จิม เทเลอร์ (Jim Taylor) และเดบบี้ อัง ดิน (Debbie Aung Din) ร่วมกันก่อตั้งพรอกซิมิตี้ ดีไซน์ (Proximity Designs) กิจการเพื่อสังคมแบบไม่แสวงกำไรขึ้นในประเทศพม่า เมื่อ ค.ศ. 2004 ขณะนั้น พรอกซิมิตี้ ดีไซน์ ยังเป็นเพียงสำนักงานสาขาของ iDE กิจการเพื่อสังคมระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านการนำนวัตกรรมที่ใช้งานง่ายและราคาไม่แพงเข้าสู่ตลาดคนจน เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ด้วยการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร จิมและเดบบี้จึงเริ่มต้นกิจการด้วยการกระจายสินค้าปั๊มน้ำรุ่นใช้เท้าเหยียบของ iDE ไปยังหมู่บ้านในเขตชนบทกว่า 600 แห่งทั่วพม่า
เดบบี้เป็นชาวพม่าที่มีโอกาสเติบโตและทำงานด้านการพัฒนาสังคมในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เธอสนใจประเด็นความยากจนมาตลอด โดยมองว่าเกษตรกรรายย่อยและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในถิ่นทุรกันดารนับหลายล้านคนถือว่าเป็นกระดูกสันหลังหลักของชาติ แต่กลับเป็นจุดศูนย์กลางของความยากจนอย่างที่สุด เมื่อพูดถึงความยากจนในประเทศพม่า
พม่าเพิ่งเปิดประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้มีคนสนใจเข้าไปลงทุนทำธุรกิจ ส่วนความช่วยเหลือจากภาคสังคมก็หลั่งไหลเข้าไปอย่างไม่ขาดสาย ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างก้าวกระโดด แต่คุณภาพชีวิตอันแร้นแค้นของเกษตรกรกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก ใน ค.ศ. 2012 ประชากรพม่ามีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีประมาณ 1,125 เหรียญสหรัฐ[1] ต่ำที่สุดประเทศหนึ่งของเขตเอเชียตะวันออก (รายได้ต่อหัวของประชากรต่อปีโดยเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 5,775 เหรียญสหรัฐ[2]) 69% จากประชากรทั้งหมด 51 ล้านคนยังอาศัยอยู่ในเขตชนบท และ 70% ประกอบอาชีพในภาคการเกษตรตามหมู่บ้านในเขตชนบท คนในหมู่บ้านมีรายได้เฉลี่ยต่อวันประมาณ 1-2 เหรียญสหรัฐ และยังขาดระบบโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป ทำให้การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างหมู่บ้านที่ห่างกันเพียงประมาณ 100 กม. อาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 ชม. เพราะสภาพถนนที่ย่ำแย่ การเดินทางโดยใช้เกวียนและใช้วัวจูงลาก ยังเป็นภาพที่คุ้นตาอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ช่วงมรสุม หลายหมู่บ้านอาจมีน้ำท่วมสูง ถนนลูกรังมีสภาพเละเทะ ชาวบ้านจึงไม่สามารถใช้ถนนในการสัญจรได้ ปัญหาหลักอีกอย่างคือไฟฟ้า ประชากรในประเทศมีไฟฟ้าใช้เพียง 48%[3] ที่เหลือยังใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด เพื่อให้แสงสว่างในตอนกลางคืนเป็นหลัก
“ตอนตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่พม่าในปี 2004 เราคิดว่าจะช่วยเกษตรกรและครอบครัวของพวกเขาเพิ่มผลผลิตได้อย่างไร เพราะปัญหาอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือการชลประทาน เกษตรกรยังใช้วิธีแบบโบราณที่แสนทรมานหลังและต้องทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการรดน้ำพืชผักนอกฤดูมรสุม” เดบบี้ กล่าว[4] เมื่อระบบชลประทานไม่ดี การเพาะปลูกนอกฤดูมรสุมจึงเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะเมื่อประสบปัญหาน้ำแล้ง เกษตรกรก็จะใช้วิธีแบบเดิมที่ทำกันมานับร้อยปี คือการใช้บ่าหาบน้ำจากแหล่งน้ำไปยังที่เพาะปลูก บางคนต้องทนลำบากแบกน้ำบนบ่าข้างละเกือบ 20 กิโลกรัม กว่า 200 เที่ยวต่อวัน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างยิ่ง
