ตลอดชั่วชีวิตของคนเรา คงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ ไม่ว่าจะกู้เงินไม่กี่พันบาทจากเพื่อน บากหน้าไปยืมญาติ หรือบากบั่นดั้นด้นไปกรอกแบบฟอร์มกองโตเพื่อกู้เงินซื้อบ้านก็ตาม เพราะ “หนี้” นำมาซึ่งภาระ และบ่อยครั้งก็น้ำตา

เมื่อเราเป็นหนี้ เราย่อมตกอยู่ในสถานะของ “ลูกหนี้” และในเมื่อเรารู้สึกว่าการผ่อนชำระหนี้ให้ตรงเวลาคือ “หน้าที่” เราก็มักจะก้มหน้าก้มตาพยายามผ่อนชำระให้ครบจำนวนและตรงเวลา โดยไม่แม้แต่จะนึกถึง “ความเป็นธรรม” ของหนี้

แต่การถกเถียงอภิปรายเรื่อง “หนี้ที่เป็นธรรม” ไม่เพียงแต่มีความหมายเท่านั้น แต่ยังสำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทางการเงิน การคิดค้นผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ตรงต่อความต้องการ(ซึ่งย่อมเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและไลฟ์สไตล์) ตลอดจนการแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ของเจ้าหนี้

โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน

เราจะคิดถึง “ความเป็นธรรม” ของสิ่งที่ดูเป็นนามธรรมอย่าง “หนี้” ได้อย่างไร? ผู้เขียนคิดว่าเราอาจจะเริ่มจากการตั้งคำถามง่ายๆ ในแต่ละขั้นตอนของการเป็นหนี้ เริ่มตั้งแต่การเข้าถึงหนี้ การทำสัญญาหนี้ จนถึงการติดตามหนี้

ยกตัวอย่างเช่นคำถามต่อไปนี้

  1. ความเป็นธรรมในการเข้าถึงหนี้

เราทุกคนเข้าถึงหนี้ได้อย่างเท่าเทียมกันหรือเปล่า? ถูกเลือกปฏิบัติไม่ให้ใช้บริการทางการเงิน หรือถูกคิดดอกเบี้ยแพงๆ ด้วยเหตุผลที่ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับความสามารถในการชำระหนี้ของเรา เช่น เพศสภาพ ความเชื่อทางการเมือง อาชีพ ภาษา การแต่งกาย ฯลฯ หรือไม่?

การมีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจทำสัญญาก็สำคัญเหมือนกัน สำคัญกว่าเวลาเราซื้อสินค้าที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ด้วยซ้ำ เพราะบริการทางการเงินเป็นนามธรรม และผู้ซื้อ (ลูกหนี้) ไม่มีทางมีข้อมูลเท่ากับผู้ขาย (เจ้าหนี้)

มีใครบอกได้ไหมว่ารู้เหตุผล 100% เบื้องหลังการที่เจ้าหนี้อนุมัติเงินกู้ให้กับเราด้วยเงื่อนไขแบบนั้นแบบนี้ คิดดอกเบี้ยเท่านั้นเท่านี้ หรือรู้เหตุผล 100% ที่เขาไม่ปล่อยเงินกู้ให้

คำถามหลักๆ เกี่ยวกับความเป็นธรรมของการให้ข้อมูลก็เช่น – เวลาที่เจ้าหนี้จูงใจให้เราทำสัญญาหนี้ เจ้าหนี้ให้ข้อมูลเราอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเพียงพอต่อการตัดสินใจหรือเปล่า? ให้เรากู้และคิดดอกแพงทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเราไม่มีกำลังผ่อนหรือเปล่า? (จริงๆ กรณีนี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะขึ้นชื่อว่าเจ้าหนี้แล้วย่อมอยากได้เงินต้นคืนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ย แต่อาจเกิดขึ้นได้ถ้ากระบวนการกลั่นกรองสินเชื่อหละหลวม หรือกรณีที่เจ้าหนี้ขาดแรงจูงใจที่จะกลั่นกรองหนี้ เพราะขายหนี้ไปให้คนอื่นจัดการแทนหรือแปลงเป็นหลักทรัพย์ทันทีที่ทำสัญญา เป็นต้น)

