ภาพ: นัฐพงษ์ แสงทองล้วน

เผยแพร่ครั้งแรกใน นิตยสารสานแสงอรุณ ฉบับ 107 “ความยั่งยืน”

มีนาคม พ.ศ. 2558

            ในแต่ละวัน คุณได้เห็นหรือได้ยินคำว่า “ความยั่งยืน” กี่ครั้ง

            คำสั้นๆ ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายทั้งในบทความ สื่อโฆษณา หรือแม้กระทั่งต่อท้ายชื่อโครงการสารพัดทั้งของภาครัฐและเอกชน ราวกับเป็นสูตรสำเร็จว่า ถ้าอยากจะดูดีสักหน่อย ควรพ่วงคำว่า “ความยั่งยืน” เข้าไปด้วย

            ว่าแต่ว่า กิจกรรมอย่างการเชิญชวนมาปั่นจักรยานใจกลางเมือง โครงการปลูกป่าชายเลน ฯลฯ เกี่ยวพันกับความยั่งยืนอย่างไร และแท้จริงแล้ว เจ้า “ความยั่งยืน” ที่ใช้กันอย่างเอิกเกริกนี้ มีหน้าตา แนวคิด หรือวิถีปฏิบัติเช่นไร จึงจะเรียกได้ว่า “ยั่งยืน”

            ความสงสัยนำพาให้ผมเดินทางมายังอาคารย่านสุขุมวิท ผ่านประตูไม้ประดับป้าย “ป่าสาละ” บริษัทอายุเพียงขวบเศษที่นิยามตัวเองว่าเป็นบริษัทปลูก “ธุรกิจที่ยั่งยืน” แห่งแรกในประเทศไทย ภายใต้การบริหารของสองหญิงเก่ง สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน และ ภัทราพร แย้มละออ ผู้บุกเบิกด้านธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย

            เธอทั้งสองมองเห็น “หัวใจ” ของระบบทุนนิยมที่ใครหลายคนมองว่าเลวร้าย บอกเล่าเรื่องราวของหลากหลายธุรกิจที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่เส้นทางสีเขียว สะท้อนให้เห็นราคาที่จะต้องจ่ายหากธุรกิจยังไม่เปลี่ยนแปลงความคิด

            ในอนาคตอันใกล้ ความยั่งยืนอาจไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของธุรกิจ ที่ไม่อาจผลักต้นทุนของความไม่ยั่งยืนมาให้กับสังคมได้อีกต่อไป

            นี่คือบทสนทนาที่เลื่อนไหลคลอไปกับเสียงรถยนต์ขวักไขว่ย่านใจกลางเมือง

1. ความยั่งยืน

ความยั่งยืนคืออะไร

สฤณี: ความหมายของความยั่งยืนมีการนิยามไว้เมื่อนานมาแล้ว คือการกระทำอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ลูกหลานเราไม่เดือดร้อน ลูกหลานเราในอนาคตสามารถใช้ชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่ไม่ด้อยกว่าเรา นี่คือความหมายของความยั่งยืน คือการมองไปที่คนรุ่นหลัง

ภัทราพร: ความยั่งยืนในมุมหนึ่งจะหนักไปทางสิ่งแวดล้อม แต่ถ้าเรามองเรื่องของธุรกิจ นอกเหนือจากมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม ก็ต้องมองเรื่องผลลัพธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจ ทั้งเรื่องแรงงาน เรื่องความเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้จะถูกขมวดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความยั่งยืน

BP0_0562

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

จุดเริ่มต้นของกระแสความยั่งยืนเกิดขึ้นเมื่อไร

สฤณี: กระแสนี้มีมาตั้งแต่ประมาณทศวรรษที่ 1960 คือจุดกำเนิดของขบวนการสิ่งแวดล้อมโลก มีการรณรงค์เรื่องยาฆ่าแมลง เชื่อมโยงให้เห็นว่าการใช้ยาฆ่าแมลงเกินขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพของทั้งคนฉีดและผู้บริโภค ถือเป็นเรื่องแรกๆ ที่มีการเชื่อมโยงปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้ากับปัญหาของคน ตอนนั้นเราจะเห็นกระแส Green เริ่มมีการพูดเรื่องความยั่งยืน แต่ยังอยู่ในมุมมองของนักสิ่งแวดล้อม คือมองเรื่องการอนุรักษ์

ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมุมมองด้านธุรกิจ

สฤณี: ใช่ แต่ตอนหลังเริ่มเปลี่ยนแปลงมาเป็นภาษาธุรกิจ ตั้งแต่ปี 1987 ที่มีรายงาน Brundtland Report[1] เป็นจุดแรกที่มีคนใช้คำพูดว่า Sustainable Development หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการระบุนิยามเลยว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ลิดรอนศักยภาพหรือความสามารถของคนรุ่นหลังในการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากับคนปัจจุบัน นับจากจุดนั้นก็มีความพยายามมากขึ้นที่จะใช้ภาษานี้เข้าไปผลักดันการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ เพราะในทุนนิยมสมัยใหม่ ภาคเอกชนเป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบเศรษฐกิจ

เรียกได้ว่าเริ่มกลายเป็นกระแสหลัก

สฤณี: ช่วง 20 ปีสุดท้ายก่อนถึงศตวรรษที่ 21 ความยั่งยืนยังถือเป็นกระแสรองมาก เพราะการพัฒนากระแสหลักยังคงถูกครอบงำโดยโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะโลกาภิวัตน์ทางการเงิน (Financial Globalization) ที่เป็นกระแสที่มาแรงมาก ทำให้กระแสความยั่งยืนเป็นแค่กระแสรอง แต่ก็มีการเติบโต สิ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ คือ ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) หรือโลกร้อนที่เริ่มก่อความเสียหายอย่างชัดเจน จนองค์กรระดับโลกทางเศรษฐกิจอย่างธนาคารโลก (World Bank) จัดว่าเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญทางเศรษฐกิจ

เมื่อไม่นานมานี้ โลกการเงินก็เผชิญกับวิกฤติอย่างซับไพรม์ หรือยูโรโซน

สฤณี: สองวิกฤตินี้ชี้ให้เห็นถึงความเปราะบางและความไม่ยั่งยืนอย่างชัดเจนของระบบการเงิน เรื่องนี้สำคัญมากเพราะสั่นคลอนความคิดความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่ว่าระบบทุนนิยมดูแลตัวเองได้ รัฐไม่ต้องทำอะไร หลังจากสองวิกฤตินี้ เราจะไม่ได้ยินแค่ว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว แต่เราจะได้ยินขบวนการเคลื่อนไหวในระดับฐานราก เช่น ในอเมริกามีการรณรงค์ให้ถอนเงินออกจากธนาคารใหญ่ๆ มาฝากไว้ในธนาคารระดับชุมชน เพราะเขาต้องการชี้ให้เห็นว่า ธนาคารระดับท้องถิ่นหรือสหกรณ์สามารถเข้าถึงชุมชนและดูแลผลประโยชน์ของชุมชนได้ดีกว่าธนาคารยักษ์ใหญ่

ลักษณะไหนที่เรียกว่าความไม่ยั่งยืนทางธุรกิจ

สฤณี: ในอุตสาหกรรมธนาคาร เราจะเห็นชัดเลยว่ามีพฤติกรรมอะไรที่ไม่ยั่งยืน คือการมุ่งเน้นเก็งกำไรมากกว่าการดูแลลูกค้า ผู้ฝากเงิน และคุณภาพสินเชื่อ ส่วนภาคพลังงานก็คือการใช้พลังงานฟอสซิล เพราะมีการศึกษาอย่างชัดเจนแล้วว่าเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าพูดถึงภาคการเกษตร ก็เป็นเรื่องการใช้ที่ดิน รวมไปถึงการใช้สารเคมี ฮอร์โมนต่างๆ ที่จะส่งผลเสียต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

