิ่งมีชีวิต และ “เสียงทางธรณีฟิสิกส์ (geophony)” เพื่ออธิบายเสียงรอบข้างที่ไม่ใช่เสียงชีวภาพ เช่น เสียงลม เสียงฝน เสียงฟ้าร้อง และเสียงอื่น ๆ องค์ประกอบของเสียงเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งพื้นที่อยู่บนบกและใต้ผิวน้ำ
การส่งเสียงระหว่างกันของสัตว์นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานเรื่องการใช้ช่องเสียงเฉพาะ (the acoustic niche hypothesis) กล่าวคือ สัตว์ต่างสายพันธุ์ที่อยู่ในระบบนิเวศเดียวกันจะส่งเสียงคนละความถี่ ในระดับเสียงที่แตกต่างกันเพื่อไม่ให้เสียงของพวกมันขวางกันและกัน โดยในปัจจุบันมีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ว่า เกณฑ์ที่สัตว์ใช้ในการจัดระเบียบการส่งเสียงตามระดับที่แตกต่าง คือ ในกรณีที่เสียงมีความทับซ้อนกันเป็นระยะเวลานานสัตว์จะค่อย ๆ ลดระดับเสียงลงไปในช่องเสียงที่ไม่ซ้อนทับกันกับสายพันธุ์อื่น ๆ ในระยะยาว และในกรณีที่เสียงมีการทับซ้อนกันชั่วคราว สัตว์จะลดการทับซ้อนกันชั่วคราวไปยังที่ความถี่ที่ใกล้เคียงกันผ่านกลไกความยืดหยุ่น (plasticity mechanisms) (Krause & Farina, 2016)
สมมติฐานนี้ยังชี้ว่า ระบบนิเวศที่โตเต็มที่หรือมีความสมบูรณ์มาก จะมีสเปกตรัมเสียง หรือช่องเสียงที่แยกกันอย่างเป็นระเบียบชัดเจน ในขณะที่ระบบนิเวศที่มีอายุน้อยหรือถูกรบกวนจากภายนอกมากจะแสดงความไม่เป็นระเบียบของเสียงมากขึ้น เช่น มีหลายสายพันธุ์ส่งเสียงอยู่ในระดับเสียงหนึ่ง แต่ในอีกระดับเสียงหนึ่งกลับไม่มีสัตว์สายพันธุ์ใดใช้เลย ภูมิทัศน์เสียงที่เป็นระเบียบจะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของที่อยู่อาศัยของสัตว์และความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศดังกล่าว
ในภายหลังมีการศึกษาเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่ง คือ “เสียงที่มนุษย์สร้างขึ้น (anthrophony)” เช่น เสียงเครื่องบิน เสียงเครื่องจักร และเสียงอื่นๆ ที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ (ซึ่งไม่ใช่เสียงที่มีความหมายเพื่อใช้ในการสื่อสาร) เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันเสียงของธรรมชาติได้รับผลกระทบอย่างมากจากกิจกรรมหลากหลายของมนุษย์ (Pijanowski et al., 2011)
ในปัจจุบัน Krause พบว่า การเจริญเติบโตของเมืองและประชากรมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เขตพื้นที่ป่าและระบบนิเวศหลายแหล่งถูกรุกล้ำ สัดส่วนในเสียงธรรมชาติถูกแทนที่ด้วยสัดส่วนของเสียงที่มนุษย์สร้างมากขึ้น ทำให้ช่องเสียงของสัตว์ถูกทำลาย ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นรุนแรง ทำให้เกิดหน้าแล้งยาวนานและรุนแรงขึ้น หรือในบางพื้นที่ที่มีระยะเวลาของฤดูกาลที่แปลี่ยนไป อุณหภูมิโลกผิดแปลกไปในฤดูกาลเหล่านั้น ทำให้สัตว์หลายสายพันธุ์ไม่สามารถอยู่ได้และสูญพันธุ์ไปในที่สุด ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากเสียงธรรมชาติที่ Krause อัดไว้ โดยเขาจะอัดเสียงธรรมชาติในพื้นที่เดิมของทุก ๆ ปี เสียงของธรรมชาติที่ได้ยินจากเครื่องอัดเสียงของ Krause แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่า เสียงสัตว์ต่างๆ เริ่ม หายไปเมื่อเปรียบเทียบเสียงในที่อัดไว้ในอดีตและปัจจุบัน ดังแสดงในรูปที่ 5
จากข้อมูลของ Our World in Data พบว่า พื้นที่ป่ากว่า 1 ใน 3 ของโลกหายไปด้วยการทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศของมนุษยชาติอันเป็นผลมาจากการเติบโตของประชากรและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ในปีค.ศ. 2018 ปริมาณป่าไม้ลดเหลือเพียง 38% จาก 57% ของเมื่อ 10,000 ปีก่อน จากการทำลายป่าเพื่อการเพาะปลูกและการทำปศุสัตว์ โดยมนุษย์ใช้พื้นที่ที่อยู่อาศัยของสัตว์ไปถึง 46% และ อีก 1 % ใช้เป็นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยของตน ดังแสดงในรูปที่ 6