เจ้าหนี้บังคับให้เราต้องซื้ออย่างอื่นด้วยโดยที่เราไม่เต็มใจ หรือไม่รู้ (แย่กว่ากันเยอะ) หรือเปล่า เช่น บอกว่าถ้าอยากกู้เราต้องทำประกันพ่วงด้วย? ใช้กลเม็ดการขายแบบยัดเยียดหรือเปล่า? (เช่น อยู่ดีๆ ก็ส่งบัตรเครดิตใบใหม่มาให้ที่บ้าน พร้อมจดหมายแสดงความยินดี ทั้งที่ไม่เคยบอกว่าอยากเปิดบัตรอีกใบ) ปิดบัง อำพราง หรือล่อหลอกให้เราเข้าใจผิดหรือเปล่า? (เช่น อ้างว่าดอกเบี้ย 0% สามเดือน โดยไม่คิดให้เราดูว่าภาระดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ที่เท่าไร)

สุดท้าย เจ้าหนี้ให้โอกาสเรา “เปลี่ยนใจ” หลังจากที่ตกลงทำสัญญาไปแล้ว ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมหรือเปล่า (cooling-off period)?

  1. ความเป็นธรรมในการทำสัญญาหนี้

หลังจากที่เราตกลงปลงใจไปกู้เงิน ทำสัญญากับเจ้าหนี้แล้ว เรื่องราวของความเป็นธรรมก็ยังไม่จบ คำถามหลักๆ เกี่ยวกับความเป็นธรรมในชั้นของการทำสัญญาก็มีตั้งแต่ – เจ้าหนี้ทำสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรกับเราหรือเปล่า? (ถ้าไม่ทำ เขาจะตู่เอาอย่างไรก็ได้) สัญญานั้นเขียนด้วยภาษาที่เราเข้าใจได้ ไม่ต้องควานหานักกฎหมายมาแปลให้เป็นภาษาคนหรือเปล่า? อธิบายเงื่อนไขสินเชื่อ และแจกแจงความรับผิดชอบทั้งฝั่งลูกหนี้ และฝั่งเจ้าหนี้อย่างชัดเจนหรือเปล่า?

วันนี้เชื่อว่าเราๆ ท่านๆ หลายคนคงเอือมระอากับการถูกบริษัทประกัน โรงแรม และกิจการอีกร้อยแปดพันเก้าโทรศัพท์มารบเร้าให้ไปใช้บริการ ได้แต่สงสัยแต่ไม่เคยรู้ว่าใครเป็นคนให้เบอร์โทรฯ เราไป ระหว่างค่ายโทรศัพท์มือถือหรือธนาคาร ฉะนั้น “ความเป็นธรรม” ในการทำสัญญาสินเชื่อหรือบริการทางการเงินอะไรก็ตามที่เราต้องบอกข้อมูลส่วนตัว จึงต้องรวมถึงความเป็นธรรมในการขอและใช้ข้อมูลส่วนตัวของเราด้วย คำถามหลักๆ ก็เช่น เจ้าหนี้ขออนุญาตเราอย่างชัดเจนก่อนที่จะใช้ข้อมูลของเราเพื่อการตลาด (ของตัวเอง บริษัทในเครือ และรวมถึงการขายข้อมูลให้บริษัทอื่น) หรือเปล่า? แจ้งนโยบายการใช้และเปิดเผยข้อมูลอย่างชัดเจนในสัญญาหรือไม่? แจ้งสิทธิของเราในการยกเลิกการใช้และเปิดเผยข้อมูลหรือเปล่า?

