เมื่อปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมยิ่งทวีความรุนแรง ภาคธุรกิจก็เริ่มปรับตัวโดยนำเอาวิธีคิดเรื่อง ‘ความยั่งยืน’ (sustainability) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น มิใช่เฉพาะกระบวนการผลิตเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับการบริหาร “คน” หรือทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างยั่งยืนด้วย

เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารทรัพยากรบุคคลกับความยั่งยืนของธุรกิจ บริษัท ป่าสาละ จำกัด จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “รางวัลองค์กรที่น่าทำงานด้วยที่สุด ภายใต้แนวคิดการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างยั่งยืน” (Thailand’s Best Employer to Work with Award under Sustainable Human Resource Framework) ด้วยทุนสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การศึกษาภายใต้โครงการวิจัยนี้ถือเป็นงานต่อเนื่องจากช่วงที่ 1 และได้นำมาสู่ช่วงที่ 2 นี้ที่เป็นการศึกษาวิธีการ และตัวอย่างการบริหารทรัพยากรบุคคลของกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี – SMEs) ซึ่งมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 99 ของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศไทย (วะสี, 2018) จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

คณะผู้วิจัยได้คัดเลือกเอสเอ็มอีจำนวน 10 แห่งเป็นกรณีศึกษา โดยมีเกณฑ์การคัดเลือกคือ มีคุณสมบัติความเป็นเอสเอ็มอีตาม พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543 มีสถานภาพทางการเงินมั่นคง โดยดูจากงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ได้รับรางวัล หรือเป็นกรณีศึกษาในด้านที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนหรือธุรกิจเพื่อสังคม ไม่มีข่าวสาธารณะที่เสียหาย และยินดีที่จะเข้าร่วมเป็นกรณีศึกษา

เอสเอ็มอีทั้ง 10 แห่งอยู่ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย มีจำนวนพนักงานที่แตกต่างกัน แบ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลาง  6 แห่ง ขนาดย่อม 4 แห่ง แต่ทั้งหมดมีจุดร่วมคือเป็นเอสเอ็มอีที่มีวิธีคิด นโยบาย และวิถีปฏิบัติที่ด้านความยั่งยืน ซึ่งเอสเอ็มอีทั้ง 10 แห่งประกอบไปด้วย

คลิกที่ชื่อบริษัทเพื่ออ่านกรณีศึกษาฉบับเต็มของแต่ละบริษัท

กรอบคิดด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ใช้ในกรณีศึกษา

เพื่อทำความเข้าใจว่าบริษัทเอสเอ็มอีที่เป็นกรณีศึกษามีการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างไรจึงส่งผลให้บริษัทมีความยั่งยืน คณะวิจัยใช้กรอบคิดการจัดการทรัพยากรมนุษย์เพื่อความยั่งยืนตามช่วงวงจรชีวิตของพนักงาน (employee life-cycle) (Savitz & Weber, 2013) ซึ่งแบ่งช่วงของการทำงานในองค์กรออกเป็น 5 ช่วง ดังนี้

  • ช่วงการคัดเลือกพนักงาน (employee selection)
  • ช่วงการบริหารความก้าวหน้าในอาชีพ (career development)
  • ช่วงการให้ผลตอบแทนและการรักษาพนักงาน (reward and retention)
  • ช่วงการบริหารการปฏิบัติงานและการวางแผนกำลังคน (performance management and workforce planning)
  • ช่วงการพ้นจากการทำงาน (separation)

นอกจากกรอบคิดข้างต้นแล้ว คณะผู้วิจัยยังวิเคราะห์ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งเสริมความยั่งยืนขององค์กรประกอบด้วย เช่น วิสัยทัศน์ พันธกิจ วัฒนธรรมองค์กร แรงจูงใจของผู้บริหาร ฯลฯ รวมทั้งคำนึงถึงความแตกต่างในแง่ของขนาดองค์กรและทรัพยากร ซึ่งทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมักมีวิธีบริหารองค์กรและการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างจากบริษัทขนาดใหญ่ด้วย ตัวอย่างเช่น เอสเอ็มอีที่เป็นกรณีศึกษาส่วนใหญ่ไม่มีฝ่ายบุคคลโดยเฉพาะ แต่ให้ผู้บริหารระดับสูงบริหารทรัพยากรบุคคลด้วยตนเอง

