Better

    3 ทศวรรษที่ผ่านมา สัดส่วนของเด็กที่เป็นโรคอ้วนในสหรัฐอเมริกาเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 เท่า และปัจจุบัน 1 ใน 3 ของเด็กทั่วประเทศประสบปัญหา ‘น้ำหนักเกิน’ ที่อาจนำไปสู่โรคหัวใจ เบาหวาน ปัญหาทางเดินหายใจ ทำให้สูญเสียความมั่นใจ และมีแนวโน้มสูงที่เด็กอ้วนเหล่านี้จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่อ้วนในอนาคต

                สหรัฐอเมริกาจึงพยายามต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวอย่างมาก ดังเช่นโครงการรณรงค์ Let’s Move ของคุณแม่หมายเลขหนึ่ง มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) และรายการโทรทัศน์ Jamie Oliver’s Food Revolution ของเชฟชื่อดังจากประเทศอังกฤษ เจมี่ โอลิเวอร์ (Jamie Olivers) ที่พยายามแก้ไขปัญหาสุขภาพและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินอาหารของเด็กอเมริกัน โดยปฏิรูปอาหารกลางวันในโรงเรียนด้วยการคิดค้นสูตรอาหารใหม่ๆ

                 แต่ความพยายามดังกล่าวอาจยังไม่เพียงพอ จากการวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2554 นำโดย ดร.คิม เอ อีเกิล (Dr. Kim A. Eagle) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า นักเรียนที่กินอาหารกลางวันที่โรงเรียนมีโอกาสที่จะอ้วนมากกว่านักเรียนที่นำอาหารกลางวันมาจากบ้านถึงร้อยละ 29 เพราะอาหารที่โรงเรียนจัดให้ไม่มีส่วนประกอบของผักผลไม้มากเท่าที่ควร และหลายโรงเรียนก็มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะจัดซื้ออาหารกลางวันคุณภาพสูงให้กับนักเรียน

                แม้รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ จะยกระดับมาตรฐานของอาหารภายในโรงเรียนพร้อมทั้งสนับสนุนด้านงบประมาณ แต่อาหารที่เสิร์ฟให้กับเด็กๆ ก็ยังมีหน้าตาไม่ต่างจากอาหารกล่องบนเครื่องบิน ซึ่งมาจากศูนย์การผลิตอาหารขนาดใหญ่ บางส่วนถูกนำไปแช่แข็งแล้วจึงกระจายไปทั่วประเทศ หลังจากอาหารถึงที่หมายก็จะถูกนำมาอุ่นก่อนเสิร์ฟ ขั้นตอนทั้งหมดการันตีว่าอาหารจะราคาถูก แต่แน่นอนว่าการผลิตแบบนี้ย่อมส่งผลถึงรสชาติ ความสดใหม่ ที่สำคัญคือสารอาหารที่อาจหายไประหว่างกระบวนการ

ourstory

คริสติน ริชมอนด์ (Kristin Richmond) และ เคิร์สทิน โทบี (Kirsten Tobey) สองผู้ก่อตั้ง Revolutions Food

                 เมื่อปัญหาอยู่ที่อาหาร สองหญิงสาวที่ทำงานใกล้ชิดกับนักเรียนก็มองเห็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลง จึงตั้งกิจการเพื่อสังคม Revolutions Food เมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยมีพันธกิจเพื่อปฏิวัติอาหารในรั้วโรงเรียนให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะเธอเชื่อว่าเด็กทุกคนควรได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

                  คริสติน ริชมอนด์ (Kristin Richmond) และ เคิร์สทิน โทบี (Kirsten Tobey) เริ่มต้นการปฏิวัติอาหารด้วยเงินลงทุนตั้งต้นราว 15 ล้านบาท โดยเริ่มส่งอาหารไปยังโรงเรียนภายในรัฐแคลิฟอร์เนียราว 1,000 ชุดต่อวันในปีแรก ก่อนจะก้าวกระโดดเป็นส่งอาหาร 1,000,000 ชุดต่อสัปดาห์ให้ 1,000 โรงเรียนทั่วสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

                  โรงเรียนส่วนใหญ่ที่ Revolutions Food ให้บริการเป็นโรงเรียนรัฐ นั่นหมายความว่า Revolutions Food ต้องเผชิญความท้าทายในการลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำกว่า 3 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อชุด ตามกรอบนโยบาย National School Lunch Program โดยยังต้องใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงและดีต่อสุขภาพ

                    ที่สำคัญ อาหารของ Revolutions Food ต้องอร่อย!

