พูดถึง “สินเชื่อ” หรือที่เราเรียกเป็นภาษาบ้านๆ ว่า “เงินกู้” หลายคนคงเบ้หน้าด้วยความเบื่อหน่ายหรือครั่นคร้าม โดยเฉพาะเมื่อยามร้อนเงินเกินกว่าจะประหยัดอะไรไหว ต้องตัดใจกู้เงินมาใช้แก้ขัดไปก่อน
หลายคนไม่อยากต่อล้อต่อเถียงหรือเรียกร้องอะไรกับธนาคาร เพราะลำพังสถานะ “ลูกหนี้” ก็ค้ำคอ ทำให้รู้สึกว่าตกเป็นเบี้ยล่างมากพอแล้ว ขอแค่ธนาคารไม่หลอกลวงหรือยัดเยียดให้ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้อยากได้ อย่างเช่นประกันชีวิต หรือบัตรเครดิตอีกใบ เท่านั้นเป็นพอ
แน่นอนว่า ธนาคารย่อมปล่อยสินเชื่อเพราะหวังกำไรจากดอกเบี้ย กระบวนการ “กลั่นกรองสินเชื่อ” ประเมินแต่เพียงความสามารถของลูกค้าว่าจะมีเงินมาจ่ายคืนธนาคารหรือเปล่าเท่านั้น ไม่สนใจเท่าไรว่าลูกค้าคนนั้นมีหนี้กับที่อื่นมากแค่ไหน
จริงๆ ธนาคารก็ใช่ว่าจะไม่สนใจเลย เพราะลูกค้ายิ่งเป็นหนี้กับที่อื่นมาก ยิ่งมีแนวโน้มจะชำระหนี้ธนาคารไม่ได้เพราะต้องจ่ายหลายเจ้า แต่สำหรับธนาคารแล้ว การสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าจะจ่ายดอกเบี้ยและชำระหนี้กับธนาคารได้เต็มจำนวน (เช่น ผ่านการเรียกหลักประกันเป็นเงินสดหรือสินทรัพย์สภาพคล่องสูง การระบุให้หนี้ธนาคารเป็นหนี้ชั้นดีที่ต้องชำระก่อนถ้าเกิดปัญหา ฯลฯ) ย่อมสำคัญกว่าการหาทางช่วยลูกค้า “ลด” ภาระหนี้สินของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการทางการเงินที่เก่งกาจก็สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สร้างกำไรให้กับธนาคาร พร้อมกับช่วยลดหนี้ให้กับลูกค้าได้!
ใครที่คิดว่าสถาบันการเงินทำเป็นแต่กระตุ้นให้คนสร้างหนี้อาจยังไม่เคยเห็นบริการสุดเจ๋งของ เวลส์ ฟาร์โก (Wells Fargo) ธนาคารอเมริกันยักษ์ใหญ่ (และหนึ่งในธนาคารไม่กี่แห่งที่ผู้เขียนชื่นชอบมาก ก่อนจะอกหักอย่างแรงเมื่อเกิดกรณีอื้อฉาวเรื่องการหลอกลวงลูกค้าขั้นมโหฬาร ในปี 2016)
บริการ Debt Pay Down Solution หรืออาจแปลเป็นไทยง่ายๆ ว่า “ให้แบงก์ช่วยลดหนี้” ริเริ่มในปี 2007 ถูกออกแบบมาช่วยผู้บริโภคลดและกำจัดหนี้อย่างเป็นระบบ โดยมีสามขั้นตอนด้วยกัน
0
ขั้นแรก ผู้บริโภคจะต้องรวบรวมหนี้ต่างๆ นานาของตัวเองมาบันทึก ไล่เรียงลำดับตามอัตราดอกเบี้ยจากมากไปหาน้อย หลังจากนั้นนำหนี้ก้อนนี้มารีไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(กว่า)จากธนาคาร เวลส์ ฟาร์โก
เห็นแค่ขั้นแรกนี้ทุกคนที่เคยเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินไทยคงบอกว่า ไม่เห็นมีอะไรเจ๋ง ธนาคารแข่งกันรีไฟแนนซ์หนี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่พอถึงขั้นที่สอง ผู้บริโภค(ซึ่งมาเป็นลูกค้าธนาคารเรียบร้อยแล้วจากการรีไฟแนนซ์) จะเข้าไปใช้เครื่องมือออนไลน์ชื่อ My Spending Report (รายงานการใช้จ่าย) และ Budget Watch (เครื่องคุมงบ) เพื่อดูว่าแต่ละเดือนเขาหรือเธอหมดเงินไปกับอะไรบ้าง เครื่องมือทั้งสองนี้จะช่วยชี้ช่องทางที่จะประหยัดเงิน เพิ่มยอดเงินออมในแต่ละเดือน – แสดงเป็น “ยอดคงเหลือ” (What’s Left) ให้ดู
