เพราะท่ามกลางความท้าทายเรื่องการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังมีโอกาสอยู่ในนั้น

แต่โอกาสที่มีจะแปลงเป็นการปฏิบัติที่เห็นผลจริงได้ก็ต่อเมื่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจสถานการณ์และปัญหาที่เป็นอยู่ อย่างเช่นข้อจำกัดในการขยายกิจการ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบ SME ที่พยายามทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน การขาดความร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงปัจจัยบางส่วนที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางธุรกิจ

ในงาน Asia Inclusive & Responsible Business Forum ที่จัดขึ้นโดย Oxfam in Asia และบริษัท ป่าสาละ จำกัด เมื่อวันที่ 11-12 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จึงเปิดพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ร่วมกันระดมสมองจากกรณีศึกษา ผ่านการเสวนากลุ่มย่อย เพื่อหาแนวทางในการขยายธุรกิจผ่านการขยายตลาด การเพิ่มขีดความสามารถด้วยการทำซ้ำ การปรับและประยุกต์ใช้วิธีการต่างๆ และการกำหนดเงื่อนไขและการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านกรณีศึกษาจากวิทยากรที่นำประสบการณ์โดยตรงมาร่วมแบ่งปัน เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้เสนอแนะความคิดเห็นต่อทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และนักวิชาการอย่างทั่วถึง เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

 

Scaling through Expansion – ขยายการเติบโตด้วยการขยายตลาด

หัวข้อ Scaling through Expansion ได้ตัวแทนจากสองธุรกิจที่แตกต่างกันอย่าง Mai Thi Anh Dao ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจของ Việt Trang Handicraft แบรนด์หัตถกรรมจักสานจากเวียดนาม และ Sylvie Gal หัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงินจาก Triple Jump บริษัทจัดการการลงทุนที่เน้นเรื่องความยั่งยืนมาเป็นกรณีศึกษา ความแตกต่างของลักษณะกิจการทำให้ทั้งสองธุรกิจเจอกับความท้าทายที่ต่างกัน

สิ่งที่ Việt Trang Handicraft ต้องเจอในการขยายตลาดไปยังต่างประเทศก็คือ การขอเอกสารรับรองคุณภาพและการขาดการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าต่างประเทศ อีกเรื่องที่นับเป็นความท้าทายก็คือ ลักษณะของสินค้าที่ไม่ได้จัดเป็นสินค้าจำเป็นอย่างสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่เป็นสินค้าส่งออกหลักของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนราคาไม่ได้มีผลต่อปริมาณการบริโภคหรืออุปสงค์ของตลาด ดังนั้น การปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เพิ่มสินค้าใหม่ๆ และมีราคาสูงกว่าสินค้าที่เป็นหัตถกรรมพื้นถิ่นดั้งเดิมอย่างเสื่อที่ทำจากหญ้าทะเล จึงต้องมีการสื่อสารที่ทำให้เข้าใจถึงทั้งมูลค่าและคุณค่าของสินค้าที่วางขาย

โดยในวงเสวนามีคำแนะนำว่าควรจะสร้างแคมเปญออนไลน์ให้เข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการแตกไลน์การผลิตที่ตรงกับความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่ม เพราะการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความตระหนักรู้ในเรื่องสินค้าพื้นถิ่นและเข้าใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมจะช่วยทำให้ทำการตลาดได้อย่างตรงใจ

ส่วน Triple Jump พบว่า การเข้าถึงธุรกิจต่างๆ ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นไปได้ยากกว่าในภูมิภาคอื่นๆ คำแนะนำที่เกิดขึ้นในวงเสวนานี้จึงเน้นในเรื่องของการกำหนดข้อตกลงกับภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดระหว่างธุรกิจกับภาครัฐ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ช่วยยกระดับการลงทุนให้มากขึ้น หรือการจัดทำแนวทางเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่สามารถปฏิบัติได้จริงทั้งสองฝ่าย ทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนเงินทุนเพื่อขยายความร่วมมือและธุรกิจ รวมถึงสร้างมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับทั้งระดับประเทศและระดับโลก

 

Scaling through Replication – เพิ่มขีดความสามารถด้วยการทำซ้ำ

แนวคิดหลักของการขยายกิจการด้วยวิธี Scaling through Replication เป็นเรื่องของการทำซ้ำในเรื่องที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพและตรงตามเป้าประสงค์มากขึ้น โดยมีกรณีศึกษาจาก อภิศักดิ์ กำเพ็ญ ตัวแทนจากวิสาหกิจชุมชนแม่ทา และ ศิวัช อ่วมประดิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ปัญหาสำคัญของวิสาหกิจชุมชนแม่ทาเป็นเรื่องของไลน์การผลิตที่มาจากเกษตรกรในชุมชน ทั้งจากอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งอาจไม่ได้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและกฎหมายแรงงาน ขณะเดียวกัน บริษัท ป่าสาละ จำกัด ก็เคยทำรายงานศึกษาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในบริษัทต่างๆ ในไทย พบว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ขาด ‘ที่ปรึกษา’ ด้านสิทธิมนุษยชน ส่วนธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กประสบปัญหาความไม่เข้าใจในหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGPs)