                     จากสถิติ แทบทุกโรงเรียนที่ใช้บริการ Revolutions Food มีสัดส่วนนักเรียนที่กินอาหารกลางวันฟรีมากขึ้น เช่นใน Democracy Prep Charter School ย่าน Harlem ทางตอนเหนือของกรุงนิวยอร์ก ที่มีสัดส่วนนักเรียนกินอาหารกลางวันจากเดิมไม่ถึงครึ่ง เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 85  โดยเคล็ดลับในการมัดใจเด็กๆ ก็คือ การให้เด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบอาหาร ทดลองชิม ติชม ให้คำแนะนำ ที่สำคัญคือการสร้างความเชื่อมั่นว่าอาหารของบริษัท ‘อร่อย’ และ ‘น่ากิน’ ซึ่งความมั่นใจในแบรนด์นี่เองที่ทำให้เด็กๆ กล้ากินอาหารแปลกใหม่อย่างถั่วลิมา อย่างไรก็ดี Revolutions Food ยังได้รับรายงานเรื่องอาหารที่เด็กๆ เหลือทิ้งทุกวัน ทำให้ต้องส่งพนักงานไปทำการแนะนำอาหารชนิดนั้นๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการรับประทาน และเพิ่มความรู้ด้านโภชนาการ

                    นอกจากโจทย์ในการมัดใจเด็กๆ ความท้าทายในพันธกิจของ Revolutions Food ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบริษัทได้ตั้งเงื่อนไข “อาหารที่ดีต่อสุขภาพ” ไว้ค่อนข้างรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารสดใหม่ทุกวัน รวมถึงมีส่วนประกอบของผักและผลไม้สด โดยต่อต้านอาหาร ‘ปลอม’ อย่างเนื้อและนมที่ใช้ฮอร์โมนเร่งการเติบโตหรือยาปฏิชีวนะ อาหารที่แต่งสี แต่งกลิ่น แต่งรส ใส่สารกันบูด มีส่วนผสมของไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือน้ำตาลข้าวโพด ซึ่งมีฟรักโตสสูง

                  ผู้บริหารของ Revolutions Food ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากมากๆ ในการพยายามใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงภายใต้กรอบงบประมาณที่จำกัดคือ 3 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อชุด แต่ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ Revolutions Food พยายามลดต้นทุนโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น และตั้งศูนย์การผลิตประจำภูมิภาคเพื่อสร้างการประหยัดต่อขนาด จนทำให้ยอดขายในปี พ.ศ. 2555 สูงถึง 2,000 ล้านบาท แต่บริษัทฯก็ยังไม่มีกำไรmeal kits

                เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัทจึงออกสินค้า Revolution Foods Meal Kits เพื่อวางขายในร้านสะดวกซื้อ เป็นอาหารคุณภาพเพื่อสุขภาพแบบพกง่ายและทำง่ายสำหรับเด็ก และเป็นความหวังว่าจะทำกำไรให้ Revolutions Food

                Real Food for All  คือสโลแกนของบริษัท ที่ตั้งมั่นจะเปลี่ยนแปลงมื้ออาหารกลางวันสำหรับเด็กในโรงเรียน ให้ดีต่อสุขภาพและถูกต้องตามหลักโภชนาการอย่างน้อยร้อยละ 80 ทั่วสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งเสริมสร้างพฤติกรรมการกินอาหารเพื่อสร้างอนาคตที่สุขภาพดี

real for all

                 ความมุ่งมั่นของสองสาวใน Revolution Foods นอกจากจะทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดแล้ว ยังดึงดูดนักลงทุนอย่างกองทุน Revolution Growth ที่ก่อตั้งโดย สตีฟ เคส (Steve Case) ซึ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจที่จะสร้างสังคมที่ดีกว่าในระยะยาว และบริษัท Revolution Foods เองก็ได้รับเครื่องหมาย certified B ของ B Corporation เพื่อยืนยันว่าเป็นกิจการเพื่อสังคมที่มีคุณภาพทั้งในด้านแรงงาน ธรรมาภิบาล สังคม และสิ่งแวดล้อม

                คงต้องติดตามกันต่อไปว่า Revolution Foods จะไปถึงเป้าหมายในการส่งเสริมให้เยาวชนอเมริกันบริโภคอาหารที่เป็นประโยชน์ได้หรือไม่ ในสังคมสหรัฐฯที่อาหารขยะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม

อ่านเพิ่มเติมได้ที่

http://revolutionfoods.com/

http://www.bcorporation.net/community/revolution-foods

http://www.economist.com/news/united-states/21577098-new-company-trying-make-school-meals-healthier-biting-commentary

http://www.letsmove.gov/learn-facts/epidemic-childhood-obesity