หากคุณเป็นฝ่ายบุคคลที่ต้องเฟ้นหาพนักงานใหม่จากเอกสารสมัครงานกองโต แล้วพบมีใบสมัครใบหนึ่งระบุว่า เขาหรือเธอเคยเป็นนักโทษ แต่ปัจจุบันอยากทำงานเพื่อเริ่มต้นชีวิตอีกครั้ง คุณคงนำใบสมัครใบนั้นไปไว้ในลำดับท้ายๆ หรือไม่ก็คัดทิ้ง เพราะมีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่า
การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเรา (รวมถึงตัวผู้เขียนเอง) คงรู้สึกไม่สบายใจหากทราบว่า ใครในที่ทำงานเดียวกันเป็นอดีตอาชญากรที่ผ่านร้อนผ่านหนาวหลังตะรางเหล็กมาหลายปี เผลอๆ บางทีอาจซ้อนภาพเขาหรือเธอกับฆาตกรต่อเนื่อง หรือพวกติดยาเสพติดอย่างหนัก และคาดเดาว่าพวกเขาย่อมไร้การศึกษา
ไม่ใช่อดีตนักโทษทุกคนที่ต้องการเปลี่ยนชีวิตตัวเอง แต่หลายคนก็อยากจะเริ่มชีวิตใหม่ โดยต้องการเพียงโอกาสที่เขาจะได้มีอาชีพสุจริต และหาเลี้ยงชีพเฉกเช่นปุถุชนทั่วไป ทั้งนี้สถิติในสหรัฐอเมริกาพบว่า อดีตนักโทษที่ก่อความผิดและถูกจับเข้าคุกอีกครั้ง กว่าร้อยละ 95 ไม่มีงานทำ
ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2536 องค์กรไม่แสวงหากำไร Rubicon Bakery ถูกตั้งขึ้นภายใต้ Rubicon Program ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมือง Richmond รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ไขปัญหาอดีตนักโทษกลับมาทำความผิดอีกครั้ง โดยจัดอบรมด้านอาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้ รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้าน และผู้มีปัญหาทางจิตใจ
แอนดรูว์ สโตลอฟ ผู้บริหาร Rubicon Bakery บริษัทที่จ้างคนชายขอบเช่น อดีตนักโทษ หรือผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ เข้ามาเป็นพนักงาน (ภาพจาก http://www.csmonitor.com/)
แต่ความล้มเหลวทางธุรกิจของ Rubicon Bakery ที่ขณะนั้นมีพนักงานแบบชั่วคราว 14 คน และอุปกรณ์อบขนมปังที่มีอายุราว 20 ถึง 30 ปี Rubicon Program จึงตัดสินใจขายธุรกิจนี้ โดยมีแอนดรูว์ สโตลอฟ (Andrew Stoloff) นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จในกิจการร้านอาหาร เป็นผู้ประเมินราคา และหาคนรับช่วงธุรกิจต่อ ในปี พ.ศ.2551
ในขณะที่ศึกษาโครงสร้างธุรกิจการทำเบเกอรี่ และพยายามขายธุรกิจที่มีเงื่อนไขเพียงหนึ่งเดียวคือต้องยึดมั่นในพันธกิจการสร้างงานแก่คนชายขอบ หลังจากพยายามขายอยู่หลายเดือนโดยไม่มีใครสนใจ แอนดรูว์ ก็ตัดสินใจซื้อกิจการ Rubicon Bakery เอาไว้เอง เนื่องจากตกหลุมรักพันธกิจในการยกระดับชีวิตของพนักงานที่เป็นอดีตนักโทษและเหล่าคนชายขอบขององค์กร ท่ามกลางเสียงห้ามปรามของเพื่อนนักธุรกิจและครอบครัว
เมื่อครั้งที่ Rubicon Bakery ยังเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่นี่ไม่เคยลงทุนในเครื่องจักรสำหรับธุรกิจเกิน 10,000 เหรียญสหรัฐฯ เพราะมองว่าตัวเองเป็นเพียงศูนย์ฝึกอบรม และจะมีลูกจ้างเข้ามาฝึกฝนความชำนาญเพียงไม่กี่เดือน ก่อนจะลาออกไปสู่ตลาดแรงงาน