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1500 ถึง ค.ศ. 2020 มีสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปประมาณกว่า 900 สายพันธุ์ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากแรงกดดันจากการใช้ชีวิตของมนุษย์ ในจำนวนนี้รวมสัตว์จำพวกนก 159 สายพันธุ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 85 สายพันธุ์ ปลา 80 สายพันธุ์ และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 35 สายพันธุ์ รายละเอียดสัตว์ชนิดอื่น ๆ แสดงในรูปที่ 7
ผู้ดำเนินรายการ Invisibilia ถามคำถามสุดท้ายกับ Krause ว่า ในปัจจุบันคุณได้ยินเสียงอะไรบ้างเวลาคุณเข้าไปทำงานในป่า Krause ตอบทิ้งท้ายรายการว่า “Complete silence.”
หลังจากรายการ invisiblilia จบลง ผู้เขียนสังเกตได้ว่า เสียงกบที่มักจะดังกึกก้องเป็นประจำในช่วงเวลาเย็นหลังฝนตก…เบาลงมากจากตอนเด็กที่เคยได้ยิน และเสียงของสัตว์บางชนิดที่หายไปนั้น ก็คงไม่มีวันกลับมา
งานวิจัยอ้างอิง
Aiyar, S., Calomiris, C. W., Hooley, J., Korniyenko, Y., & Wieladek, T. (2014). The international transmission of bank capital requirements: Evidence from the UK. Journal of Financial Economics, 113(3), 368–382. https://doi.org/10.1016/j.jfineco.2014.05.003
Artetxe, M., Labaka, G., Agirre, E., & Cho, K. (2018). Unsupervised neural machine translation. 6th International Conference on Learning Representations, ICLR 2018 – Conference Track Proceedings, 1–12.
Krause, B., & Farina, A. (2016). Using ecoacoustic methods to survey the impacts of climate change on biodiversity. Biological Conservation, 195(January 2016), 245–254. https://doi.org/10.1016/j.biocon.2016.01.013
Lample, G., Conneau, A., Ranzato, M., Denoyer, L., & Jégou, H. (2018). Word translation without parallel data. 6th International Conference on Learning Representations, ICLR 2018 – Conference Track Proceedings, 1–14.
Payne, R. S., & McVay, S. (1971). Songs of humpback whales. Science, 173(3997), 585–597. https://doi.org/10.1126/science.173.3997.585
Pijanowski, B. C., Villanueva-Rivera, L. J., Dumyahn, S. L., Farina, A., Krause, B. L., Napoletano, B. M., Gage, S. H., & Pieretti, N. (2011). Soundscape ecology: The science of sound in the landscape. BioScience, 61(3), 203–216. https://doi.org/10.1525/bio.2011.61.3.6
แหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- https://www.npr.org/transcripts/809336135 – “Two Heartbeats A minute” on Invisibilia’s podcast
- https://www.npr.org/transcripts/821648089 – “The Last sound” on Invisibilia’s podcast
- https://www.nps.gov/boha/learn/management/research-abstracts-ravenscraft.htm
- https://www.earthspecies.org/about
- https://github.com/earthspecies/project/blob/main/roadmaps/ai.md
- https://www.nytimes.com/article/climate-change-global-warming-faq.html
- https://thereader.mitpress.mit.edu/everything-is-wrong-Krause-krauses-concept-of-biophony/
- https://www.ted.com/talks/Krause_krause_the_voice_of_the_natural_world
- https://ideas.ted.com/Krause-krause-shares-the-happiest-sounds-hes-heard-in-nature/
- http://www.edc.uri.edu/nrs/classes/nrs534/nrs_534_readings/soundpdf
- https://www.researchgate.net/profile/Krause-Krause/publication/295609070_The_niche_hypothesis/links/56dc834a08aebe4638c031b8/The-niche-hypothesis.pdf
- https://ourworldindata.org/extinctions