second bite

ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนเคยผ่านประสบการณ์ซื้ออาหารปรุงสำเร็จ ผักผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ มาเก็บไว้ในตู้เย็นและปล่อยปละละเลยจนเน่าเสีย หลายคนอาจคิดว่าไม่เป็นไร เพราะเราเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในสังคม แต่โลกจะสูญเสียทรัพยากรอาหารไปเท่าไร หากมีอีกนับพันล้านครอบครัวที่ทำแบบเรา

จากรายงานการศึกษาของประเทศอังกฤษพบว่า อาหารบนโลกปีละราว 1.2 ถึง 2 ล้านตันเดินทางลงสู่ถังขยะโดยไม่เคยได้เสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร วัตถุดิบที่ประสบชะตากรรมเหล่านั้นส่วนหนึ่งมาจากครัวเรือน แต่ส่วนมากจะมาจากร้านค้าปลีก ซึ่งจะต้องทิ้งสินค้าที่ ‘ไม่ผ่านมาตรฐานความสวย’ ของร้านค้าปลีกในประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงสินค้าซึ่งเกินอายุบนชั้นวาง (Shelf Life) ที่แม้จะยังทานได้ แต่ก็จำเป็นต้องทิ้งตามนโยบายของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่

ปัญหาขยะอาหารที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นความจริงที่น่าขมขื่น เพราะประเทศที่ร่ำรวยใช้ชีวิตราวกับไม่มีผู้คนอดอยากหรือขาดสารอาหารบนโลก โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติประมาณการว่า ในแต่ละปีอาหารที่ถูกทิ้งขว้างจากประเทศพัฒนาแล้วมีปริมาณเท่ากับอาหารที่ผลิตได้ในทวีปแอฟริกาใต้

นอกจากนี้รายงานการวิจัยยังพบว่า การฝังกลบขยะอาหารก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 21 เท่า ขณะที่เหล่าบริษัทค้าปลีกต้องรับภาระค่าจัดการขยะเป็นเงินมีมหาศาล ส่วนผู้ขาดแคลนตามเมืองใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วยังต้องการอาหารจำนวนมาก

ปี พ.ศ. 2548 “Secondbite” หรือ “คำที่สอง” องค์กรไม่แสวงหากำไรสัญชาติออสเตรเลีย จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อเป็น “สะพาน” เชื่อมคนสองกลุ่มนี้เข้าด้วยกัน โดยในแต่ละปี Secondbite ได้ส่งอาหารสดใหม่และมีสารอาหารครบถ้วนกว่า 7 ล้านกิโลกรัม ไปบรรเทาความหิวโหยของประชาชนผู้ขาดแคลนรวม 14 ล้านมื้อทั่วออสเตรเลีย รวมทั้งมีพันธกิจในการส่งเสริมความสามารถในการปรุงอาหารและความรู้ทางโภชนาการแก่ชุมชนอีกด้วย

secondbite

Secondbite ทำหน้าที่เป็นสะพานรวบรวม ‘อาหารส่วนเกิน’ จากเกษตรกร ผู้ค้าส่ง ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า รวมถึงงานกิจกรรมต่างๆ ที่อาจมีอาหารเกินความต้องการ แล้วจัดส่งต่อไปยังตัวแทนของชุมชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ตัวแทนนำไปกระจายต่อให้กับกลุ่มคนที่ขาดแคลน เช่น คนไร้บ้าน ครอบครัวที่อยู่ภาวะวิกฤติ เยาวชนกลุ่มเสี่ยง ผู้ลี้ภัย รวมถึงชาติพันธุ์ท้องถิ่น

เมื่อปี พ.ศ. 2555 องค์กรไม่แสวงหากำไร Social Ventures Australia (SVA) ได้ทำการประเมินผลตอบแทนทางสังคมของ Secondbite ว่า ทุกๆ การลงทุน 1 ดอลลาร์ออสเตรเลียจะได้ผลตอบแทนเท่ากับ 2.75 ดอลลาร์ออสเตรเลีย นับว่าเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูงในการสร้างผลลัพธ์ให้กับสังคม

ว่าแต่ ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน หรือ Social Return on Investment (SROI) คืออะไร ?