เราอยู่ในจุดที่เรียกว่าน่าตื่นเต้น คือพ้นไปจากยุคที่เราพูดกันว่าต้องยั่งยืน ตอนนี้เราเห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าต้นทุนของความไม่ยั่งยืนในแต่ละธุรกิจคืออะไร และต้นทุนเหล่านี้ไม่ใช่ต้นทุนทางสังคมอย่างเดียว เพราะสังคมไม่ได้อยู่เฉยๆ มีการเรียกร้องจากรัฐ เมื่อรัฐไม่ตอบสนองก็เรียกร้องจากธุรกิจ

ในอดีตก็มีต้นทุนเหล่านี้อยู่ แต่สังคมไม่รับรู้

สฤณี: อาจเป็นเพราะต้นทุนเหล่านั้นยังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายมากเท่าไหร่ สังคมเลยยังไม่รับรู้ อย่างในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ช่วง ค.ศ. 1950 – 1980 ก็มีนักวิทยาศาสตร์ออกมาเตือนเรื่องพวกนี้ เพราะลากเส้นการพัฒนาต่อไปแล้วก็เห็นปัญหา [2] แต่ถามว่ามีใครสนใจไหม ก็ไม่ค่อย เพราะยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน แต่ว่าตอนนี้มันชัดแล้ว ยิ่งถ้าคุณเป็นประเทศเล็กๆ ที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล หรือกลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก ผลกระทบต่อพวกเขาอยู่ในระดับที่เขาจะไม่มีบ้านอยู่ ประเทศจะหายไปจากพื้นที่โลก ถ้าคุณเป็นพลเมือง ก็ต้องเห็นว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วนมากๆ

ภัทราพร: นอกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกเรื่องหนึ่งคือทรัพยากรที่เอามาใช้ในการผลิตที่สมัยก่อนมีอย่างล้นหลาม ทั้งป่าไม้ สัตว์ทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ โลกธุรกิจจะดึงมาผลิตยังไงก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบภายนอก (Externalities) แต่ตอนนี้มีข้อจำกัดมากขึ้น มีการเรียกร้องมากขึ้นจากผู้บริโภค

ov-simmons1

 The Limits to Growth หนังสือเล่มแรกๆ ที่กล่าวถึงผลกระทบจากการเติบโตของโลก ภาพจากhttp://www.clubofrome.org/cms/wp-content/uploads/2011/07/ov-simmons1.jpg

อะไรที่ทำให้ผู้บริโภคเรียกร้องมากขึ้น

ภัทราพร: เมื่อก่อนเราอยู่ในโลกที่ข้อมูลข่าวสารไม่ได้เปิดกว้างเท่าอินเทอร์เน็ต ดังนั้นภาคธุรกิจทำอะไรบางทีข่าวสารก็ไม่ได้รั่วไหล แต่ปัจจุบันจะเป็นการสื่อสารแบบสองทาง ถ้าเขาไม่พอใจเราก็จะสามารถเข้าถึงเราได้ง่ายมาก ไม่ว่าจะเป็นการเดินไปคุยโดยตรงหรือผ่านทางโซเชียลมีเดีย การเรียกร้องที่มากขึ้น สิทธิที่มากขึ้นของผู้บริโภค ก็ทำให้ความยั่งยืนเข้ามาเป็นประเด็นมากขึ้นในโลกธุรกิจ

ความยั่งยืนถือเป็นกระแสหลักในปัจจุบันหรือยัง

สฤณี: ยังคงไม่ใช่กระแสหลัก แต่เราต้องดูว่าวัดระดับไหน อย่างในระดับนโยบาย ถามว่าประเทศไหนที่ดำเนินนโยบายที่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็คิดว่ามีบางประเทศ เช่น เยอรมนี เพราะทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเยอรมนีคือการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย อย่างนอร์เวย์ สวีเดน คือเราดูที่ทิศทางว่าสังคมมุ่งไปทางไหน ตั้งแต่รัฐบาลว่าทำอะไร ธุรกิจทำอะไร

อะไรเป็นแรงผลักให้ประเทศอย่างเยอรมนียั่งยืน

สฤณี: สิ่งหล่านี้ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน เป็นนโยบายรัฐ ถ้าดูในแง่โครงสร้าง เยอรมนีปรับโครงสร้างเยอะมาก เช่น นโยบายภาษี ซึ่งเป็นแรงจูงใจหลักที่ปฏิเสธไม่ได้ทางปัจเจกและธุรกิจ เยอรมนีเปลี่ยนโครงสร้างภาษีโดยใช้หลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย มีการคิดภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนไม่ก่อมลพิษ และเพิ่มแรงจูงใจสำหรับคนที่ลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนหรือด้านสิ่งแวดล้อม

บางคนบอกว่าทั้งหมดนี้รัฐบาลทำ แต่รัฐบาลในประเทศประชาธิปไตยไม่มีประเทศไหนที่นโยบายไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชน ดังนั้นจึงเป็นเสียงสะท้อนว่านี่คือสิ่งที่คนเยอรมันต้องการ และทำให้ธุรกิจเองก็ปรับตัว อย่างเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทพลังงานเยอรมันที่ใหญ่ยักษ์ในระดับยุโรป ก็กล้าที่จะประกาศว่าต่อไปจะไม่ทำพลังงานฟอสซิล แต่จะเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียน

แล้วประเทศในแถบเอเชียล่ะครับ

สฤณี: ญี่ปุ่นกำลังปรับไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ญี่ปุ่นจะเป็นโจทย์ที่เฉพาะตัว เพราะญี่ปุ่นเจอความเสี่ยงที่ประชากรจะหดตัวลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำมาก ถ้าลองจินตนาการง่ายๆ ก็คือ จีดีพี [3] ของทั้งประเทศจะหายไปครึ่งหนึ่งหรือเปล่า ขณะเดียวกันเขาก็มองว่านี่เป็นโอกาส เนื่องจากการที่มีประชากรน้อยลง นั่นหมายความว่าเขามีทรัพยากรต่อคนมากขึ้น ดังนั้นเขาน่าจะสามารถอยู่ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

บางคนก็เรียกญี่ปุ่นว่าจะเป็นประเทศในกลุ่ม Post Growth Country คือประเทศหลังการเจริญเติบโต ไม่มองแล้วว่าจีดีพีจะเติบโตเท่าไหร่ เพราะว่าจีดีพีจะไม่โต แต่เข้าสู่ระดับเสถียรภาพ (Steady State) และเขาจะสามารถจัดการคุณภาพชีวิตคนได้อย่างไร

นอกจากญี่ปุ่น กลุ่มการเคลื่อนไหวในจีนก็กำลังก่อตัว เพราะประเทศจีนเจอปัญหาที่ชัดเจนมากจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ถ้าไปดูเมืองที่มีมลพิษสูงสุด 20 เมืองในโลก จะเห็นว่า 15 เมืองอยู่ในประเทศจีน ยิ่งที่เมืองใหญ่อย่างเซียงไฮ้ ปักกิ่ง ตอนที่เจอปัญหามลพิษนี่เหมือนกับเราอยู่ในต่างดาว คืออยู่ไม่ได้ หรือเกิดอะไรตลกร้ายอย่างใส่หน้ากากวิ่งมาราธอน

สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนของความไม่ยั่งยืน จีนรับโมเดลการพัฒนาจากตะวันตกมาใช้ คือการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก บางคนบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับจีนก็คล้ายกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ๆ ถ้าลองย้อนกลับไปดูสภาพเมืองในอังกฤษ หรืออเมริกาเป็นยังไงในยุคของอุตสาหกรรมสมัยก่อน ก็เกิดคำถามว่าแล้วจีนยังไม่เรียนรู้อีกหรือ