ความซับซ้อนของระบบห่วงโซ่อุปทาน ความรู้ความเข้าใจและทรัพยากรที่มีจำกัด รวมถึงการถอดบทเรียนหลังเกิดการละเมิดสิทธิขึ้นแต่กลับขาดการติดตามตรวจสอบ เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความท้าทายในเรื่องนี้ รวมถึงทัศนคติที่ภาคธุรกิจอาจมองภาคประชาสังคมเป็น​ฝ่ายตรงข้ามมากกว่าจะมองเป็นพันธมิตรที่ต้องร่วมมือกัน

อย่างไรก็ตาม วงเสวนาได้เสนอแนะแนวทางอย่างการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างธุรกิจ SME และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การจับคู่ธุรกิจ (business matching) ที่ทำให้ธุรกิจที่ต่างกันได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ในเรื่องที่มีเป้าหมายเหมือนหรือใกล้เคียงกัน และการให้ความสำคัญกับเรื่องเล็กๆ ที่ทำได้จริง อย่างการประยุกต์กระบวนการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence – HRDD) ให้เข้ากับเงื่อนไขของแต่ละประเทศ การสร้างแคมเปญทุกปีและมีการติดตามผล การจัดอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะ เป็นต้น

มากไปกว่านั้น ยังมีการเสนอแนะให้ส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ เข้าใจถึงคอนเซปที่ถือเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิบัติตามพันธกิจที่ต้องมีการรับผิดชอบต่อสังคมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้การทำซ้ำและการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เป็นไปบนพื้นฐานของความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน

 

Scaling through Adaptation – ปรับเพื่อขยาย

Huan V. Nguyen ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้ออย่างมีความรับผิดชอบประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Tesco เวียดนาม และ Tatat Sukarsa ผู้จัดการโครงการด้านความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ จาก Oxfam in Indonesia เป็นสองตัวแทนที่มาแลกเปลี่ยนเรื่องนี้ โดยผู้บริหารจากเวียดนามได้พูดถึงนโยบายในการสรรหาบุคลากรอย่างเป็นธรรมที่เริ่มใช้ในช่วงไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ และมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดนำเอาแนวนโยบายนี้ไปปรับใช้ และการวางกลยุทธ์ที่เน้นในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อจัดการกับปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศและการแบ่งแยก รวมถึงการผลักดันให้ ‘เสียง’ ของผู้หญิงในที่ทำงานดังขึ้น สนับสนุนความเป็นผู้นำของผู้หญิง และลดทัศนคติแบบเหมารวม

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ทาง Tesco ได้มีการเก็บข้อมูลเพื่อติดตามความคืบหน้าของซัพพลายเออร์ในเรื่องนี้ มีการลงทุนในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเรื่องประโยชน์จากการลงทุนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศในห่วงโซ่อุปทาน เปิดสายด่วนให้พนักงานสามารถร้องเรียนเพื่อปกป้องตัวเองได้ และยังมีการทำงานร่วมกับ Oxfam ในการจัดการอบรม การพัฒนานโยบาย และการวางกลยุทธ์ด้านความเท่าเทียมทางเพศ

จากข้อมูลที่แลกเปลี่ยนนั้น มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น การปกป้องสิทธิของแรงงานที่สามารถทำได้ผ่านการพัฒนาระบบการร้องเรียนให้แข็งแรงขึ้น การตรวจสอบให้มั่นใจว่านโยบายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้จริง โดยมีการติดตามตัวชี้วัดในเรื่องนี้และการจัดสรรงบประมาณให้กับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ส่วนเรื่องการสรรหาบุคลากรสามารถทำได้ด้วยการทบทวนเงื่อนไขในการหาคนทำงาน โดยเน้นที่ทักษะเป็นหลัก และเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติผ่านการทำงานร่วมกับเอ็นจีโอ

ส่วนตัวแทนจาก Oxfam in Indonesia ชวนตั้งคำถามว่า ธุรกิจขนาดใหญ่จะขยายกิจการได้อย่างไรบนความท้าทายที่มีทั้งเรื่องต้นทุน การขาดความรู้ ความชำนาญ ทรัพยากรที่มีจำกัด การทำงานที่ไม่เป็นระบบ การขาดการเน้นย้ำถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน และค่าใช้จ่ายในการจัดการที่เพิ่มสูงขึ้น