แอนดรูว์มองว่านี่คือจุดอ่อนในทางธุรกิจ และลงทุนเป็นเงินราว 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการซื้อเครื่องจักรใหม่ จับมือเป็นคู่ค้ากับ Whole Foods บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะรับสินค้าจาก Rubicon Bakery ปัจจุบัน Rubicon Bakery มีลูกจ้างเต็มเวลามากถึง 105 คน และมีรายได้ชั่วโมงละ 8.5 – 24 เหรียญ รวมถึงได้รับประกันสุขภาพ มีวันหยุดตามกฎหมาย และสามารถเข้าถึงเงินกู้พนักงานที่ไม่มีดอกเบี้ย ส่วน Rubicon Bakery มียอดขายปีละกว่า 8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ภายใต้พันธกิจว่า “จะรับใครก็ตามที่มีความตั้งใจทำงาน โดยพร้อมที่จะฝึกฝนพวกเขาทำงานให้กับเราได้”
การดำเนินธุรกิจที่หยิบยื่น “โอกาสครั้งใหม่” ให้กับคนชายขอบ แอนดรูว์อธิบายว่า Rubicon Bakery มีอัตราการเปลี่ยนแรงงานใหม่ราวร้อยละ 15 ต่อปี นับว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับบางอุตสาหกรรมที่อาจจะมีการเปลี่ยนแรงงานสูงถึงร้อยละ 100 ต่อปี
“ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่มาทำงานกับเราแล้วไปกันได้” แอนดรูว์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CS Monitor “แต่หากตั้งใจจริง พวกเขาจะกลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่ามากขององค์กร”
แน่นอนว่า การจ้างอดีตนักโทษเข้ามาเป็นพนักงานย่อมสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ในแง่การลดการทำผิดซ้ำซ้อนของอดีตนักโทษ แต่ในแง่ธุรกิจ หลายคนอาจสงสัยถึงคุณค่าที่พนักงานเหล่านั้นสร้างให้กับองค์กร แต่นิตยสารหลายเล่มระบุว่าพวกเขาสามารถทำเช่นนั้นได้ โดยนิตยสาร Business Insider ได้สรุปประโยชน์ทางธุรกิจจากการจ้างอดีตนักโทษเป็นพนักงานไว้ 4 ข้อ ดังนี้
- พวกเขาจะมองหาคุณก่อนที่คุณจะมองหาเขา เนื่องจากอดีตนักโทษมักจะประสบปัญหาในการหางานใหม่หลังจากพ้นโทษ พวกเขาจะยินดีมากหากมีใครหยิบยื่นโอกาสให้กับเขา
- ขณะที่อยู่ในคุก นักโทษส่วนใหญ่จะได้รับโอกาสในการฝึกอาชีพ การเรียนเพื่อรับใบรับรองหรือใบปริญญา ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างมูลค่าในกับบริษัทแล้ว ยังเป็นการยืนยันถึงระเบียบวินัยและการทำงานหนัก
- พวกเขาจะอยู่กับคุณนานกว่าคนทั่วไป เพราะเขาจะมองว่านี่คือโอกาสในการเริ่มชีวิตใหม่
- คุณจะได้ผลประโยชน์ทางภาษี หากคุณจ้างอดีตนักโทษที่เพิ่งออกจากคุกไม่เกิน 1 ปี ตามนโยบายเครดิตภาษีจากการสร้างโอกาสทางการงาน (Work Opportunity Tax Credit) โดยจะให้เครดิตภาษีแก่บริษัทสูงสุดถึง 2,400 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อปี
สิ่งสำคัญสำหรับการเริ่มต้นรับพนักงานที่เป็นอดีตคนชายขอบคือ ‘เปิดใจ’ โดยลบล้างทัศนคติเดิมๆ ว่าพวกเขายังเป็นคนเดิมกับในอดีตที่เคยทำผิดพลาด และเปิดโอกาสโดยเชื่อมั่นในศักยภาพการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะสามารถตอบโจทย์ทั้งทางด้านธุรกิจ และเปลี่ยนชีวิตคนเหล่านั้นให้กลับมายืนหยัดอย่างสง่างามได้ โดยมีฐานะที่ทัดเทียมกับคนอื่นๆ ในสังคม
เอกสารประกอบการเขียน
“4 Reasons Why Your Small Business Should Hire An Ex-Convict”
“Andrew Stoloff’s Rubicon Bakery gives a second chance to ex-cons”