สรุปข้อค้นพบหลักจากการวิจัย

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารทรัพยากรบุคคลและการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดธุรกิจที่ยั่งยืนของวิสาหกิจที่เป็นกรณีศึกษาทั้ง 10 แห่ง มีข้อค้นพบที่สำคัญดังนี้

  1. ช่วงการคัดเลือกพนักงาน

ประกอบด้วยการสร้างแบรนด์ขององค์กรในฐานะนายจ้าง (employer branding) ที่มีการดำเนินงานตามแนวคิดธุรกิจที่ยั่งยืน การกำหนดคุณสมบัติและการสรรหาพนักงาน และการว่าจ้าง มีข้อค้นพบดังนี้

  • วิสาหกิจขนาดกลางทั้ง 6 แห่งมีชื่อเสียงขององค์กรในฐานะนายจ้างที่ดี และมีจุดเด่นเรื่องความยั่งยืนหรือการสร้างคุณค่าทางสังคม/สิ่งแวดล้อม โดยพนักงานหลายคนมาสมัครงานเพราะทราบบทบาทในการสร้างคุณค่าทางสังคมขององค์กรหรือผู้ก่อตั้ง และเห็นว่ามีคุณค่าในการทำงานที่ตรงกัน
  • เอสเอ็มอีในกรณีศึกษาเกือบครึ่งก็มองหาพนักงานที่มีทักษะและให้คุณค่ากับความยั่งยืนที่ตรงกับบริษัท โดยมีเรื่องความยั่งยืนเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการคัดเลือกผู้สมัคร เช่น โลเคิล อไลค์ และสวนเงินมีมามองหาผู้ที่มีความสนใจด้านสังคม ชุมชน หรือด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ขณะที่ อาข่า อ่ามา มุ่งสร้างคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชุมชนที่ตนเองอยู่ ในฐานะที่เป็นchange agent
  1. ช่วงการบริหารความก้าวหน้าในอาชีพ

ประกอบด้วย การเข้าเป็นผู้ร่วมงาน (onboarding) การฝึกอบรม การวางแผนความก้าวหน้าในอาชีพ (career path) การเลื่อนตำแหน่งโดยพิจารณาปัจจัยด้านความยั่งยืน และการสนับสนุนช่วยเหลือพนักงาน มีข้อค้นพบดังนี้

  • เอสเอ็มอีในกรณีศึกษาส่วนใหญ่ให้ข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทแก่พนักงานที่เพิ่งเข้าร่วมงานผ่านการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ นอกจากนี้ทุกแห่งยังสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนเข้าไปในการฝึกอบรมพนักงานทั้งที่จัดขึ้นภายในองค์กรและการส่งไปอบรมภายนอก และบางแห่ง เช่น แดรี่โฮมยังมีการฝึกอบรมให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกด้วย
  • เอสเอ็มอีในกรณีศึกษาเกือบครึ่งมีการสนับสนุนพนักงานในส่วนที่นอกเหนือจากสวัสดิการ เช่น การสนับสนุนให้พนักงานมีโอกาสได้พัฒนาทักษะหรือหารายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำ เช่น แดรี่โฮมให้พนักงานทำสินค้ามาวางขายในร้านค้าและร้านอาหาร โลเคิล อไลค์และสวนเงินมีมาอนุญาตให้พนักงานรับทำงานข้างนอก การสนับสนุนให้พนักงานมีความกลมกลืนระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว (work-life harmony) และการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเมื่อพนักงานเจ็บป่วย
  • สำหรับความก้าวหน้าในอาชีพ เนื่องจากเอสเอ็มอีมักมีโครงสร้างองค์กรที่เป็นแนวราบ ไม่มีความซับซ้อนของลำดับขั้นมากนัก ทำให้ไม่มีการเติบโตทางอาชีพของพนักงานในแนวตั้งเหมือนองค์กรขนาดใหญ่ แต่บริษัทเอสเอ็มอีในกรณีศึกษามีการสร้างการเติบโตทางอาชีพในแนวนอน ด้วยการเพิ่มความรับผิดชอบที่มากขึ้น มอบหมายงานที่ซับซ้อนขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งตำแหน่งหรือแผนกที่ทำงานเพื่อสนับสนุนแนวคิด วิถีปฏิบัติ และนโยบายด้านความยั่งยืนโดยเฉพาะอีกด้วย
  1. ช่วงการให้ผลตอบแทนและการรักษาพนักงาน