แนวโน้มในอนาคตของกระแสความยั่งยืนเป็นอย่างไร

สฤณี: ถึงตอนนี้จะยังไม่ใช่กระแสหลัก แต่ก็มีแรงผลักเยอะมากที่จะทำให้กลายเป็นกระแสหลัก อย่างล่าสุดก่อนการประชุมที่กรุงลิมา ประเทศเปรู บารัค โอบามา กับสี จิ้นผิง [4] ประกาศตกลงร่วมกันเรื่องการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นี่คือสองประเทศที่โดนด่ามาตลอด 20 ปีว่าไม่เคยทำอะไรจริงจัง พอตกลงแล้วแน่นอนว่าคนก็ยังด่าว่ายังไม่เข้มข้นพอ แต่จะเห็นว่านี่คือจุดเริ่มต้น ทำไมสองประเทศนี้เขาต้องมาคุยกัน ในเมื่อแต่ก่อนเขาก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องทำอะไร

bb

บารัค โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และสี จิ้นผิง ผู้นำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ออกแถลงการณ์ ณ Great Hall of the People กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

ถ้าย้อนกลับมามองประเทศที่ใช้คำว่ายั่งยืนแบบฟุ่มเฟือยอย่างประเทศไทย

สฤณี: จะเป็นคำว่าอะไรก็แล้วแต่ ประเทศเราก็ใช้ฟุ่มเฟือยหมด (หัวเราะ) ก็ต้องชมว่าเราจับกระแสเก่ง มีคำอะไรมาก็สามารถนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ไม่รู้ว่าจริงๆ คืออะไร

ภัทราพร: เราจะเห็นคำว่าความยั่งยืนในบทความวิชาการหรืองานประชาสัมพันธ์เป็นหลัก ถือเป็นคำที่คนก็ไม่ค่อยเข้าใจความหมาย เช่น ในมุมมองของผู้บริโภค หรือมุมธุรกิจที่เขาไม่ต้องดำเนินการในชุมชน ทำงานกับคนในเมือง เช่น ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจบริการ หรือธุรกิจโทรคมนาคม เขาจะมองเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วความยั่งยืนเป็นแนวคิดที่สามารถอยู่ในทุกธุรกิจ

ก็ยังดีที่กระแสความยั่งยืนในไทยดูนำเทรนด์ขึ้นมาได้บ้าง อย่างเรื่องจักรยาน ซึ่งเป็นพาหนะที่คนรากหญ้าใช้อยู่แล้ว เพราะประหยัดและเข้าถึงได้ง่าย แต่กลับกลายเป็นว่าคนร่ำรวยก็ใช้เหมือนกัน แตกต่างกันที่เป็นจักรยานราคาสูง ก็โชคดีที่ความยั่งยืนบางเรื่องสามารถติดลมบนได้ คือคนไทยชอบคำว่าเทรนด์ ถ้าเทรนด์ปาดความยั่งยืนไปด้วย อย่างน้อยเราก็ได้เห็นความเติบโต ถึงแม้ว่าจะไม่เร็วก็ตาม

มีโอกาสไหมที่ประเทศไทยจะมุ่งไปสู่ความยั่งยืน

สฤณี: ก่อนอื่นต้องมองที่พื้นเพของคนไทย ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่โชคดี เราเพิ่งรู้จักแผ่นดินไหว สึนามิ เมื่อไม่นานมานี้ คือเราไม่เคยเจอภัยพิบัติรุนแรงที่จะบังคับให้เรามีวัฒนธรรมที่ระวังหรือมีวินัย รวมถึงการมองไปในอนาคต แต่ในปัจจุบันก็มีการเชื่อมโยงประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างเรื่องน้ำท่วม ดินถล่ม เราเริ่มรู้สึกว่าโลกนี้เปลี่ยนไป คือเราไม่สบายเหมือนแต่ก่อน

อีกประเด็นคือความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ต้นทุนความไม่ยั่งยืนจะถูกผลักไปให้กับคนที่ไม่มีปากเสียง แต่ในสังคมสมัยใหม่ คงจะคาดหวังให้คนที่เดือดร้อนเขานั่งเฉยๆ ไม่ได้ ซึ่งเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลง เช่นในกรณีมาบตาพุด แกนนำชาวบ้านของเขาสามารถใช้เครื่องมือสมัยใหม่ เขาเข้าถึงโลกาภิวัตน์ มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายทั้งประเทศ เรียกว่าการเติบโตของขบวนการประชาชน คือมันเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรากหญ้าทั้งประเทศ

ถ้าทำธุรกิจไม่ยั่งยืนก็อยู่ยาก

สฤณี: ถ้าคุณเป็นภาคธุรกิจ ก็ต้องคิดหนักว่า จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่พอถึงเวลาต้องทำใจว่าจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้น มีการประท้วง มีความไม่พอใจ หรือจะหาทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่าเดิม ทุกวันนี้จะมีคำศัพท์คำหนึ่งทางธุรกิจเรียกว่า License to Operate ซึ่งสมัยก่อนคือใบอนุญาต สมมุติเราอยากตั้งโรงงาน ก็ไปคุยกับภาครัฐแล้วก็ทำเอกสาร แต่สมัยนี้ต่อให้มีใบอนุญาตจากทางการ ถ้าชาวบ้านไม่ยอมก็ทำอะไรไม่ได้

สำหรับคนทั่วไป จะเข้ามาแก้ไขปัญหาความไม่ยั่งยืนได้อย่างไร

สฤณี: เราเชื่อในคำดาษๆ ว่าทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเราเอง แล้วก็ยอมรับว่าตัวเองมีส่วนก่อความไม่ยั่งยืนอยู่เยอะมาก เช่นตอนนี้ก็ยังขับรถอยู่ เพราะว่าเข่าไม่ดี แล้วก็ชอบกินเนื้อมาก เคยไปลองทำแบบทดสอบดูว่าคุณต้องใช้โลกกี่ใบแล้วก็ค้นพบว่าวิถีชีวิตตอนนี้ต้องใช้โลก 2 ใบ

แต่ประเด็นคือ การแก้ปัญหามี 2 ขยัก คือ หนึ่ง การตระหนักในปัญหาว่า ตอนนี้วิถีชีวิต วิถีทางธุรกิจ หรือนโยบายรัฐมันไม่ยั่งยืน ตรงนี้ถือว่าสำคัญ แต่พอเรามองเห็นแล้วเราจะทำยังไง ส่วนนี้เป็นส่วนที่น่าสนใจ เพราะทางออกมีความหลากหลาย แต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน มีมุมมองต่อการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน อย่างถ้าบอกว่าคนไทยต้องเปลี่ยน ทุกคนต้องไปใช้ชีวิตแบบคุณโจน จันใด มันก็คงไม่มีทาง เราคงจะยกธงขาวแล้วบอกว่าโชคดีนะ เพราะเรารู้ตัวเองว่าไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคุณโจน จันใด ได้

ถ้าคุณต้องการให้ทุกคนเปลี่ยน ก็ต้องมีทางเลือกที่หลากหลาย ไม่นำเสนอในทางที่ว่าต้องเป็นทางนี้เท่านั้น ต้องปฏิเสธเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะต้องมีทางเลือกที่คนส่วนใหญ่เขาสามารถเปลี่ยนไปด้วยได้

ต้องยอมรับทางเลือกที่หลากหลาย

สฤณี: ก็ต้องเผื่อพื้นที่ให้เขา บางทีเรารู้อยู่แล้วว่าอุดมคติคืออะไร เช่น คนที่รณรงค์เรื่องจักรยานก็อยากให้คนขับรถยนต์น้อยลง แต่จะทำอย่างไร ให้รัฐบาลออกกฎหมายเลยว่าห้ามขับรถในวันศุกร์ ก็อาจจะผลักดันได้ แต่ทุกอย่างย่อมมีผลกระทบ เช่น คนที่เขาจำเป็นต้องโดยสารรถสาธารณะมาทำงานทั้งที่ระบบการขนส่งสาธารณะยังไม่ดี เขาจะทำยังไง

การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง จะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย นี่หมายรวมถึงภาคธุรกิจ ต้องหาทางออกและความเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนยอมรับได้ ถ้าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ภาคธุรกิจเกิดขาดทุนทันที หรือต้องปิดกิจการ ทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะถ้าบริษัทเขาปิดไป คนที่ทำงานกับเขาจะเป็นยังไง ดังนั้นเราต้องหาทางออกแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ว่ามองธุรกิจเป็นตัวการ จะต้องลงโทษเยอะๆ มันไม่ใช่

ต้องยอมรับก่อนว่าไม่มีใครรู้ทุกเรื่อง นักธุรกิจไม่ใช่นักสิ่งแวดล้อม จะไปรู้ว่าเสือสำคัญหรือไม่สำคัญได้ยังไง ส่วนนักสิ่งแวดล้อมก็ไม่รู้เรื่องธุรกิจ ทั้งสองฝ่ายต้องทำงานด้วยกัน ถ้าเราไปดูหลายกรณีศึกษาของบริษัทที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำในเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน จะเห็นว่าทุกบริษัทจะจับมือกับภาคอื่นๆ ทั้งเอ็นจีโอ ทั้งผู้บริโภค จับมือกับพนักงานในการทำงาน เพราะไม่มีใครทำเองได้โดยลำพัง

2. ธุรกิจ

 “ธุรกิจเพื่อสังคม” กับ “ธุรกิจที่ยั่งยืน” แตกต่างกันอย่างไร

สฤณี: ธุรกิจเพื่อสังคม ความหมายมาจากเหตุผลหรือวัตถุประสงค์ของกิจการ คือมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงของธุรกิจในการแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาขยะ ปัญหาความยากจน โดยการใช้แนวคิดทางธุรกิจ หลายครั้งที่เราจะเห็นธุรกิจเพื่อสังคมที่เป็นกรณีศึกษาสามารถมีกำไร มีการประกอบการเหมือนธุรกิจ แต่องค์กรของเขาตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อม

ส่วนคำว่าธุรกิจที่ยั่งยืนจะเป็นร่มที่ใหญ่กว่านั้น ถอดออกมาสั้นๆ ธุรกิจที่ยั่งยืนจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และผลกำไร คือต้องยั่งยืนทางการเงิน ในขณะเดียวกันก็ดูแลพนักงาน ชุมชน สังคม และให้ความสำคัญกับธรรมชาติ ดังนั้นถ้าคุณทำธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน แต่คุณดูแลพนักงานแย่มาก มันก็ไม่ใช่ธุรกิจที่ยั่งยืน

ภัทราพร: ธุรกิจเพื่อสังคมจะเหมือนลูกผสมระหว่างองค์กรไม่แสวงหากำไร กับองค์กรแสวงหากำไร โดยใช้ข้อดีของแต่ละฝั่งมาผสมผสานกัน เช่น ข้อดีของธุรกิจในแง่ประสิทธิภาพ หรือการขยายกิจการ ซึ่งเป็นหลักที่มีอยู่ในหัวใจของธุรกิจ ดังนั้นถ้าเราเอาเครื่องมือตัวนี้มาใช้แก้ปัญหาสังคม ผลกระทบที่เราสร้างได้ก็ย่อมยั่งยืนกว่าองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ต้องรอเงินบริจาค

BP0_1577

ภัทราพร แย้มละออ กรรมการผู้จัดการด้านการเผยแพร่ความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด

ทิศทางของธุรกิจเพื่อสังคมในไทยเป็นอย่างไร

ภัทราพร: ในบ้านเรา ธุรกิจเพื่อสังคมเพิ่งตั้งต้น แต่จริงๆ เรามีธุรกิจเพื่อสังคมโดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว เช่น ดอยตุง หรือสหกรณ์กรีนเนท ซึ่งทำงานกันมาก่อนที่คำว่าธุรกิจเพื่อสังคมจะเข้ามาในไทย ตอนนี้คำก็กลายเป็นสีสันของคนรุ่นใหม่ สีสันของข่าว ต้องยอมรับว่าคำว่าธุรกิจเพื่อสังคมยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนกรุงเทพฯ หรือคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการใช้เทคโนโลยี ใช้แอปพลิเคชันเพื่อแก้ปัญหา แต่เราจะไม่เห็นผลกระทบที่เป็นก้อนใหญ่ ไม่กระจายไปว่าเกษตรกรหรือผู้ใช้แรงงานชีวิตจะดีขึ้น อาจเป็นเพราะช่องว่างยังมีอยู่

สฤณี: นี่ก็ถือเป็นรูปธรรมของความเหลื่อมล้ำ เพราะเด็กกรุงเทพฯ โตมาโดยไม่เคยรับรู้ชีวิตของคนอื่น ส่วนธุรกิจเพื่อสังคมในไทย ความจริงแล้วตัวอย่างเยอะมาก เช่น วิสาหกิจชุมชนในชนบทหลายแห่งที่พยายามแก้ไขปัญหาในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันตั้งโรงสีชุมชน การทำกลุ่มข้าวอินทรีย์ หรือพระนักพัฒนาที่ทำงานเพื่อสังคม เช่น ทอดกฐินเพื่อรวมเงินไปสร้างโรงสี แต่เพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำของเราทำให้ขอบเขตการรับรู้ของเราไปไม่ถึง

02-insert-en

ตัวอย่างสินค้าของดอยตุง

ยังมีอุปสรรคอยู่

สฤณี: ต้องยอมรับว่าสื่อปัจจุบันมักง่ายขึ้น ไม่ได้ทำงานแบบเจาะลึกจริงๆ เวลาเราได้ฟังประเด็นชนบท สื่อก็จะนำเสนอในประเด็นว่านี่คือชุมชนเข้มแข็งนะ หรือนี่คือปราชญ์ชาวบ้านที่สืบทอดภูมิปัญญา ซึ่งในความเป็นจริงเขาไปไกลกว่านั้น หลายที่เขามีโมเดลทางธุรกิจ มีการจัดการ ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมแบบไทยๆ ที่น่าจะสามารถนำไปขยายผลได้

ภัทราพร: อีกปัญหาหนึ่งที่ดูเป็นเรื่องเล็ก คือ ทัศนคติของการทำบุญในไทย เพราะเราโตมากับความคิดว่าจะต้องทำบุญโดยไม่หวังผล ไม่ไปตรวจสอบด้วยซ้ำว่าเงินที่เราให้ไปจะถูกใช้ทำอะไร ทำให้หลายคนพอเห็นธุรกิจเพื่อสังคมก็จะสงสัยว่าทำไมเราต้องจ่ายเงินซื้อของเพื่อทำบุญอีกทอด ทำไมไม่บริจาคไปเลยให้มันจบๆ ธุรกิจเพื่อสังคมก็ยังติดขัดตรงนี้อยู่

อยากให้ลองยกตัวอย่างบริษัทที่ได้ชื่อว่า “ยั่งยืน” ในต่างประเทศ

สฤณี: ขอยกตัวอย่างบริษัทพรมอินเทอร์เฟซ [5] ซึ่งสนใจจริงจังเรื่องความยั่งยืนตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว จากที่เคยเป็นบริษัทผลิตพรมสำนักงานธรรมดาที่ไม่เคยสนใจเรื่องผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งคุณเรย์ แอนเดอร์สัน ผู้บริหารบริษัทได้ไปอ่านหนังสือ Ecology of Commerce หรือแปลเป็นไทยแล้วว่า นิเวศวิทยาของการพาณิชย์ (เขียนโดย พอล ฮอว์เคน) ทำให้เขารู้ว่าธุรกิจเป็นตัวการใหญ่ที่สุดในการทำลายสิ่งแวดล้อม และธุรกิจเป็นภาคส่วนเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะมีทรัพยากร มีความรู้ และมีประสิทธิภาพสูงสุดในโลก หนังสือเล่มนี้ทำให้คุณเรย์ แอนเดอร์สัน มองว่า เขาเป็นโจรที่กำลังปล้นอนาคตของเด็ก ปล้นอนาคตของลูกหลาน

การทำโรงงานผลิตพรมไม่ยั่งยืนอย่างไร

สฤณี: การผลิตพรมอาจไม่ใช่อุตสาหกรรมหนักแบบการผลิตเหล็ก แต่การทำพรมใช้สารเคมีเยอะ และมีขยะเยอะเพราะว่าใช้เส้นใยสังเคราะห์ ย่อยสลายยาก เรียกว่าแทบจะอยู่ได้อย่างถาวร คุณเรย์ แอนเดอร์สัน ต้องการที่จะแก้ปัญหา เขาเริ่มบุกเบิกทุกอย่างตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ลดขยะโดยเปลี่ยนจากการใช้เส้นใยสังเคราะห์มาเป็นซังข้าวโพด และเริ่มใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต เรียกว่าเปลี่ยนตลอดกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และลดรอยเท้าให้ได้มากที่สุด

ประเด็นความยั่งยืนได้กลายเป็นพันธกิจของบริษัทนี้ เรียกว่า Mission Zero ที่ภายในปี ๒๐๒๐ บริษัทจะมีรอยเท้าเป็นศูนย์ คือมีขยะสุทธิเป็นศูนย์ ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และใช้พลังงานสุทธิเป็นศูนย์ คือทิ้งรอยเท้าเอาไว้น้อยที่สุด ทุกอย่างหมุนเวียนได้หมด ซึ่งบริษัทจะมีการทำรายงานทุกปี แม้ว่าตอนนี้คุณเรย์ แอนเดอร์สัน จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็มีคนรับไม้ต่อ

net

สินค้าของ Interface

อะไรคือบทเรียนที่โลกได้จากบริษัทอินเทอร์เฟซ

สฤณี: อินเทอร์เฟซไม่ใช่บริษัทยักษ์ใหญ่ คือไม่ได้ใหญ่แบบไมโครซอฟต์ หรือยูนิลีเวอร์ แต่เขาเป็นบริษัทอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงาน สารเคมี และมีขยะเยอะ ถ้าอินเทอร์เฟซมีรอยเท้าเป็นศูนย์ได้ คนอื่นก็ต้องทำได้ นี่คือประเด็นที่ต้องเน้น

ย้อนกลับมาดูเมืองไทย นักธุรกิจของบ้านเราก็คล้ายๆ กับที่อื่นทั่วโลก คือแวบแรกเวลาพูดถึงกรณีแบบนี้ ก็จะบอกว่าเขาทำได้เพราะบริษัทใหญ่ บริษัทเขาพิเศษ แต่เราคิดว่าไม่ใช่ เขาก็คือบริษัททั่วไป เพราะถึงแม้อินเทอร์เฟซจะประสบความสำเร็จ แต่ก็ผ่านการลองผิดลองถูกเยอะ หลายเรื่องที่เขาทำก็ไม่เวิร์ก เช่น การตั้งธุรกิจใหม่ให้เช่าพรมทดแทนการซื้อเพื่อลดขยะ ปรากฏว่าล้มเหลว ไม่มีลูกค้า คือเส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

แล้วในแง่ธุรกิจ อินเทอร์เฟซเป็นอย่างไร ประสบความสำเร็จหรือไม่

สฤณี: อินเทอร์เฟซไม่ได้เปลี่ยนสู่ความยั่งยืนเพราะเหตุผลทางธุรกิจ แต่สิ่งที่เขาค้นพบคือ มันทำให้ธุรกิจดีขึ้นด้วยในทุกมิติ เช่น การที่เปลี่ยนมาสู่เส้นทางความยั่งยืน ทำให้พนักงานชอบทำงานมากขึ้น มีคนเก่งๆ มาร่วมงานมากขึ้น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเป็นเจ้าแรกๆ ก็ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงาน ประสิทธิภาพในการผลิตก็สูงขึ้นมาก คือต้นทุนต่อหน่วยลดลงมาก

หากเราจะมองรูปธรรมหรือความสำเร็จของความยั่งยืนว่าคืออะไร ก็ขอยกคำพูดของผู้บริหารยูนิลีเวอร์ที่พูดว่าโมเดลธุรกิจใหม่ของปัจจุบันจะต้องแยกการเติบโตออกจากผลกระทบ เพราะที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือผลกำไรจะเดินควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากร การใช้พลังงาน และการปล่อยคาร์บอน แต่ธุรกิจที่ยั่งยืนจะต้องปลดล็อกตรงนี้ ซึ่ง อินเทอร์เฟซเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะกำไรและยอดขายเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันผลกระทบก็ลดลง นี่คือความสำเร็จอย่างแท้จริง

บริษัทอินเทอร์เฟซดูจะเน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อยากให้ยกอีกตัวอย่างที่เน้นความยั่งยืนด้านสังคม

ภัทราพร: ถ้าพี่ยุ้ย (สฤณี) พูดถึงบริษัทขนาดกลาง เราก็ขอพูดถึงยูนิลีเวอร์ บริษัทระดับมหึมาที่อยู่ในระดับมีสาขากว่า ร้อยประเทศทั่วโลก ซึ่งยูนิลีเวอร์เข้าไปจับปัญหาง่ายๆ อย่างปัญหาการไม่ล้างมือ [6] ในประเทศอินเดียและแอฟริกา ซึ่งเขาไม่มีความรู้เรื่องสุขอนามัยในการล้างมือ คือไม่รู้ว่ามือที่ไม่เปื้อน จริงๆ แล้วมันก็สกปรก มีเชื้อโรค การไม่มีความรู้เรื่องสุขอนามัยทำให้เด็กหลายล้านคนบนโลกนี้ต้องมาตายก่อนอายุ ๕ ขวบเพราะไม่ได้ล้างมือด้วยสบู่ ยูนิลีเวอร์มองเห็นตรงนี้ แต่ปัญหาคือจะทำยังไงในการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วเข้าไปขายในตลาด

Lifebuoy-brand-banner-_tcm1267-414217

โฆษณาสบู่ Lifebuoy ในประเทศอินเดีย

ต้องคิดกลยุทธ์กันใหม่

ภัทราพร: ตามแนวคิดการตลาด ยูนิลีเวอร์ต้องทำ 4P ใหม่ ตั้งแต่ว่าผลิตภัณฑ์ (Product) จะเป็นแบบไหน ราคา (Price) ที่เขารับได้คือเท่าไหร่ ช่องทางการขาย (Place) ก็ต้องคิดใหม่เพราะที่นั่นไม่มีห้าง ไม่มีร้านสะดวกซื้อ รวมถึงการสื่อสาร (Promotion) ในพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้า หรือคนอ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งเขาสามารถทำและขายได้ในอินเดีย กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักต่อปีของยูนิลีเวอร์

เขาเติบโตได้เพราะเข้าตลาดใหม่

ภัทราพร: เป็นการเข้าตลาดคนจนหรือตลาดฐานพีระมิด จากเดิมที่เรามองว่าตลาดคนจนคือตลาดการกุศล ถ้าเราไปทำ CSR ภาพลักษณ์เราก็จะดูดี แต่ตอนนี้ก็มีการมองมุมกลับ แม้ว่าคนจนเขาไม่ค่อยมีกำลังซื้อแต่เขามีปริมาณมหาศาล และความต้องการสินค้าดียังมีเยอะมาก ก็เลยมีหลายบริษัทมองเห็นว่า ถ้าเราเข้าไปเปิดตลาดใหม่ นอกจากจะสร้างผลลัพธ์ทางสังคมที่ดี ยังสามารถสร้างผลลัพธ์ทางการเงินได้ด้วย และยูนิลีเวอร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น

อยากให้อธิบายเพิ่มเรื่องตลาดฐานพีระมิด

ภัทราพร: สมมุติว่าเราเอารายได้ของคนทั้งโลกมารวมกันแล้วพล็อตเป็นภาพ เราจะเห็นว่าคนส่วนใหญ่ของโลกประมาณ 4,000 ล้านคนมีรายได้เพียง 1 – 2 ดอลลาร์สหรัฐ หรือไม่เกิน 60 บาทต่อวัน ถ้าเรามองว่าคน 4,000 ล้านคน จ่ายได้คนละ 1 เหรียญ ก็รวมเป็น 4,000  ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใหญ่พอๆ กับจีดีพีของหลายประเทศ

ถ้าเรามองในทางธุรกิจ ตลาดนั้นคือตลาดฐานพีระมิดที่ยังไม่ค่อยมีคนเข้าไปทำธุรกิจ เป็นกล่องดำที่ธุรกิจไม่ค่อยรู้จักว่าเขาต้องการอะไร ชอบสิ่งของแบบไหน ซื้อสินค้าที่ไหน มีพฤติกรรมยังไง ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ

bottom

ปิรามิดรายได้ของประชากรโลก

ความยั่งยืนเชื่อมโยงอย่างไรกับธุรกิจการเงิน หรือการธนาคาร

สฤณี: ต้องมองก่อนว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธนาคารคือใคร ธนาคารในแง่หนึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลาง แต่ไม่มีหน้าที่ทางธุรกิจ คืออาจจะมีบ้างเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างแอร์ น้ำมัน หรือกระดาษ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หัวใจของธุรกิจ เพราะหัวใจของธนาคารคือการระดมทุนจากผู้ฝากเงินไปยังธุรกิจต่างๆ เพื่อทำธุรกิจต่ออีกทอด ถ้ามองในแง่บทบาทการเป็นตัวกลาง ธนาคารก็ต้องทำหน้าที่ให้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน คือสนับสนุนธุรกิจที่ยั่งยืนและไม่สนับสนุนธุรกิจที่ไม่ยั่งยืน

ในความหมายตรงนี้จะมีสามเสาหลักๆ คือ การปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ ธนาคารก็ต้องปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เสาที่สองคือการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชน ส่วนนี้ความยั่งยืนสะท้อนอย่างชัดเจนในวิกฤติซับไพรม์ คือการปล่อยสินเชื่อให้คนที่ไม่ควรจะได้กู้ ด้วยวิธีที่เรียกว่าหลอกลวงผู้บริโภคว่าเขาสามารถใช้บริการนี้ได้ เสาสุดท้ายของความยั่งยืน คือการเข้าถึงบริการทางการเงิน คือมองว่าการใช้บริการทางการเงินเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนควรจะเข้าถึงได้

เราอาจได้ยินปัญหาบ่อยๆ เรื่องหนี้นอกระบบ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของจีดีพี ปฏิกิริยาของนายธนาคารหรือแบงก์ชาติจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทุกอย่างเกิดจากคนไทยไม่มีวินัยทางการเงิน หรือคนไทยไม่มีความรู้ทางการเงิน บางคนก็พูดไปถึงว่านโยบายประชานิยมก็เป็นปัญหา เรามองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่อีกส่วนหนึ่งที่ไม่มีใครพูดถึงคือตัวธนาคารเอง ว่าที่ผ่านมาธนาคารได้ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ และเน้นความโปร่งใสแค่ไหน เช่น การปล่อยสินเชื่อที่เชื่อมโยงผลิตภัณฑ์หลายอันเข้าด้วยกัน เช่น คนต้องการขอสินเชื่อ แต่คุณบอกว่าเอาสินเชื่ออย่างเดียวไม่ได้ ต้องซื้อประกันด้วย หรือโปรโมชันให้ซื้อกองทุน LTF ผ่านบัตรเครดิตก็ถือว่าเป็นตลกร้าย เพราะ LTF คือการออมเงิน แต่คุณกลับต้องเป็นหนี้ก่อนแล้วค่อยมาออมเงิน หรือใบบันทึกรายการบัตรเครดิตส่งมาที่บ้านแต่เป็นภาษาอังกฤษทุกบรรทัด คนที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษก็เสียเปรียบเพราะตรวจสอบไม่ได้ ฟังดูอาจเป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องที่กระทบต่อความรู้ความเข้าใจของคนในการใช้บริการ

อยากให้ยกตัวอย่างธุรกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย

ภัทราพร: เมื่อไม่นานมานี้ป่าสาละทำกรณีศึกษา ๔ ธุรกิจเขียว ก็ขอเล่าเรื่องแปลนทอยส์ (PlanToys) ละกัน สมัยที่ยังทำงานที่ธรรมศาสตร์แล้วได้ไปที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยไปเดินที่ย่าน Palo Alto [7] แล้วเราก็ไปเจอร้านแปลนทอยส์ ตอนนั้นตกใจมากเพราะนี่คือธุรกิจไทย คือเราเคยได้ยินชื่อแปลนทอยส์แต่ไม่เคยรู้ว่ามันเจ๋งถึงขนาดที่จะมาอยู่ในย่าน Palo Alto คุณวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ผู้ก่อตั้งบริษัทเล่าว่า สมัยที่สตีฟ จ็อบส์ ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมาที่ร้านแปลนทอยส์บ่อยมาก เพราะของเล่นบรรจุความคิดสร้างสรรค์

            กลุ่มที่เริ่มทำธุรกิจแปลนคือเด็กสถาปัตย์ 7 คน เรียนจบในยุคเดือนตุลา เรียกว่าไฟแรง อยากทำอะไรเพื่อสังคม ตอนแรกทำธุรกิจก็แบ่งกำไร 30 เปอร์เซ็นต์ให้การกุศล แต่ตอนหลังเขาก็มองว่าส่วนแบ่งนี้น่าจะเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบอื่นเพราะว่ามันอาจไม่ยั่งยืน ก็เลยเกิดแปลนทอยส์ที่เน้นออกแบบของเล่นเด็ก โดยมีวัตถุประสงค์คือพัฒนาการศึกษาในเด็ก

plantoys1

ตัวอย่างของเล่นเด็ก Plan Toys

ของเล่นเด็กเกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างไร

ภัทราพร: ความยั่งยืนคือหัวใจของธุรกิจแปลนทอยส์ตั้งแต่วันที่ตั้งบริษัท การที่จะดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลคนที่ทำงานด้วยกัน สิ่งเหล่านี้อยู่ในดีเอ็นเอของเขา นอกจากนี้แปลนทอยส์ยังได้ความเขียวมาโดยบังเอิญ เนื่องจากคุณวิฑูรย์เป็นคนจังหวัดตรัง จึงนำไม้ยางหมดอายุมาใช้ ซึ่งไม้ยางเหล่านี้จะถูกตีค่าการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และปลอดสารเคมีเพราะชาวบ้านจะหยุดใส่ปุ๋ยหลังหมดน้ำยาง ส่วนกาวและสีที่เป็นส่วนผสมอันตราย แปลนทอยส์ก็เลือกใช้แบบที่เด็กเล่นแล้วปลอดภัย ซึ่งต้องทำให้ได้มาตรฐาน เพราะลูกค้าสำคัญของแปลนทอยส์คือยุโรปและอเมริกา

แล้วในแง่ธุรกิจ

ภัทราพร: สมัยก่อนแปลนทอยส์ขายดีไซน์ที่แตกต่าง ขายในราคาที่ผลิตในไทยซึ่งถือว่าถูกในมุมมองของคนต่างชาติ ทำให้แปลนทอยส์มีโอกาสขยายไปทั่วโลก แต่น่าเสียดายที่ขยายผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่ได้เจอกับผู้บริโภคโดยตรง จนวันหนึ่งจีนเปิดประเทศ ของเล่นที่เคยถูกมันก็มีถูกกว่า ประกอบกับลูกค้าเจอวิกฤติทั้งแฮมเบอร์เกอร์ ทั้งทวีปยุโรป ทำให้ดีลเลอร์เขาปิดกิจการไป ตอนนี้ก็เลยยังหลงทาง เพราะไม่รู้ว่าลูกค้าคือใคร ขายที่ไหน นี่ก็เป็นเหตุผลที่แปลนทอยส์เริ่มไปตั้งร้านในต่างประเทศ

ก็ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่

สฤณี: แต่ก่อนแปลนทอยส์ไม่ได้ขายความเขียว แต่ขายดีไซน์ ความเขียวของแปลนทอยส์อาจจะเกิดจากผลพลอยได้ ความบังเอิญ หรือความชอบส่วนตัวของผู้บริหาร แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของแปลนทอยส์ เอาความเขียวมาเป็นกลยุทธ์ จะเห็นว่าเริ่มมีการใช้คำอย่าง Eco Design หรือ Eco Efficiency ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลนทอยส์ทำมานานแล้วแต่ขาดการสื่อสาร

กรณีศึกษาแปลนทอยส์บอกกับเราว่า ไม่ว่าคุณจะเขียวเพราะอะไรในอดีต มันสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในวันนี้ เพราะว่าต้นทุนของความไม่เขียวเริ่มสูง แต่หากคุณไม่เคยสนใจเรื่องเขียวเลย และยังจะไม่สนใจต่อไป ในอนาคตคุณจะทำธุรกิจยาก เพราะอย่างน้อยคุณต้องจ่ายเป็นต้นทุนพลังงาน และทรัพยากร

3. ป่าสาละ

 บริษัทป่าสาละมีจุดกำเนิดอย่างไร

สฤณี: ประวัติในเชิงความคิดมีมานานพอสมควร เรื่องแนวคิดธุรกิจแบบใหม่ หรือธุรกิจที่จะอยู่รอดในศตวรรษนี้ เราก็ลองดูทิศทางของกระแสความยั่งยืน คิดว่ามันควรจะมีการทำเรื่องนี้ให้เป็นข้อมูลสาธารณะ เอาให้ชัดเลยว่าธุรกิจที่ยั่งยืนแปลว่าอะไร ธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนแปลว่าอะไร ก็ควรที่จะตั้งเป็นลักษณะของบริษัทวิจัย เราก็ชวนดาว (ภัทราพร) มาทำบริษัท เพราะดาวเชี่ยวชาญด้านมาร์เก็ตติ้ง ด้านการสื่อสาร และธุรกิจเพื่อสังคม ส่วนเราจะถนัดเขียนบทความและทำงานวิจัยในเรื่องภาคธุรกิจเป็นหลัก

เป้าหมายของบริษัทค่อนข้างชัด คือ จุดประกายให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับธุรกิจที่ยั่งยืน ส่วนป่าสาละทำอะไรบ้าง หลักๆ ก็มีอยู่ 2 เรื่อง คือ ส่วนงานวิจัยในประเด็นความยั่งยืน และส่วนเวิร์กชอปเผยแพร่ความรู้ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน รวมถึงการจัดสัมมนาเพื่อหาทางเชื่อมโยงนักธุรกิจกับเอ็นจีโอให้มารู้จักกัน จะได้เกิดเป็นเครือข่ายของคนที่สนใจด้านนี้

มองไปอีก 10 ปีข้างหน้า อยากให้ป่าสาละเติบโตเป็นแบบไหน

สฤณี: สำหรับธุรกิจแบบ Startup คิดให้รอดแบบเดือนต่อเดือนก็เหนื่อยตายแล้ว (หัวเราะ) คือเราอาจจะไม่เห็นภาพชัด แต่แน่นอนว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าเราก็คิดว่ามันจะยังอยู่ เพื่อเป็นที่รองรับคนที่สนใจเรื่องแบบนี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หลายคนจะบอกว่าเรื่องมาก เอาใจยาก แต่เด็กที่เขาสนใจจะทำจริงๆ ก็มี ซึ่งปัจจุบัน เด็กหลายคนก็ไปเรียนในสิ่งที่สมัยเราไม่มีเรียนเลย อย่างการจัดการสิ่งแวดล้อมหรือที่เรียกว่า Green MBA หรือเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม

สมมุติว่าเราจบสาขานี้แล้วกลับมาเมืองไทย ถามว่าจะทำงานอะไร แน่นอนว่าคุณก็ต้องเข้าทำงานในบริษัททั่วไป แต่ถ้าเรามีสถาบันที่เอาความรู้มาใช้จริงๆ สร้างความรู้จากงานวิจัย เด็กที่เรียนมาตรงสายก็จะได้เปรียบกว่า เพราะเขามีความรู้มากกว่าเรา แต่สิ่งที่เราได้เปรียบมากกว่าเขาคือการที่เรารู้จักคนหลายสาขา เรามองเห็นโจทย์ด้านความยั่งยืนในสังคมไทยที่ยังต้องการคำตอบแต่ไม่มีคนทำ

แล้วถ้ามองในแง่ของการสื่อสาร

ภัทราพร: คิดว่าคงคล้ายกับ 7 – 8 ปีที่แล้วที่เราเคยทำเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ตอนนั้นก็ไม่มีใครรู้จัก แต่ปัจจุบันคนก็เริ่มได้ยินมากขึ้นว่ามันคืออะไร ในอีก 10 ปีข้างหน้าก็หวังว่าคนจะเข้าใจคำว่าธุรกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น

งานอย่างหนึ่งที่เป็นเสน่ห์ของป่าสาละ เป็นงานที่ไม่ค่อยมีคนทำ คือ การเชื่อมโยงโลก 2 โลก คือ โลกของเอ็นจีโอกับโลกของธุรกิจ ซึ่งกลุ่มเอ็นจีโอจะมีพันธกิจของเขาว่าต้องทำอะไรบางอย่างในสิ่งที่เขาเชื่อ ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่มีข้อมูลว่าธุรกิจทำอะไร และจะเปลี่ยนแปลงเพราะปัจจัยอะไร ส่วนภาคธุรกิจก็จะมองว่าเอ็นจีโอคือกลุ่มที่สร้างปัญหา ข้อมูลที่ป่าสาละสื่อสารจะทำให้คนจาก 2 โลกนี้คุยกันมากขึ้น เพราะเราพยายามบอกเล่าปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ที่เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจในภาษาที่ภาคธุรกิจเข้าใจได้  ก็คาดหวังว่าอีก 10 ปีข้างหน้า โลกสองโลกนี้จะใกล้กันมากขึ้น เขาจะทำงานร่วมกันมากขึ้น ด้วยองค์ความรู้ที่เราผลิต