หลายคนคงคุ้นเคยกับผลตอบแทนจากการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกิจการหรือตราสารทางการเงิน ซึ่งมีการเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนที่ใส่ลงไปกับผลตอบแทนที่จะได้มาในอนาคต แนวคิดดังกล่าวได้ถูกนำมาดัดแปลงเล็กน้อยโดยใส่ปัจจัย ‘สังคม’ เข้าไปเป็นส่วนประกอบ สร้างเป็นมาตรวัดใหม่ที่เรียกว่าผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวัดผลลัพธ์ทางสังคมขององค์กรไม่แสวงหากำไร หรือโครงการเพื่อสังคมของบริษัททั่วไป

เครื่องมือนี้มีประโยชน์ชัดเจนในแง่การสื่อสารและส่งสารด้านการลงทุนเพื่อสังคม ซึ่งที่ผ่านมาโครงการเพื่อสังคมขาด ‘มาตรวัด’ ด้านประสิทธิภาพ จนบางครั้งถูกตั้งคำถามว่า องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือโครงการหนุนเสริมต่างๆ โดยภาคเอกชนนั้น สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนจริงหรือไม่

ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้ พาผู้อ่านไปทำความรู้จัก SROI ผ่านกรณีศึกษาของ Secondbite ในปี 2555 ว่า ตัวเลขผลตอบแทน 2.75 ดอลลาร์ ต่อการลงทุน 1 ดอลลาร์นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร

ขั้นตอนแรกของการประเมิน SROI คือการศึกษาผลลัพธ์ของ Secondbite ผ่านคำบอกเล่าของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ภายใต้แนวคิดที่ว่า การทำงานของ Secondbite นั้นทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

จากรายงานของ SVA ได้มีการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของ Secondbite และผลลัพธ์ทางสังคมดังนี้

  • ตัวแทนรับมอบอาหาร (Food agencies)

ตัวแทนรับมอบอาหารทำหน้าที่เชื่อมต่อ Secondbite กับผู้ขาดแคลนในชุมชน โดยในปี 2555 Secondbite ได้ส่งมอบอาหารให้กับชุมชน 550 แห่ง รวมทั้งสิ้น 2.5 ล้านกิโลกรัม ทั้งในรูปของวัตถุดิบสดใหม่ และอาหารปรุงสำเร็จ

  • ผู้บริจาคอาหาร (Food donors)

ผู้บริจาคอาหารถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของ Secondbite โดยมีร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Coles Supermarkets เป็นผู้บริจาคกว่าร้อยละ 60 โดย Coles ระบุว่ามีสาขาที่ร่วมบริจาคอาหารสูงถึง 363 แห่ง

แม้จะเป็นการบริจาคโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน แต่ผู้บริจาคอาหารที่เข้าร่วมกับ Secondbite พบว่าพวกเขาสามารถเติมเต็มพันธกิจในการช่วยเหลือสังคม นอกจากนี้ ยังช่วยลดปริมาณขยะ และต้นทุนในการจัดเก็บขยะอีกด้วย โดยช่วยประหยัดต้นทุนการจัดเก็บราว 2,788 ครั้ง

Coles-Community-Banner-NEW2Coles Community Food เป็นโครงการอาหารที่ Coles จะทำการส่งมอบให้กับชุมชน ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กร Secondbite

  • สำนักงานความยั่งยืน สิ่งแวดล้อม น้ำ ประชากร และชุมชน (Department of Sustainability, Environment, Water, Population and Communities: DSEWPaC)

DSEWPaC เป็นองค์กรภาครัฐที่รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียเนื่องจากได้รับผลลัพธ์เชิงบวกจากการดำเนินงานของ Secondbite ที่เปลี่ยนขยะอาหาร ซึ่งกำลังจะถูกนำไปฝังกลบ ให้เกิดประโยชน์ ถือเป็นการลดต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เพราะการฝังกลบขยะอาหารจะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล ขณะที่การดำเนินการของ Secondbite ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 4,451 ตัน

  • นักลงทุน (Financial Investors)

Secondbite เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรจึงต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากภายนอกเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน การจัดซื้อคลังกระจายอาหาร และยานพาหนะในการขนส่ง โดยได้รับเงินบริจาคทั้งสิ้นราว 3.5 ล้านดอลลาร์ในปี 2555

  • อาสาสมัคร (Volunteers)

อาสาสมัครเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อ Secondbite โดยอาสาสมัครเหล่านี้จะทำหน้าที่ส่งอาหารจาก Secondbite ไปให้กับตัวแทนในแต่ละชุมชน

ในปี 2555 Secondbite มีอาสาสมัครทั้งสิ้น 620 คนทั่วประเทศออสเตรเลีย คิดเป็นชั่วโมงทำงานรวม 24,000 ชั่วโมงตลอดปี

ขั้นตอนต่อไปคือการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์แปลงค่าเหล่านี้ให้กลายเป็นมาตรวัดสากลคือ ‘เงิน’ โดยอาจอ้างอิงจากราคาตลาด ต้นทุนจากการสอบถาม หรืออ้างอิงจากงานวิจัย ซึ่งในการประเมิน SROI หลายครั้งจะต้องคำนวณมาจากค่าแทนทางการเงิน (Financial Proxy) เนื่องจากผลลัพธ์บางประการไม่สามารถวัดค่าได้โดยตรง เช่น ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดีขึ้น เป็นต้น

สำหรับ Secondbite  มูลค่าเงินลงทุนและผลลัพธ์ที่จัดทำโดย SVA สามารถสรุปได้ดังตารางด้านล่าง

ผลลัพธ์

มูลค่า ($’000)

สัดส่วน (%)

ผลลัพธ์ที่ 1: การส่งมอบอาหารสดใหม่ให้กับชุมชน

9,837

97

ผลลัพธ์ที่ 2: ลดค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บขยะ

223

2

ผลลัพธ์ที่ 3: ลดผลกระทบจากการฝังกลบขยะอาหาร

102

1

รวม

10,162

100

เงินลงทุน

มูลค่า ($’000)

สัดส่วน (%)

เงินลงทุน 1: เงินสนับสนุน

3,510

95

เงินลงทุน 2: เวลาของอาสาสมัคร

170

5

รวม

3,680

100

หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วต้นทุนอาหารที่บริจาคนั้นหายไปไหน ผู้ทำรายงานได้ระบุว่า ในมุมมองของผู้บริจาค อาหารเหล่านั้นมีมูลค่าเป็นศูนย์ หรืออาจมีมูลค่าติดลบ เนื่องจากหากไม่มี Secondbite อาหารเหล่านี้ก็จะกลายเป็นขยะ โดยที่ผู้บริจาคต้องเสียเวลาและต้นทุนในการจัดเก็บ

ขั้นตอนสุดท้ายคือการคำนวณสัดส่วนผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน โดยการนำมูลค่าผลลัพธ์ที่ได้คือ 10.2 ล้านดอลลาร์ มาหารด้วยมูลค่าเงินลงทุนคือ 3.7 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะได้ 2.75 พอดิบพอดี

SROI Ratio

ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนผลตอบแทนของ Secondbite ว่าเงินลงทุนในกิจกรรมส่งอาหาร 1 ดอลลาร์สามารถสร้างผลลัพธ์ต่อสังคมได้สูงถึง 2.75 ดอลลาร์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงสะท้อนประสิทธิภาพของโครงการ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและสร้างผลดีให้กับสังคมอย่างแท้จริง

Secondbite จัดเป็นตัวอย่างการดำเนินการขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีโครงสร้างไม่ซับซ้อน และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนไม่มากนัก จึงถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำความเข้าใจกระบวนการและความหมายของ SROI ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับองค์กรทุกรูปแบบ โดยต้องคำนึงถึงพันธกิจ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงของแต่ละองค์กรหรือแต่ละโครงการ

ในประเทศไทย เครื่องมือ SROI ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่และยังต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอีกมาก แต่ในอนาคตหากเครื่องมือทรงพลังอย่าง SROI นี้แพร่หลาย องค์กรทุกรูปแบบก็จะแอบอ้างว่าสิ่งที่พวกเขาทำมีประโยชน์ลอยๆ ไม่ได้ แต่ต้องแสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ว่า สิ่งที่ทำมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและคุ้มทุนกับจำนวนเงินที่ลงทุนไปอย่างไร

หมายเหตุ สกุลเงินที่ระบุในบทความคือดอลลาร์ออสเตรเลียซึ่งมีค่าประมาณ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ออสเตรเลีย

เอกสารประกอบการเขียน

Secondbite casestudy – Social Ventures Australia

Secondbite