การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่สองของ โดนัลด์ ทรัมป์ ตั้งแต่ต้นปี 2025 สร้างความปั่นป่วนให้กับหน่วยงาน ผู้ปฏิบัติงานในภาครัฐ และลามไปถึงองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในหลายประเทศทั่วโลก โดยมีเหตุมาจากปฏิบัติการหั่นงบปรับโครงสร้างระบบราชการของ กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล (Department of Government Efficiency) หรือ DOGE นำโดยมหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ เพื่อนำเม็ดเงินที่ได้จากการประหยัดไปพัฒนาสหรัฐฯ สู่ยุคทองอันรุ่งเรือง และหนึ่งในวิธีการปรับลดตัวเลขงบประมาณนั้นคือ การไล่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และบุคลากรในหลายสาขาและหน่วยงานออกจากตำแหน่งเป็นจำนวนมาก

Source: Wikipedia Commons

การไล่ออกครั้งใหญ่นี้ของ DOGE หมายรวมบุคลากรทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในหน่วยงาน เช่น สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH), สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (EPA), และมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (NSF) ที่ล้วนได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งสิ้น นำไปสู่ความกังวลถึงผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นกับวงการวิทยาศาสตร์และสุขภาพของสหรัฐฯ ในอนาคต

Elon Musk, Dublin, Wednesday 31th October 2013: Pictured at the The Web Summit 2013, RDS. Photo by Dan Taylor/Heisenberg Media

คนทำงานที่ถูกขับไล่

นับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2025 การทำงานของ DOGE เริ่มขึ้นทันทีภายใต้การดูแลของ อีลอน มัสก์ โดยตั้งเป้าว่าจะสามารถลดงบประมาณของรัฐบาลกลางลงได้ถึงสองล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเหตุผลให้ DOGE ต้องลดจำนวนบุคลากรของรัฐบาลลงด้วยหลายวิธีการ ไม่ว่าจะเลือกปลดจากพนักงานที่กำลังอยู่ในช่วงทดลองงาน ส่งหนังสือแจ้งเตือนถึงบุคลากรให้ระบุห้าสิ่งที่พวกเขาทำสำเร็จในสัปดาห์ที่ผ่านมา หากไม่ตอบกลับจะถือว่ายอมรับความเสี่ยงที่จะสูญเสียงาน หรือให้ติดสินใจลาออกด้วยตนเอง รวมถึงการส่งคำสั่งโดยตรงไปยังองค์กรต่างๆ ให้ลดจำนวนพนักงาน

โดยส่วนหนึ่งขององค์กรที่จำเป็นต้องปลดคนออก มีดังต่อไปนี้:

  • สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (Environmental Protection Agency: EPA) มีจำนวนนักเคมี นักชีววิทยา นักพิษวิทยา และนักวิทยาศาสตร์ด้านอื่นๆ ที่ต้องออกจากตำแหน่งประมาณ 1,000 คน
  • องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) มีจำนวนนักวิทยาศาสตร์ นักอุตุนิยมวิทยา และบุคลากรอื่นๆ ที่ต้องออกจากตำแหน่งประมาณ 2,300 คน หรือ 20% ของบุคลากรกว่า 13,000 คน
  • มูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ (National Science Foundation: NSF) มีจำนวนบุคลากรต้องออกจากงานประมาณ 120 คน คิดเป็น 10% ของบุคลากรทั้งหมด
  • สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health: NIH) มีจำนวนบุคลากรต้องออกจากงานประมาณ 1,200 คน
  • องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration: NASA) จำเป็นต้องปิดแผนกเทคโนโลยี นโยบาย และกลยุทธ์, สำนักงานหัวหน้านักวิทยาศาสตร์, และแผนกที่ดูแลด้านความหลากหลาย, ความเท่าเทียม, การไม่แบ่งแยก และการเข้าถึงได้ (DEIA) โดยมีจำนวนบุคลากรต้องออกจากงาน 23 คน
  • สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institute of Standards and Technology: NIST) มีพนักงานที่อยู่ในช่วงทดลองงาน 500 คน ถูกสั่งปากเปล่าโดยไม่มีลายลักษณ์อักษรให้ต้องออกจากงาน
  • ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) จำเป็นต้องปลดบุคลากรประมาณ 2,400 คน
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (Food and Drug Administration: FDA) ต้องเลิกจ้างบุคลากรกว่า 3,500 คน ซึ่งทำหน้าที่อนุมัติและกำกับดูแลความปลอดภัยของยาและอาหารจำนวนมากที่ผู้คนบริโภค

ทั้งหมดรวมเป็นบุคลากรมากกว่า 11,000 คน ที่ต้องสูญเสียงาน ซึ่งตัวเลขนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะลดงบประมาณสหรัฐฯ ทั้งหมดของ DOGE

Source: CDC

ผลกระทบของการลดคน

แน่นอนว่า การปลดบุคลากรสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลได้จริง ทว่าเหตุการณ์นี้กำลังทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงในหลายด้าน ยิ่งสหรัฐฯ คือประเทศมหาอำนาจที่การตัดสินใจใดๆ ก็ตามสามารถส่งแรงกระเพื่อมไปถึงประเทศอื่นทั่วโลก ผลกระทบของนโยบายไล่คนออกจึงน่ากังวลในหลายประการ

ประการแรก คือ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การปลดพนักงานที่ทำหน้าที่ในสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ (CDC) อาจทำให้โครงการวิจัยด้านสุขภาพหลายโครงการถูกยกเลิก เช่นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งและโรคติดเชื้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนายาและการรักษาโรคในอนาคต

ประการที่สอง คือ ผลกระทบด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการเฝ้าระวังสภาพอากาศ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ที่จำเป็นต้องปลดนักวิทยาศาสตร์ออกกว่า 1,000 คน มีแนวโน้มที่จะต้องยกเลิกโครงการวิจัยด้านคุณภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสารพิษในสิ่งแวดล้อม ด้านองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) เองก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีประสิทธิภาพในพยากรณ์อากาศลดลง ไม่สามารถติดตามสภาพภูมิอากาศได้ทั่วถึง และตอบสนองต่อภัยพิบัติล่าช้า เนื่องจากสูญเสียนักอุตุนิยมวิทยา นักวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทร และเจ้าหน้าที่ไปกว่า 2,300 คน

ประการที่สาม คือ ผลกระทบด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและอวกาศ การสูญเสียกำลังสำคัญขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) และ สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (NIST) จะส่งผลให้สหรัฐฯ เสียเปรียบในการแข่งขันด้านอวกาศและเทคโนโลยีระดับโลกเมื่อเทียบกับจีนและยุโรป เช่น ทำให้โครงการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารล่าช้า ชะลอความก้าวหน้าในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนาชิปเซมิคอนดักเตอร์หยุดชะงัก และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์หละหลวม

นอกจากนี้ แม้การลดขนาดของรัฐบาลจะสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจอาจมีอิทธิพลต่อทิศทางของการวิจัยมากเกินไป

Photo by Gayatri Malhotra, Source: Unsplash

รัฐบาลของ โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงลดจำนวนข้าราชการเป็นจำนวนมาก แต่ยังพยายามลดค่าใช้จ่ายของรัฐในทางอื่น เช่น การตัดความช่วยเหลือและงดให้ทุนกับองค์กรภาคประชาสังคมในต่างประเทศ ตัดงบวิจัย ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มาตการทั้งหลายนี้ได้เปลี่ยนแปลงและส่งผลครั้งใหญ่ต่อโครงสร้างการทำงานเชิงวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ จนนำไปสู่การร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกของนักวิจัยกว่า 1,900 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2025 ที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหากล่าวหาว่า รัฐบาลทรัมป์กำลัง “ทำลายทั้งองคาพยพของวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ”

จดหมายดังกล่าวเตือนว่าการปลดพนักงานในหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์และสุขภาพ รวมถึงการลดและชะลอการให้ทุนวิจัย อาจสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศในระยะยาว รวมถึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน “รัฐบาลทรัมป์กำลังทำให้โครงสร้างนี้พังทลายด้วยการตัดงบวิจัย ปลดนักวิทยาศาสตร์นับพันคน ปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และกดดันนักวิจัยให้เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกงานวิจัยด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์” ส่วนหนึ่งในจดหมายระบุ

ทั้งนี้ ไม่อาจทราบแน่ชัดได้ว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารครั้งนี้ของสหรัฐฯ จะส่งผลมากน้อยเพียงใดต่อวงการวิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยี และสุขภาพผู้คนของทั่วทั้งโลกในอนาคต รวมถึงว่า ผู้ที่มีส่วนกับการตัดสินใจจำเป็นต้องรับผิดชอบกับผลที่ตามมาหรือไม่ หากการกระทำดังกล่าวนำไปสู่ผลร้ายมากกว่าผลดี

 

แหล่งข้อมูล