ขั้นที่สาม ลูกค้าจะโอนยอดเงินออม “What’s Left” ส่วนนี้ไปชำระคืนยอดเงินต้นของสินเชื่อใหม่ เท่ากับเร่งการชำระหนี้ ทำให้ปลดหนี้ได้เร็วกว่าเดิม จุดนี้เครื่องมือของธนาคารก็อธิบายให้เข้าใจง่ายเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ปกติลูกหนี้ที่รีไฟแนนซ์หนี้ 10,000 เหรียญสหรัฐ อัตราดอกเบี้ย 13% ต่อปี จะสามารถปลดหนี้ได้ภายใน 5 ปี ถ้าจ่าย 228 เหรียญสหรัฐต่อเดือนทุกเดือนไม่มีขาด (แบบลดต้นลดดอกตามกฎหมาย) แต่ถ้าหากสามารถออมเงินได้มากขึ้นเดือนละเพียง 41 เหรียญสหรัฐ โอนเงินก้อนนี้ไปชำระหนี้ด้วย ลูกหนี้ก็จะสามารถปลดหนี้ได้เร็วกว่าเดิมถึง 1 ปีเต็ม
ในเมื่อ Debt Pay Down Solution สร้างประโยชน์แก่ลูกหนี้อย่างชัดเจน ผู้บริโภคก็มีแรงจูงใจที่จะมารีไฟแนนซ์และบริหารรายรับ-รายจ่ายของตัวเองโดยใช้เครื่องมือของธนาคาร เพราะสามารถโอนยอดเงินออมที่เพิ่มขึ้นจากการประหยัดไปตัดยอดเงินต้นโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้บริการนี้ของธนาคารเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง
บริการนี้เป็นการต่อยอดความสำเร็จของ เวลส์ ฟาร์โก ซึ่งก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จในการประกาศว่า ลูกค้าบัตรเครดิตสามารถเลือกว่าอยากให้ธนาคารนำเงิน 1% จากบัตรคืนเงิน (cash back – เป็นโปรโมชั่นยอดนิยมของบัตรเครดิตในไทยเช่นกัน) ไปชำระหนี้ที่มีกับธนาคาร แทนที่จะจ่ายคืนเป็นเงินสดได้
นอกจากบริการให้แบงก์ช่วยลดหนี้ เวลส์ ฟาร์โก ยังได้ก่อตั้ง “ศูนย์เป็นหนี้อย่างชาญฉลาด” (Smarter Credit Center) เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับหนี้อย่างครบวงจรอีกด้วย
หันมาดูนอกภาคธนาคาร วันนี้มีบริการเจ๋งๆ ด้านการเงินส่วนบุคคลมากมาย หลายค่ายไปไกลกว่าการเป็น “เครื่องมือ” ช่วยทำประมาณการรายรับรายจ่าย (ซึ่งจริงๆ ทำในโปรแกรมสเปรทชีทอย่าง MS Excel เองก็ได้!) แต่ช่วย “สอน” ความรู้เรื่องการเงิน และ “เปลี่ยน” พฤติกรรมทางการเงินได้จริงๆ
บริการที่ผู้เขียนชอบมากชื่อ YNAB (ย่อมาจาก You Need a Budget) จากสหรัฐอเมริกา ทำงานผ่านเว็บไซต์และแอพมือถือ สนนราคาเพียง 5 เหรียญสหรัฐต่อเดือน หรือราว 2,100 บาทต่อปี ใครๆ ก็ลงทะเบียนได้ แต่ถ้าเรามีบัญชีกับธนาคารใหญ่ๆ ในสหรัฐ อย่าง เวลส์ ฟาร์โก, แบงก์ ออฟ อเมริกา หรือ เชส โปรแกรมก็จะ sync หรือถ่ายเทรายการเดินบัญชีจากธนาคารของเรามาให้ เพียงเมื่อเรา “ผูก” บัญชีธนาคารเข้ากับ YNAB
YNAB ใช้ระบบการทำงบที่ดีมาก จนบริษัทสามารถประกาศว่าในบรรดาผู้ใช้ทั้งหมด YNAB ช่วยประหยัดเงินได้เฉลี่ย 200 เหรียญสหรัฐ (ประมาณเจ็ดพันบาท) ให้กับผู้ใช้แต่ละรายในเดือนแรก และแต่ละคนโดยเฉลี่ยประหยัดได้กว่า 3,000 เหรียญสหรัฐ (กว่าหนึ่งแสนบาท) เมื่อใช้บริการไปเก้าเดือนเท่านั้น ซึ่งก็แน่นอนว่าเมื่อประหยัดได้ขนาดนี้ แรงกดดันที่จะต้องกู้ยืมเงินก็น้อยลงเป็นเงาตามตัว
หลักการทำงานของระบบ YNAB มีสี่ข้อดังต่อไปนี้
1. ให้เงินทุกบาททำงาน