เช่น ค่าตอบแทน สวัสดิการทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่เงิน การสร้างกฎข้อบังคับและระเบียบวินัยที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านความยั่งยืน มีข้อค้นพบดังนี้

  • เอสเอ็มอีทั้ง 10 แห่งมีนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนในอัตราที่แข่งขันได้ในตลาด คือเทียบเท่าหรือสูงกว่าเอสเอ็มอีด้วยกัน โดยวิสาหกิจขนาดกลางทั้งหมดมีสวัสดิการที่หลากหลายและสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด สวัสดิการที่โดดเด่น อาทิ ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุหมู่ การตรวจสุขภาพทั่วไปและเฉพาะด้าน รวมถึงอุปกรณ์และคอร์สออกกำลังกาย วิสาหกิจขนาดกลางหลายแห่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินกู้ไร้ดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยต่ำ มีที่พักราคาถูกหรือฟรี และสวัสดิการอาหาร บางแห่งมีการให้ทุนการศึกษาและรางวัลเรียนดีกับลูกของพนักงาน และให้รางวัลแก่พนักงานที่ทำงานมานานในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังมีความพยายามแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้พนักงาน (เป็นกรณีไป) หรือให้ลาหยุดเกินกว่ากฎหมายกำหนหากมีความจำเป็น
  • ในการศึกษาครั้งนี้ คณะวิจัยไม่พบบริษัทที่ให้ผลตอบแทนพนักงานเพราะบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่อยู่ในเนื้อหาของการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะ และไม่พบบริษัทที่ใช้กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพนักงาน แต่มีบริษัทในกรณีศึกษากว่าครึ่งที่ใช้การออกนโยบาย กฎข้อบังคับและระเบียบวินัยในการกำหนดหรือควบคุมให้พนักงานมีพฤติกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืนมากขึ้น
  1. ช่วงการบริหารการปฏิบัติงานและการวางแผนกำลังคน

ได้แก่ การประเมินผลงาน และการวางแผนกำลังคนที่มีเกณฑ์หรือเงื่อนไขการพิจารณาที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัท มีข้อค้นพบดังนี้

  • ทุกบริษัทในกรณีศึกษามีการประเมินผลงาน โดยวิสาหกิจขนาดกลางจะมีระบบ ขั้นตอนและกระบวนการประเมินที่เป็นลายลักษณ์อักษรมากกว่า เอ็สเอมอีในกรณีศึกษา 6 แห่งมีการประเมินผลงานของพนักงานที่เชื่อมโยงกับแนวคิด นโยบาย และวิถีปฏิบัติที่ยั่งยืน เช่น การสอบที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับปณิธานของบริษัทด้านอาหารปลอดภัยและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาโบนัสของพนักงาน การกำหนดให้พนักงานเข้าร่วมกิจกรรมจิตอาสาซึ่งมีผลต่อการพิจารณาโบนัส
  1. ช่วงการพ้นจากการทำงาน

ได้แก่ กระบวนการสิ้นสุดการทำงานของพนักงานในรูปแบบต่างๆ โดยบริษัทที่ใช้หลักคิดด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างยั่งยืนจะคำนึงถึงผลกระทบจากการพ้นการทำงานต่อพนักงานทั้งในด้านบุคคล ครอบครัว รวมไปถึงต่อสังคมและเศรษฐกิจ

  • ในการศึกษาครั้งนี้ คณะวิจัยไม่พบว่าบริษัทในกรณีศึกษามีนโนบายหรือกลยุทธ์เกี่ยวกับการลาออก ไล่ออก หรือเลย์ออฟพนักงานที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม บริษัทบางส่วนมีการให้โอกาสพนักงานก่อนให้ออกจากงานมากกว่าบริษัทอื่นๆ
  • สำหรับการเกษียณอายุ เอสเอ็มอีในกรณีศึกษาเกือบครึ่งมีการคำนึงถึงชีวิตหลังเกษียณของพนักงาน เช่น มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อส่งเสริมการออมเงินสำหรับชีวิตหลังเกษียณให้แก่พนักงาน และมีการจ้างพนักงานต่อหลังการเกษียณอายุเป็นกรณีๆ ไป ส่วนบริษัทที่เหลือยังไม่มีนโยบายและหลักเกณฑ์เรื่องการเกษียณ เพราะยังไม่มีพนักงานในช่วงอายุใกล้เกษียณ