  1. ความเป็นธรรมในการติดตามหนี้

หลังจากที่ทำสัญญาเงินกู้แล้ว ก็มาถึงเรื่องความเป็นธรรมในการติดตามหนี้ คำถามที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่เรื่องเชิงนโยบาย เช่น เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยอัตราผิดนัด (สูงกว่าดอกเบี้ยปกติ) อย่างยุติธรรมหรือไม่ เช่น สมมุติว่าเราไปชำระหนี้บัตรเครดิตวันที่ 23 ของเดือน ทั้งที่ต้องจ่ายทุกวันที่ 20 คือจ่ายช้าไป 3 วัน เจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยอัตราผิดนัดเฉพาะ 3 วันที่เราจ่ายช้า (ยุติธรรม) หรือว่าคิดตั้งแต่วันที่ 1 (ไม่ยุติธรรม) ? เช็คเด้งเป็นคดีอาญา หรือคดีแพ่ง? (ในเมืองไทยเป็นคดีอาญา) โทษจำคุกที่เกี่ยวข้องกับการผิดชำระหนี้รุนแรงเกินเลยระดับความผิดหรือไม่?

ในการหักเงินในบัญชีเงินฝากเพื่อชำระหนี้คงค้าง กฎหมายอนุญาตให้เจ้าหนี้หักเงินจนถึงขนาดที่เหลือศูนย์ (เราและครอบครัวเดือดร้อน) ได้หรือไม่? (ในไทย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อนุญาตให้นายจ้างหักค่าจ้างและค่าล่วงเวลาของลูกจ้างเพื่อการชำระหนี้ได้ แต่ห้ามไม่ให้หักเกิน 10% และจะหักรวมกันได้ไม่เกิน 20% ของเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง) คนธรรมดาที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว สามารถเข้าสู่กระบวนการล้มละลายโดยสมัครใจ คล้ายกระบวนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทได้หรือไม่? (ในไทยยังไม่มีกฎหมายล้มละลายโดยสมัครใจสำหรับบุคคลธรรมดา มีแต่สำหรับบริษัท)

คำถามเกี่ยวกับความเป็นธรรมในชั้นการทวงหนี้หลายประเด็นเป็นเรื่องวิธีปฏิบัติ เช่น คนทวงหนี้มาทวงด้วยวิธีที่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวหรือไม่? (เช่น ส่งจดหมายทวงหนี้ไปหาที่ทำงาน ตะโกนประจานในที่สาธารณะ โทรมาทวงยามดึกดื่นติดกันหลายวัน) คนทวงหนี้ข่มขู่หรือใช้ความรุนแรงเวลาทวงหนี้หรือไม่? ปลอมจดหมายศาล ปลอมจดหมายทนาย หรือใช้วิธีอื่นให้เราเข้าใจผิดว่าจะถูกยึดทรัพย์หรือดำเนินคดีหรือเปล่า? เจ้าหนี้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ ในการทวงหนี้จากเราหรือเปล่า? คนทวงหนี้ไม่มาทวงหนี้กับเรา แต่ไปทวงกับคู่ครอง พ่อแม่ นายจ้าง หรือญาติพี่น้องหรือไม่?

ในไทย ปัญหาการทวงหนี้โหดและละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวเกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเป็นเวลาหลายปี โดยที่สถาบันการเงินหลายแห่งโบ้ยว่าตัวเองไม่ควรต้องรับผิดชอบใดๆ เพราะเป็นการกระทำของบริษัททวงหนี้เท่านั้น ไม่ใช่พนักงานของสถาบัน (ทั้งที่ตัวเองเป็นฝ่ายควักเงินจ้าง) อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการตรากฎหมาย พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 สถานการณ์ก็ดูจะดีขึ้นเล็กน้อย และคนในสังคมก็รับรู้เรื่องความไม่เป็นธรรมของการทวงถามหนี้มากขึ้น

ส่วนเรื่องความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงหนี้ และความไม่เป็นธรรมในการทำสัญญาหนี้นั้น คงต้องจับตาดูธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะยกระดับการดูแลเรื่องเหล่านี้แค่ไหน อย่างไร ในทศวรรษแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน.