1113

หนึ่งในคดีที่อยู่ในความทรงจำของกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนมาก และถือเป็นการเปลี่ยนผ่านประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการ CSR ประเทศไทย คือคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในเดือนกันยายน พ.ศ. 2552 ที่สั่งระงับโครงการใหม่ในมาบตาพุด 76 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาท และการสั่งเพิกถอนใบอนุญาต 2 โครงการในเดือนกันยายนปีต่อมา โดยใช้อำนาจตีความตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 66 และ 67 ซึ่งรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการและคุ้มครองดูแลทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของตนเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 67 วรรค 2 ที่ระบุให้การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงใดๆ ก็ตาม  ต้องผ่านการประเมิน การรับฟังความคิดเห็น  และผ่านการเห็นชอบขององค์กรอิสระเสียก่อน [1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรค 2 ระบุว่า

“การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” ]

ถึงแม้ว่าคดีดังกล่าวจะยังเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างถึงขอบเขตอำนาจ แนวทางการพิจารณาของศาล รวมทั้งกระบวนการติดตามว่ามาตรการคำสั่งสามารถคุ้มครองสิทธิชุมชนได้อย่างแท้จริงหรือไม่ เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้สร้างปรากฏการณ์ความตื่นตัวต่อประเด็นเรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder Engagement) อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสังคมไทย  จากการสืบค้นในฐานข้อมูลสื่อสิ่งพิมพ์ [2. สืบค้นจากระบบ IQnewsclip วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ] พบว่าความถี่ของการนำเสนอคำว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” และ “Stakeholder(s)” เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี พ.ศ. 2552 และ 2553 และคงกระแสความสนใจต่อเนื่องในปีถัดมา ถึงแม้ว่าจะได้รับการกล่าวถึงน้อยลงก็ตาม

คงจะด้วยเหตุนี้ที่ ทำให้ปัจจุบันเราได้เห็นการอบรมสัมมนา แนะแนวทางการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก ที่เน้นย้ำถึงประโยชน์ด้านการสร้าง License to Operate ซึ่งหมายถึงการที่สังคมและชุมชนในพื้นที่ยอมรับที่จะให้บริษัทเข้ามาประกอบธุรกิจโดยไม่คัดค้าน  นอกจากนี้ยังรวมถึงการลดความเสี่ยง การสร้างภาพลักษณ์ชื่อเสียงที่ดี การสร้างแบรนด์ ไปจนถึงการสร้าง “คุณค่า” จากการนำประเด็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) ให้กับองค์กร

แต่ความเป็นจริงที่ปรากฏในสังคมกลับทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริงของบริษัทต่างๆ  เนื่องจากบริษัทส่วนมากมักจะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นพอให้ได้มีการพูดคุยอย่างทางการไม่กี่ครั้ง บางบริษัทก็ให้เงินเพื่อสร้างอาคาร และบริจาคเงินให้โครงการซึ่งแกนนำสำคัญของชุมชนมีส่วนเกี่ยวข้อง  โดยกิจกรรมเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นในช่วงจัดทำแผนประเมินสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EIA หรือ EHIA) เพื่อให้โครงการได้รับการอนุมัติเท่านั้น จากนั้นความคิดเห็นของชุมชนก็หมดความสำคัญ ที่ร้ายแรงยิ่งกว่านั้นก็คือชุมชนและ NGO กล่าวหาว่าบริษัททำ EIA แบบปลอมๆ จัดตั้งผู้เข้าร่วม ปิดบังข้อมูล บิดเบือนข้อเท็จจริง ขโมยชื่อชาวบ้าน ชักจูงผู้นำ [3. อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “รายงาน: คำประกาศขบถจากคนใต้ เปิดปมปัญหา ‘EIA-EHIA ไทย’” ตีพิมพ์วันที่ 12 มิถุนายน 2556 โดยเว็บไซต์ประชาไท http://prachatai.com/journal/2013/06/47165] และขาดกระบวนการการติดตาม ทำให้บริษัทไม่ปฏิบัติตามแผน EIA ที่เคยสัญญากับชุมชนไว้

คำถามก็คือทำไมบริษัทจึงทำเช่นนั้น ?

คำตอบที่แท้จริงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี  แต่ความเห็นของ Peter Zollinger น่าจะช่วยอธิบายได้

Peter Zollinger เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO คนแรกของ SustainAbility บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจที่ยั่งยืนแนวหน้าในระดับโลก ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าทีมวิจัยด้านผลกระทบของ Globalance Bank ธนาคารสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ผู้นำด้านบริการทางการเงินเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainability Investing) ได้กล่าวถึง มายาคติ หรือ “Myth” 3 ประการที่เขาพบบ่อยๆ จากภาคธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไว้ดังนี้ [4. ที่มา “8 Focus – Stakeholder Engagement and the Board : Integrating Best Governance Practice” โดย International Finance Corporation หรือ IFC ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. 2552]

ประการแรก ภาคธุรกิจมองคำว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ว่าเป็นคำศัพท์ที่แสงสละสลวย ซึ่งแท้จริงแล้วใช้แทนความหมายถึงเหล่ากลุ่มชาวบ้าน นักรณรงค์หัวรุนแรง ที่เอาแต่ต่อต้านธุรกิจและทุนเอกชน เป็นกลุ่มนักสร้างปัญหาตัวยงของบริษัทต่างๆ

ประการที่สอง การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้น เป็นกิจกรรมสำหรับบริษัทที่ (อย่างดีก็เพียง) พยายามจะทำตัวให้ดูดีในสายตาสังคม และยอมเสี่ยงให้กลุ่มที่มีความชอบธรรมเพียงเล็กน้อยมามีส่วนในการตัดสินใจ (เป็นอย่างมาก)

ประการที่สาม วิธีการกำกับดูแลกิจการให้ได้ผลเป็นเลิศนั้น ไม่ได้มีความเชื่อมโยงที่แท้จริงอะไรกับการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเลย

Zollinger ยังแนะนำว่า สำหรับนักบริหารและนักการเงินแล้ว การลดความเสี่ยงหรือความขัดแย้งที่ไม่ได้คาดคะเนมาก่อน เป็นหนึ่งในพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการกำกับดูแลกิจการอย่างมั่นคง และจากประสบการณ์ขององค์กร International Finance Corporation หรือ IFC ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มองค์กรของ World Bank ก็พบว่า ลูกค้าซึ่งบริหารการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจริงจัง จะมีระบบบริหารความเสี่ยง (Risk Management) ที่ดีกว่า และยืนยันว่าความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นไม่เพียงเป็นเงื่อนไขจำเป็นก่อนการสร้างระบบ Risk Management ที่ดีของบริษัท แต่ยังสามารถส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์ บริการ และสร้างความเข็มแข็งให้กับแบบแผนทางธุรกิจได้ [5. ที่มา Stakeholder Engagement: A Good Practice Handbook for Companies Doing Business in Emerging Markets. โดย International Finance Corporation หรือ IFC ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2550 ]

ดังนั้นเพื่อโต้แย้งกับมายาคติทั้ง 3 ประการ Zollinger จึงได้สรุปแนวคิดที่ถูกต้องเสนอต่อภาคธุรกิจไว้ 3 ประการเช่นกัน

ประการแรก คำว่า “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” นั้นหมายถึงคนที่มีสิทธิอย่างชอบธรรมต่อการทำงานของบริษัท เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของบริษัท และขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการประกอบการขององค์กรเช่นกัน

ประการที่สอง การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกิจกรรมของบริษัทผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งยอมรับที่จะสร้างความร่วมมือและเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ผ่านความเชื่อมั่นระหว่างกันของทุกฝ่าย

และ ประการสุดท้าย คือความจริงที่ว่า การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ใช่เพียงคำพูดโก้หรูที่ช่วยให้บริษัทดูดีเท่านั้น แต่เป็นหนทางที่จะทำให้บริษัทสามารถก้าวผ่านการเป็นเพียงผู้ปฏิบัติตามกฎระเบียบไปสู่องค์กรที่มีบรรษัทภิบาลในการกำกับและดูแลกิจการที่ดี หรือเป็นพลเมืองที่ดีอย่างแท้จริง

และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภายนอกควรมีองค์ประกอบด้งแผนภาพต่อไป นี้ [6. ที่มา Stakeholder Engagement: A Good Practice Handbook for Companies Doing Business in Emerging Markets. โดย International Finance Corporation หรือ IFC ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2550 ]

Stakeholder Engagement

ดัดแปลงจาก “Stakeholder Engagement: A Good Practice Handbook for Companies Doing Business in Emerging Markets.” โดย International Finance Corporation หรือ IFC ตีพิมพ์ในปีพ.ศ. 2550, หน้า 12

 

ในส่วนของ IFC นั้น ได้จัดกระบวนการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั่วโลก ทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ตัวแทนรัฐบาล บริษัทเอกชน สมาคมอุตสาหกรรม ภาคประชาสังคม และสถาบันวิชาการต่างๆ เมื่อปลายปี พ.ศ.2555 IFC และนำความเห็นต่างๆ ไปพัฒนากรอบแนวทางการทำงานอย่างยั่งยืนขององค์กร เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของทศวรรษใหม่ โดยได้สรุป 7 ประเด็นร้อนในปัจจุบัน และ/หรือ ประเด็นที่คาดว่ากำลังจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้ ได้แก่

  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • การละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • การจัดการห่วงโซ่อุปทาน
  • ความเท่าเทียมทางเพศ และบทบาทของผู้หญิงกับการพัฒนา
  • การมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง
  • สิทธิของชุนชนพื้นเมืองกับการให้ความยินยอมอย่าง “สมัครใจ ล่วงหน้า และได้รับข้อมูลพอเพียง” (free, prior and informed consent – FPIC)
  • ความหลากหลายทางชีวภาพ และการบริการระบบนิเวศ

โดยเชื่อว่า 7 ประเด็นนี้จะกำหนดแนวทางกิจกรรมด้าน CSR และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรธุรกิจในอนาคตอันใกล้  และแนะแนวทางให้บริษัทรวมถึงลูกค้าต่างๆ ของ IFC เริ่มปรับกลยุทธ์องค์กรให้เข้ากับประเด็นท้าทายเหล่านี้ในอนาคต

ในบทความต่อไป จะขอขยายความถึงความสำคัญของ 7 ประเด็นที่ว่า และแนวทางการปรับนโยบายองค์กรเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในอีกทศวรรษที่กำลังจะมาถึง