คณะวิจัยยังพบว่าเอสเอ็มอีที่เป็นกรณีศึกษา 9 ใน 10 แห่งบรรจุคุณค่าเรื่องการลดผลกระทบหรือการเพิ่มคุณค่าด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อมไว้ในพันธกิจ วิสัยทัศน์ หรือวัฒนธรรมองค์กร พร้อมสื่อสารให้แก่พนักงาน นอกจากนี้ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรยังมีภาวะผู้นำด้านความยั่งยืน ซึ่งเป็นตัวอย่างให้พนักงานทำตาม ดังนั้นแม้ว่าจะมีทรัพยากรด้านงบประมาณ คน ความรู้และเทคโนโลยีไม่เท่าบริษัทขนาดใหญ่ แต่เอสเอ็มอีสามารถทำเรื่องความยั่งยืนได้ และไม่ใช่เรื่องไกลตัวข้อเสนอแนะในการจัดตั้งเกณฑ์การจัดอันดับการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างยั่งยืนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย

จากข้อมูลที่คณะวิจัยได้ศึกษาในช่วงที่ 1 และ 2  ของโครงการ คณะวิจัยขอเสนอเกณฑ์ในการจัดอันดับการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างยั่งยืนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทย 4 หมวดดังนี้

1) เป็นเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม พ.ศ. 2543 (หรือกฎหมายอื่นในอนาคต) และมีสุขภาพทางการเงินที่ดีโดยพิจารณาจากงบการเงินย้อนหลัง 3 ปี

2) เป็นองค์กรที่มีแนวคิด นโยบาย และวิถีปฏิบัติด้านธุรกิจที่ยั่งยืนสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือหลักไตรกำไรสุทธิ หรือไม่เคยมีข่าวหรือข้อมูลสาธารณะในทางลบ

3) มีการบริหารทรัพยากรบุคคลและการเป็นองค์กรที่น่าทำงานด้วยตามรูปแบบที่เหมาะสมกับเอสเอ็มอี

4) มีการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ส่งเสริมแนวคิด นโยบาย และวิถีปฏิบัติที่ยั่งยืนของเอสเอ็มอี เช่น มีการฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน การให้สวัสดิการที่สนับสนุนการทำงานของพนักงาน การผนวกความยั่งยืนเข้ากับพันธกิจ วิสัยทัศน์หรือวัฒนธรรมองค์กร โดยมีการสื่อสารให้พนักงานทราบผ่านการประชุมหรือกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะอีกข้อที่สำคัญคือ ควรแยกการจัดอันดับระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม อันเนื่องจากความแตกต่างกันทั้งในเรื่องทรัพยากร ข้อจำกัด และโครงสร้างด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล

อ่านและดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ กรณีศึกษาฉบับสมบูรณ์ของเอสเอ็มอีทั้ง 10 แห่ง หนังสือสรุปกรณีศึกษา “SMEs หัวใจใหญ่ – ดูแลคนอย่างไรให้ธุรกิจยั่งยืน” และสไลด์สรุปการนำเสนองานวิจัย ได้จากลิงค์ด้านล่าง:

  1. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์
Powered by Issuu
Publish for Free

2. หนังสือสรุปกรณีศึกษา SMEs หัวใจใหญ่ ดูแลคนอย่างไรให้ธุรกิจยั่งยืน (สรุปกรณีศึกษาแบบย่อของบริษัททั้ง 10 แห่ง)

คลิกที่นี่เพื่อลงทะเบียนขอรับหนังสือ แจกฟรี โดยรับได้ด้วยตนเองที่บริษัท ป่าสาละ จำกัด (แผนที่) หรือชำระค่าจัดส่ง 50 บาทต่อเล่ม (ดูรายละเอียดการชำระเงินได้ในแบบฟอร์มลงทะเบียน)

Powered by Issuu
Publish for Free

3. ลิงค์กรณีศึกษาฉบับเต็มของบริษัททั้ง 10 แห่ง และหนังสือ 

คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด

4. สไลด์งานแถลงผลวิจัย ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2562

Powered by Issuu
Publish for Free