บางครอบครัวแบกน้ำเช่นนี้มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย หรือหาบน้ำตั้งแต่ตัวเองยังเด็กจนถึงแก่เฒ่า เนื่องจากหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่มีปั๊มน้ำแบบใช้มอเตอร์หรือไฟฟ้า เพราะมีราคาสูงเกินกว่าที่เกษตรกรจะซื้อได้ หรือหากมีเงินพอซื้อได้ หมู่บ้านนั้นก็อาจไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือราคาของน้ำมันที่ต้องหามาใส่ปั๊มก็สูงเกินไป นี่คือโจทย์แรกที่เดบบี้และจิมต้องหาวิธีแก้
ทั้งสองคนเริ่มหาวิธีเอาปั๊มน้ำแบบใช้เท้าเหยียบมาปรับเปลี่ยนรูปแบบ เพื่อให้เข้ากับวิถีชีวิตของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ที่อื่นๆ ทั่วโลกใช้ปั๊มน้ำเท้าเหยียบมาประมาณ 20 ปีแล้ว โดยไม่ต้องอาศัยพลังงานจากไฟฟ้าหรือน้ำมัน เพราะปั๊มนี้ทำงานได้ด้วยแรงจากสองเท้าของเกษตรกร
อย่างไรก็ดี ปั๊มน้ำเท้าเหยียบที่ใช้กันอยู่ในประเทศอื่นๆ มีราคาสูงเกินไปสำหรับเกษตรกรพม่า และการใช้งานก็ไม่คล่องตัวนัก พรอกซิมิตี้ ดีไซน์ จึงต้องหาวิธีที่จะทำผลิตภัณฑ์นี้ให้ใช้ได้ง่ายขึ้น ราคาถูกลง และตรงกับความต้องการของลูกค้าในพม่า พวกเขานำการออกแบบเข้ามาใช้แก้ปัญหานี้ ด้วยการหาวิธีออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใน 6 เดือนแรก พรอกซิมิตี้ ดีไซน์ ก็เริ่มผลิตสินค้ารุ่นแรกออกสู่ตลาด
“เรามีความคิดสองแบบในการออกแบบปั๊มน้ำลูกผสมนี้ ความคิดแรกคือตัวปั๊มน้ำเองจะเป็นขาหนึ่งในกลไกแบบสามขา และเกษตรกรจะเป็นผู้หาอีกสองขาที่เหลือ โดยใช้ไม้ไผ่ กิ่งไม้ หรืออย่างอื่นที่พวกเขาหาได้ในพื้นที่ เพื่อเอามาใส่ในช่องทั้งสอง” เดวิด คลอส (David Klaus) วิศวกรอาวุโสของ พรอกซิมิตี้ ดีไซน์ กล่าว[5]
ปั๊มน้ำลักษณะนี้จึงใช้ชิ้นส่วนในการผลิตน้อยลง ต้นทุนการผลิตจึงน้อย โดยทีมงานออกแบบยังรักษาคุณภาพในการทำงานของปั๊มเอาไว้ แต่สร้างกลไกการทำงานของปั๊มให้มีการเคลื่อนไหวที่นุ่มนวลขึ้น พวกเขาทดสอบกับหุ่นยนต์นับครั้งไม่ถ้วน เพื่อให้แรงเหยียบใกล้เคียงกับการเหยียบของเกษตรกรพม่ามากที่สุด ผลิตภัณฑ์นี้ช่วยลดความยากลำบากในการผันน้ำเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรทำงานได้ประสิทธิผลมากขึ้น เมื่อพรอกซิมิตี้นำปั๊มน้ำนี้ออกจำหน่าย เกษตรกรจำนวนมากจึงรีบแห่กันมาซื้อ จนกลายเป็นปั๊มน้ำรุ่นที่ขายดีที่สุดตลอดกาลด้วยยอดจำหน่ายกว่า 100,000 ชิ้น
“เมื่อเริ่มต้นกิจการ เราเพียงต้องการจะนำผลิตภัณฑ์ที่ดีมาสู่ครอบครัวเกษตรกร โดยไม่รู้ว่าจะต้องมาทำผลิตภัณฑ์การเงินด้วย แต่เราก็เริ่มคิดได้อย่างรวดเร็วว่า ถ้าจะให้เกษตรกรมีเงินพอซื้อปั๊ม ก็ต้องมีบริการทางการเงิน มีแผนเงินผ่อนด้วย เพราะลูกค้าของเราหาเงินได้แค่วันละ1-2 เหรียญสหรัฐ พวกเขาจึงไม่มีเงินสดที่จะซื้อปั๊มกลับไปได้ทันที” จิมกล่าว[6]ถึงที่มาของบริการทางการเงินที่พรอกซิมิตี้ ดีไซน์ต้องออกแบบขึ้นมาและทำควบคู่ไปกับการขายผลิตภัณฑ์การเกษตร โดยการให้บริการเงินกู้แบบผ่อนชำระเป็นงวดๆ เพื่อให้เกษตรไม่ต้องวางเงินต้นจำนวนมาก และสามารถทยอยจ่ายเงินคืนได้ในช่วง 4-5 เดือน
ปั๊มน้ำเท้าเหยียบราคา 20 เหรียญสหรัฐ ช่วยเพิ่มรายได้สุทธิให้เกษตรกรประมาณ 200 เหรียญสหรัฐเมื่อสิ้นฤดูกาลเพาะปลูก เกษตรกรจึงเข้าสู่ภาวะ “คืนทุน” อย่างรวดเร็ว การผ่อนชำระเงินได้รับการออกแบบโดยยึดลักษณะการเพาะปลูกของเกษตรกรเป็นหลัก เช่น รอบชำระของเกษตรกรที่ปลูกหมาก อาจไม่เหมือนเกษตรกรที่ปลูกข้าว และระยะเวลาชำระหนี้จึงสั้นยาวไม่เท่ากัน เพราะพวกเขามีความเข้าใจว่า รายได้ที่เข้ามาของเกษตรกรแต่ละประเภทขึ้นอยู่กับฤดูกาลเพาะปลูก
บริการเงินกู้นี้ นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรมีเงินพอซื้อปั๊มน้ำแล้ว ยังกลายเป็นแหล่งเงินกู้สำคัญ และทำให้ชาวบ้านไม่ต้องพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ ซึ่งบางรายเก็บดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20-30 ต่อเดือน แต่ก็ยังเป็นแหล่งเงินกู้หลัก เพราะพื้นที่ชนบทของประเทศพม่ามักจะกันดารเกินกว่าที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะเข้าไปให้บริการ
ปัญหาอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการเพิ่มผลผลิตการเกษตรนอกเหนือไปจากปัญหาชลประทานก็คือ เกษตรกรขาดความรู้ในการเพาะปลูก เช่น การกำจัดศัตรูพืช การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ และการจัดการดิน ทั้งหมดส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้อย คุณภาพด้อย และขายได้ราคาต่ำ ซึ่งยิ่งทำให้พวกเขามีรายได้น้อยลง เมื่อเรียนรู้ปัญหาที่เกิดหน้างาน พรอกซิมิตี้ ดีไซน์ จึง “ออกแบบ” บริการให้คำปรึกษาด้านการเพาะปลูก ด้วยการนำองค์ความรู้ที่ไม่ยุ่งยากเข้าไปสอนเกษตรกร พวกเขามองไปถึงปัญหาการขาดโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การขาดแคลนไฟฟ้าทำให้ขาดแสงสว่างในตอนกลางคืน พรอกซิมิตี้ ดีไซน์ จึงนำตะเกียงพลังงานแสงอาทิตย์ของดีไลท์ ดีไซน์ (d.light Design) กิจการเพื่อสังคมอีกแห่ง ที่ขายอยู่ในตลาดที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เกือบทั่วโลก มาจำหน่ายในประเทศพม่า แสงสว่างจากตะเกียงของดีไลท์สร้างโอกาสให้ลูกค้าหลายรายสามารถทำงานเพิ่มในช่วงกลางคืนได้ เช่น ออกไปหาปลา แปรรูปวัตถุดิบการเกษตร ส่วนผดุงครรภ์ก็สามารถออกไปเยี่ยมเยียนดูแลผู้ป่วย และนักเรียนก็อ่านหนังสือตอนกลางคืนได้
นอกจากนี้การให้บริการของ พรอกซิมิตี้ ดีไซน์ ยังขยายไปถึงการสนับสนุนเงินกู้แก่ชุมชนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน เช่น ถนนและสะพาน
ในตอนหน้าจะมาดูกันว่า หลังจากพยายาม “ออกแบบ” เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่หลายมิติแล้ว ผลลัพธ์ทางสังคมที่ พรอกซิมิตี้ ดีไซน์ สร้างได้สำเร็จมีอะไรบ้าง และหัวใจที่พวกเขายึดถือในการทำงานกับกลุ่มเกษตรกรในชนบทคืออะไร
[1] https://data.un.org/CountryProfile.aspx?crName=MYANMAR เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2558
[2] https://data.un.org/CountryProfile.aspx?crName=Thailand เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2558
[3] http://data.worldbank.org/indicator/EG.ELC.ACCS.ZS/countries/MM-4E-XM?display=graph เข้าถึงเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2558
[4] https://www.youtube.com/watch?v=DaTuVZCJuqE เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2558
[5] https://www.youtube.com/watch?v=DaTuVZCJuqE เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2558
[6] https://www.youtube.com/watch?v=DaTuVZCJuqE เข้าถึงเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2558