เมื่อเดือนใหม่เริ่มต้น เราต้องแจกแจงใน YNAB ว่าเงินทุกบาทในงบประมาณของเราจะเอาไปใช้ทำอะไรบ้าง ตั้งแต่รายจ่ายจำเป็นอย่างค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าการศึกษาลูก ไปจนถึงรายจ่ายที่ไม่จำเป็นแต่เราอยากทำ เช่น กินเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อน ไปเที่ยว ฯลฯ
2. ออมเผื่อเวลาร้อนเงิน
ไม่ว่าเราจะวางแผนมาดีเพียงใด ในแต่ละปีมักจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้เราเกิดรายจ่ายก้อนโต เช่น ประสบอุบัติเหตุต้องนอนโรงพยาบาล สรรพากรให้จ่ายภาษีย้อนหลัง หรือแม้แต่ ‘ค่าใช้จ่ายสังคม’ อย่างเช่นค่าช่วยจัดงานศพ ทอดผ้าป่า กฐิน งานแต่งงาน ฯลฯ โปรแกรม YNAB ช่วยให้เรารับมือกับรายจ่ายแบบนี้ด้วยการฝึกให้เรามองเสมือนว่ามันเป็นรายจ่ายประจำเดือน เช่น ถ้าเราคิดว่าต้องเผื่อเงินราว 24,000 บาททุกปีให้กับกรณีฉุกเฉิน YNAB ก็จะให้เรากันงบไว้ 24,000 / 12 = 2,000 บาททุกเดือนเพื่อเตรียมตัว จะได้ไม่ต้องเครียดว่าต้องหาเงินมาทันทีสองหมื่นกว่าบาท
3. ปรับเปลี่ยนงบได้ ไม่ต้องเครียด
หลายครั้งในชีวิตจริง เราจะพบว่ารายรับรายจ่ายของเราไม่ตรงกับแผนที่วางไว้ YNAB ไม่ ‘โหด’ ขนาดที่จะก่นด่าว่าเราใช้ไม่ได้ หรือปิดล็อกไม่ให้แก้ไขประมาณการ แต่ให้เราปรับเปลี่ยนงบประมาณได้ เพียงแต่ต้อง ‘โยก’ เงินมาจากงบรายจ่ายประเภทอื่น หรือหักประมาณการรายจ่ายของเดือนหน้า (พูดง่ายๆ คือเดือนหน้าต้องรัดเข็มขัด) เป็นการชดเชย
4. ใช้รายได้ของเดือนที่แล้ว
ในระบบ YNAB รายได้อะไรก็ตามที่เราได้ในเดือนนี้จะถูกกันไว้ใช้สำหรับรายจ่ายเดือนถัดไป เท่ากับบังคับให้เราทำงบรายจ่ายด้วยเงินที่มีอยู่ในมือเท่านั้น นับเป็นการฝึกวินัยการใช้เงินที่ดีเยี่ยม และช่วยลดความเสี่ยงที่เราจะเจอบิลบัตรเครดิตท่วมหัวโดยไม่รู้ตัว
YNAB ช่วยปลูกฝังวินัยทางการเงินผ่านการออกแบบระบบโดยใช้หลักการข้างต้น และการบังคับให้เราต้องใส่ธุรกรรมทางการเงินทุกรายการนั้นแรกๆ เราอาจรู้สึกยุ่งยาก แต่ไม่นานก็จะชิน และ YNAB ก็พยายามออกแบบให้ทุกอย่างใช้ง่ายมากและอำนวยความสะดวก เช่น แอพมือถือจะจำตำแหน่งหรือโลเกชั่นของเราเวลาที่ใส่ข้อมูลธุรกรรม ฉะนั้นครั้งต่อไปที่เราไปซื้อของในซุปเปอร์มาร์เก็ตเจ้าเดิม YNAB ก็จะขึ้นข้อความให้เราใส่จำนวนเงินเท่านั้น เพราะข้อมูลอื่น (ชื่อร้าน ประเภทรายจ่าย) ถูกบันทึกไว้หมดแล้ว
นอกจากจะออกแบบระบบที่เจ๋งมากจนช่วยคนเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินได้ เว็บไซต์ YNAB ยังจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับการเงินส่วนบุคคลที่ครอบคลุมและเข้าใจง่าย ทั้งบทความ คู่มือ คลิปวีดีโอ พอดคาสท์ รวมถึงการจัดอบรมเป็นครั้งคราว
ผู้ให้บริการทางการเงินอาจทำกำไรได้ง่ายๆ โดยไม่สนใจที่จะช่วยลูกค้าลดหนี้ หรือหาวิธีเสริมสร้างความรู้ทางการเงินที่ยั่งยืน (ไม่ใช่การจัดสอนทีละหลายสิบหรือร้อยคน)
แต่ผู้ให้บริการที่ก้าวไปถึงขั้นนี้ได้ ก็สมควรจะได้รับการยกย่องว่า เป็นผู้ให้บริการที่ ‘เข้าใจ’ หัวอกของลูกค้า และช่วย ‘พัฒนา’ วงการการเงินให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน.