บ้านพักของ Janet และ Robert ที่กู้สินเชื่อ C-Change Energy Improvements เพื่อติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์

 ‘ทุนสามานย์’ คำตราหน้าที่เริ่มใช้กันจนชินหูสำหรับนายทุนที่ในสายตาของบางคน พวกเขาไม่ต่างจากผู้ร้ายที่คอยกัดกลืนทรัพยากรธรรมชาติจากชนบท ก่อนจะแปลงรูปเปลี่ยนร่างให้กลายเป็นปัจจัยดำรงชีพของคนเมือง โดยมีนายธนาคารผู้ปล่อยสินเชื่ออยู่เบื้องหลังการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

                เราต่างยึดติดกับภาพลบของเงินกู้และเงินทุนเพื่อการพัฒนา ป้ายสีเทาให้วงการธุรกิจพลางกล่าวโทษว่าที่โลกเข้าใกล้ภาวะล่มสลายก็เพราะความเฟื่องฟูของระบอบทุนนิยม

                ยากจะปฏิเสธว่าระบอบทุนนิยมไม่ได้มีส่วนเร่งรัดการทำลายล้าง แต่ในทางตรงกันข้าม ระบอบดังกล่าวก็อาจช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน

                ถึงตรงนี้หลายคนอาจทำหน้าสงสัย ทุนนิยมหรือเงินกู้จะช่วยโลกได้อย่างไร?

                 ผู้เขียนขอแนะนำให้รู้จักสถาบันการเงินเพื่อสังคมสัญชาติอังกฤษ Ecology Building Society ที่ดำเนินการมากว่า 34 ปี ปัจจุบันมีสินทรัพย์ราว 120 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยไม่ได้มุ่งหมายในการทำกำไรสูงสุด แต่มุ่งเน้นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในประเทศอังกฤษ ผ่านการปล่อยสินเชื่อสีเขียวเพื่อบ้านหรือโครงการที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

Ecology_Building_Society

                ส่วนสินเชื่อสีเขียวคืออะไร? แน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่ใบสัญญาที่ปรินต์ลงบนกระดาษรีไซเคิล!

                สินเชื่อหลักที่ Ecology เชี่ยวชาญคือการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยซึ่งจะใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างที่เป็นไปตามมาตรฐานความยั่งยืน เช่น Passivhaus และ Code for Sustainable Homes สินเชื่อเพื่อการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบ้านให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น โดยการติดตั้งระบบพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการสร้างบ้านที่อยู่อาศัยร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน รวมไปถึงการสร้างบ้านที่ใช้วัสดุในท้องถิ่นหรือวัสดุที่สามารถผลิตทดแทนได้ เช่น บ้านจากฟาง หรือบ้านดิน โดยมีคำแนะนำเพื่อบ้านที่ยั่งยืน ซึ่งเผยแพร่เมื่อ ปี พ.ศ. 2556 สำหรับมือใหม่ที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง

                ว่าแต่ ทำไมเราต้องมีบ้านที่ประหยัดพลังงาน เพราะบ้านไม่น่าจะใช่ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้โลกร้อน

                ความเข้าใจข้างต้นเป็นสิ่งที่ผิดอย่างมหันต์ เพราะทุกๆ ปี บ้านแต่ละหลังจะผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ราว 3.2 ตัน มากกว่ารถยนต์นั่ง และคิดเป็นร้อยละ 27 ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในบ้านจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำ โดยคาดว่าหากทุกครัวเรือนลงทุนในการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ก็จะสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดถึงร้อยละ 80

                ส่วนอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมจะอยู่ที่เท่าไร และใช้เกณฑ์อะไรในการพิจารณา ผู้เขียนขอพาย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2523 ณ กลางที่ประชุม  Green Party ได้มีคนหนึ่งเปรยถึงความยากลำบากในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อลงทุนในการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัญหาดังกล่าวได้รับความสนใจและพูดคุยอย่างกว้างขวาง ก่อนจะจบที่การก่อตั้ง Ecology Building Society เพื่อปล่อยสินเชื่อเฉพาะทาง

                โดยปกติ การให้สินเชื่อของสถาบันทางการเงินจะพิจารณาถึง ‘ความเสี่ยง’ และ ‘ผลตอบแทน’ จากโครงการที่ลงทุนเป็นหลัก มองลูกค้าเป็นแหล่งกำไรของธนาคาร แนวคิดดังกล่าวแทบจะตัดโอกาสโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ค่อนข้างเป็นนวัตกรรม หรือเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ธนาคารอาจไม่รู้จักและคิดว่าไม่สามารถทำกำไรได้ ส่วนโครงการลงทุนปรับปรุงบ้านเพื่อลดการใช้พลังงาน ธนาคารก็มักมองว่ามีความเสี่ยงสูงในแง่ของผลตอบแทน

                แต่ Ecology Building Society มองไกลกว่าผลกำไร เพราะทุกคนที่เข้ามาเป็นสมาชิก Ecology คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่า Ecology ต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้เงินฝากกับสมาคมกลายเป็นหนี้สูญ แต่สิ่งที่ Ecology สนใจจริงๆ คือโครงการที่สมาคมจะให้สินเชื่อจะสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร หรือจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้หรือไม่ และตัวเลขดังกล่าวก็สะท้อนอยู่ในอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน

                 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลักๆ ของ Ecology จะอิงตามอัตราดอกเบี้ย Standard Variable Rate ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.90% และยึดตามแนวคิดการให้ส่วนลดแบบ C-Change ที่จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าโครงการที่ให้สินเชื่อนั้นส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากน้อยเพียงใด โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 3 ชนิด คือ

  • C-Change Sustainable Home – สินเชื่อเพื่อปลูกบ้านอย่างยั่งยืน สำหรับผู้สนใจที่จะสร้างบ้านหรือปลูกบ้านประหยัดพลังงาน โดยบ้านแต่ละหลังจะต้องรับการประเมินประสิทธิภาพของการใช้พลังงานโดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานเช่น EcoHomes, Energy Performance Certificate, Code for Sustainable Homes และ Association for Environment Conscious Building โดยบ้านแต่ละหลังสามารถใช้การรับรองดังกล่าวมาขอลดอัตราดอกเบี้ยจาก Standard Variable Rate ได้ตั้งแต่ 0.50% ถึง 1.25%
  • C-Change Retrofit – สินเชื่อสำหรับผู้ที่ต้องการปรับปรุงบ้านให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสินเชื่อดังกล่าวจะได้รับส่วนลดโดยอ้างอิงจาก Energy Performance Certificates (EPCs) ซึ่งจะระบุระดับการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน จากดีที่สุด (ระดับ A) ไปจนถึงแย่ที่สุด (ระดับ E) สินเชื่อชนิดนี้จะให้ส่วนลดแก่ผู้ขอสินเชื่อเมื่อที่พักอาศัยได้รับการรับรองว่ามีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานดีขึ้น ขั้นละ 0.25% เช่นเดิมบ้านพักได้ EPCs ระดับ E แต่หลังปรับปรุงจะขยับขึ้นมาอยู่ระดับ C ก็จะได้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.50%
  • C-Change Energy Improvements – สินเชื่อเพื่อติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งEcology ได้ระบุชนิดและประเภทไว้อย่างละเอียด เช่น เพิ่มความหนาของพื้นหรือผนังเพื่อลดการใช้พลังงาน โดยจำเป็นต้องใช้วัสดุตามธรรมชาติหรือโฟมที่ได้รับการรับรองว่าไม่ก่อมลภาวะ ระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตน้ำอุ่น ระบบทำความร้อนโดยเชื้อเพลิงชีวภาพ ระบบกักเก็บน้ำฝนตามธรรมชาติ หรือเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ประหยัดน้ำ โดยสินเชื่อดังกล่าวมีขั้นต่ำอยู่ที่ 1,000 ปอนด์หรือ 50,000 บาท และจะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 จาก Standard Variable Rate

เกณฑ์ส่วนลด (Discount Rate) ของสินเชื่อ C-Change Sustainable Home

เกณฑ์ส่วนลด (Discount Rate) ของสินเชื่อ C-Change Sustainable Home

นอกจากสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัย Ecology ยังพิจารณาสินเชื่อให้กับธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาขนาดเล็ก แต่จะไม่รับพิจารณาให้สินเชื่อบางอย่าง เช่น บ้านพักตากอากาศ บ้านหลังที่สอง เพราะ Ecology มองว่าเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง

แม้จะมีนโยบายการปล่อยสินเชื่อดีสักแค่ไหน Ecology Building Society ก็คงจะไม่สามารถให้สินเชื่อได้หากไม่มีผู้สนับสนุนโดยการออมเงินในชื่อ เงินฝากจริยธรรม (Ethical Savings) ที่รับรองว่ากิจการจะนำเงินฝากไปปล่อยสินเชื่อเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

การออมเงินกับ Ecology ก็คล้ายคลึงกับธนาคารทั่วไปคือแบ่งประเภทออกเป็นเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ 60 วัน โดยอัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 1.00% – 1.55% ต่อปี แต่มีความโดดเด่นคือ Ecology จะมองว่าผู้ฝากเงินคือส่วนหนึ่งของหุ้นส่วนซึ่งจะได้รับสิทธิในการโหวตผู้บริหารในปีถัดไป

ผลประกอบการของ Ecology ในปี 2013 ที่มา Annual Report

ผลประกอบการของ Ecology ในปี 2013 จาก Annual Report

                Ecology Building Society คือหนึ่งในกิจการที่มองเห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเปรียบเสมือนศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ลงทุนและผู้ต้องการเงินทุนที่ต่างมีค่านิยมเดียวกัน คืออยากให้โลกในอนาคตดีกว่าปัจจุบัน และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเอง ตัวเลขการเติบโตของสินเชื่อและผลประกอบการที่ยังเป็นสีเขียวช่วยยืนยันได้อย่างดีว่า การเงินเพื่อสังคมเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ และทำได้จริง

                น่าเสียดายที่ภาคการเงินและธนาคารของไทยยังมองไม่เห็นความสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และมองว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสูบกลืนทรัพยากรธรรมชาติ เช่น กรณีที่ธนาคารชั้นนำของไทย 6 แห่งปล่อยสินเชื่อในการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว โดยไม่ได้นำเอาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมมาประกอบการพิจารณา

                วันนี้ก็ยังไม่สาย ที่ภาคการเงินและการธนาคารของไทยจะหันกลับมามองการพัฒนาอย่างยั่งยืน แม้ว่าจะล้าหลังกว่า Ecology Building Society ไป 34 ปีก็ตาม

ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.ecology.co.uk/