วงเสวนาเสนอว่า บริษัทสามารถปรับตัวเพื่อขยายกิจการได้โดยการพัฒนาตัวชี้วัดธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ เพื่อจัดอันดับและกระตุ้นการแข่งขันให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในหมู่บริษัทต่างๆ นอกจากนี้ การใช้คนดังเป็นกระบอกเสียงสร้างการตระหนักรู้จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง ในส่วนของแหล่งเงินทุน ควรมีการตรวจสอบบริษัทและซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้องว่ามีการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ก่อนที่จะปล่อยเงินกู้ และอาจพิจารณาอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับธุรกิจที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนี้ได้ครบถ้วน

 

Enabling Conditions and Government Support – ขยายกิจการบนพื้นฐานของการสนับสนุนจากภาครัฐ

ในหัวข้อ Enabling Conditions and Government Support วิทยากรจากองค์กรระหว่างประเทศอย่าง Marta Pérez Cusó เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการเศรษฐกิจ แผนกการค้า นวัตกรรม และการลงทุน จาก UN ESCAP ได้นำเสนอแนวคิด Inclusive Business Accreditation System หรือระบบการรับรองธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลสามารถนำไปปฏิบัติเพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจดำเนินงานอย่างยั่งยืนและให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยธุรกิจที่ผ่านการรับรองจะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน โอกาสในการร่วมโครงการของภาครัฐ รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ธุรกิจปฏิบัติตามแนวทางนี้มากขึ้นผ่านทางการรับรอง แรงจูงใจ และโอกาสทางการลงทุนที่เป็นไปได้

ผู้เข้าร่วมเสวนาได้เสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้ระบบการรับรองธุรกิจนี้สามารถขยายผลได้จริง โดยเสนอให้ภาครัฐร่วมมือกับสถาบันการเงินของรัฐ เพื่อพัฒนาเครื่องมือทางการเงินที่สนับสนุนธุรกิจที่ได้รับการรับรอง อย่างเช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้มั่นใจว่านโยบายเรื่องความยั่งยืนจะถูกนำไปปฏิบัติอย่างสอดคล้องกันและลดความซ้ำซ้อนของนโยบาย นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้พัฒนากลไกประเมินความน่าเชื่อถือของธุรกิจ SME และองค์กรขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมถึงการขยายโครงการของภาครัฐด้านการสนับสนุนธุรกิจที่มีความรับผิดชอบที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

Destry Anna Sari รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์อินโดนีเซีย ด้านการพัฒนาบุคลากรและความสามารถในการแข่งขันของสหกรณ์—กระทรวงที่ดูแลครอบคลุมถึงธุรกิจสตาร์ทอัปและ SME ในอินโดนีเซีย—ได้เล่าถึงความตั้งใจของภาครัฐในการทำให้ธุรกิจ SME เป็นกุญแจหนึ่งในการทำธุรกิจแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยมีงบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับการส่งเสริมเรื่องนี้โดยเฉพาะ กระนั้นก็ตาม ยังคงมีความท้าทายในเรื่องการพัฒนานโยบายที่มีผลกระทบต่อ SME และชุมชน รวมถึงการขาดความรู้ความเข้าใจในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

คำแนะนำจากวงเสวนาในประเด็นนี้ครอบคลุมทั้งเรื่องการกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ชัดเจน ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริหารองค์กร เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน ภาครัฐที่มีบทบาทเป็นคนกลางในเรื่องนี้จะต้องพร้อมทำหน้าที่ในการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ ควรจัดให้มีการประชุมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างระบบนิเวศสำหรับธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ และการแปลงนโยบายให้เข้ากับแต่ละท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาที่มาจากฐานรากอย่างแท้จริง

Jeroen Boonzaaijer เลขานุการโท สถานทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งวิทยากรที่นำเสนอประเด็นนี้ โดยตั้งคำถามว่า สำหรับในเอเชียแล้ว รัฐบาลสามารถนำกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร ทำอย่างไรกฎหมายและนโยบายนี้จึงจะเป็นทางออกที่ได้ประโยชน์ทั้งกับประเทศผู้ส่งออกและประเทศผู้นำเข้า

คำตอบที่ได้จากผู้เข้าร่วมงานเสวนาเป็นเรื่องของการสร้างแพลตฟอร์มที่จะทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักได้พบปะ สร้างการจับคู่จากทางธุรกิจ และแลกเปลี่ยนความรู้กัน ทั้งยังสามารถนำไปสู่การพิจารณาว่ากฎหมายสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจ SME ได้อย่างไร และควรต้องเพิ่มเติมอะไรอีกบ้างให้เหมาะสม เช่น การทำงานจากบ้าน หรือเรื่องแรงงานหญิง นอกจากนี้ สิ่งที่ภาครัฐสามารถทำงานร่วมกันได้ก็คือ การรับฟังเสียงจากภาคธุรกิจและเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็น เพราะธุรกิจจำนวนไม่น้อยมีข้อมูลประกอบการทำงาน มีการศึกษาวิจัย มีข้อมูลในการวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่ภาครัฐสามารถนำมาใช้ประโยชน์ และนำไปสู่การสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ในที่สุด