บางครั้งคนจะเข้าใจผิดว่าป่าสาละเป็นมูลนิธิ เป็นเอ็นจีโอ หรือว่าเป็นธุรกิจเพื่อสังคม แต่เราเป็นธุรกิจปกติที่ต้องการทำกำไร และตอบแทนผู้ถือหุ้นทั้ง 6 คน (หัวเราะ)

salforest-logo-thai

ทำไมต้องเป็น “ป่าสาละ

ภัทราพร: พี่ยุ้ยเขาอยากได้ชื่อเป็นต้นไม้ เราก็ไปค้นมาว่ามีต้นไม้อะไรบ้างในประเทศไทย ตอนแรกจะตั้งชื่อว่ากระถิน เพราะเราโตมากับต่างจังหวัด ต้นกระถินจะเป็นต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมรั้ว คือไว้เผื่อแผ่คนอื่น เหมือนเป็นอาหารสาธารณะ แต่ดันมีคนเอาชื่อนี้ไปแล้ว เราก็ไปหาต้นไม้อื่น ผ่านมาทั้งตะแบก เต็ง รัง ยางพารา ชบา ซึ่งพี่ยุ้ยไม่ชอบเลย แล้วก็มาจบที่สาละ พอไปดูประวัติ ต้นสาละคือต้นที่พระพุทธเจ้าประสูติ และปรินิพพาน ถ้าตรัสรู้จะเป็นต้นโพธิ์ แต่เราไม่อยากใช้เพราะจะเหมือนว่าเป็นบริษัทขายหนังสือธรรมะ (หัวเราะ)

ตอนแรกจะตั้งชื่อว่าต้นสาละ แต่ปรากฏว่ามีอีกบริษัทชื่อต้นสาระ ชื่อใกล้เคียงกันก็จดทะเบียนไม่ได้ พี่ยุ้ยลองเสนอว่ากิ่งสาละ แต่เราก็ว่าไม่ได้ ถ้าเป็นแค่กิ่งเดี๋ยวมันไม่โต

สฤณี: ก็เลยยกมาทั้งป่า และต้องเป็นป่าสาละอินเดีย ไม่ใช่สาละลังกาแบบที่เห็นอยู่ในประเทศไทย โลโก้ของบริษัทเรานี่ถือว่าตรงตามหลักพฤกษศาสตร์ที่สุดแล้ว เพราะในคณะกรรมการเรามีนักสิ่งแวดล้อม ตอนแรกออกแบบมาปรากฏว่าไม่ใช่ เป็นสาละลังกา ต้องแก้รูปแบบดอก การเรียงตัวของใบ

ภัทราพร: งานของเราเชื่อมโยงกับเอ็นจีโอซึ่งเป็นนักสิ่งแวดล้อมเยอะมาก ถ้าขนาดโลโก้ของเราเขายังไม่เชื่อถือ มองว่าเราไม่ทำการบ้านมา ก็คงทำงานด้วยกันลำบาก แต่ว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เข้าใจว่าป่าสาละทำอะไรกันแน่ เพราะงานของป่าสาละไม่ได้บอกได้ภายใน ๑๐ วินาที เพราะโมเดลธุรกิจมันใหม่ ลูกค้าบางรายก็รู้สึกว่าป่าสาละมาก่อนกาลเวลา แต่บางคนก็บอกว่ามาช้าไป

สฤณี: ป่าสาละไม่ได้มาก่อนกาล เพราะปัญหามีเยอะมาก โจทย์มีเยอะมาก เพียงแต่เขายังไม่ตระหนักเท่านั้นเอง

++++++

 

[1] รายงานที่ชื่อว่า “Our Common Future” (อนาคตของพวกเรา) หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Brundtland Report เป็นรายงานจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development – UNCED) ในปี ค.ศ. 1987  ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้นานาประเทศร่วมมือกันเพื่อค้นหาเส้นทาง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยเป็นครั้งแรกที่มีการรวมประเด็นปัญหาด้านการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน และเป็นนิยามของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจวบจนปัจจุบัน

[2] หนังสือ The Limits to Growth (ขีดจำกัดของการเติบโต) เป็นหนึ่งในหนังสือที่คาดการณ์อนาคตโดยการใช้โมเดลคอมพิวเตอร์จำลองโลกในหลายสถานการณ์ โดยมีตัวแปรหลักสำคัญ 5 ตัวแปร คือ ประชากรโลก การปฏิวัติอุตสาหกรรม มลภาวะ การผลิตอาหาร และการใช้ทรัพยากร โดยได้บทสรุปที่น่าตกใจคือ เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างร้อนแรงจนเกินขีดจำกัดของทุนธรรมชาติ และล่มสลายระหว่างปี ค.ศ. 2050 – 2070 ที่น่าสนใจคือหนังสือเล่มนี้ถูกตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1972 ก่อนที่โลกจะรู้จักคำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืน

[3]  ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Product: GDP หมายถึง มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เปลี่ยนมือเป็นครั้งสุดท้ายภายในประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเบื้องต้นในแง่ศักยภาพทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี จีดีพีไม่สามารถวัดคุณภาพการครองชีพของประชาชนในประเทศได้

[4] เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 บารัค โอบามา ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และสี จิ้นผิง ผู้นำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ประกาศข้อตกลงว่า จีนจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี พ.ศ. 2573 โดยจะใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นร้อยละ 20 ในขณะที่สหรัฐอเมริกาให้คำมั่นว่าจะลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 26- 28 ภายในปี พ.ศ. 2568 อ้างอิงจากระดับการปลดปล่อยในปี พ.ศ. ๒2548 ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่สองมหาอำนาจของโลกออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

[5] Interface บริษัทผลิตพรมสำหรับออฟฟิซและที่อยู่อาศัยชั้นนำของโลก ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2973 ก่อนจะเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจโดยเลือกเส้นทางสู่ความยั่งยืนเมื่อปี ค.ศ.1994 ภายใต้วิสัยทัศน์ของผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท เรย์ แอนเดอร์สัน และเติบโตเป็นบริษัทที่มีมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน Interface ได้รับการยกย่องเป็น “บริษัทที่น่านับถือที่สุดของอเมริกา” โดยนิตยสาร Fortune และประกาศ “พันธกิจศูนย์” หรือ Mission Zero โดยครอบคลุมในด้านพลังงาน การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณของเสีย ลดผลกระทบจากโรงงานผลิต และการขนส่งทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ

[6] Lifebuoy ผลิตภัณฑ์สบู่ของยูนิลีเวอร์ (Unilever) ที่มีมานานกว่า 117 ปี โดยมีพันธกิจเพื่อสังคมในสร้างเสริมสุขภาวะในพื้นที่ชนบท ผ่านการสื่อสารและการรณรงค์หลากหลายรูปแบบ เผยแพร่ความรู้เรื่องการล้างมือให้ถูกวิธีเพื่อลดอัตราการตายจากโรค เช่น ท้องร่วง โดยมีการสื่อสารที่น่าสนใจ เช่น โครงการ “Help a Child Reach 5” หรือช่วยให้เด็กมีอายุถึง 5 ขวบ ซึ่งนำเสนอเรื่องจริงจากพื้นที่ต่างๆ เช่น อินเดีย หรืออินโดนีเซีย ถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ขนาดสั้น สื่อสารว่าในแต่ละปี มีเด็กกว่า 1.7 ล้านคนบนโลกที่ต้องตายก่อนอายุ 5 ขวบ โดยการติดเชื้อซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการล้างมือ

[7] Palo Alto ย่านธุรกิจเลื่องชื่อซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี เช่น Hewlett-Packard และ IDEO รวมทั้งเป็นจุดกำเนิดของบริษัท เช่น Google และ Facebook นับว่าเป็นแหล่งรวมของธุรกิจ Startup หรือธุรกิจเกิดใหม่ที่อาจมีแนวทางหรือการดำเนินธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อน