ปัจจุบัน โลกเผชิญความท้าทายและภัยคุกคามมากมายเกินกว่าที่ภาครัฐเพียงลำพังจะสามารถรับมือได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า การประมงเกินขนาด รวมถึงความไม่เท่าเทียมด้านรายได้และความเป็นอยู่ ปัญหาเหล่านี้ภาคธุรกิจย่อมมีส่วนรับผิดชอบในฐานะผู้ก่อปัญหา แต่ในทางกลับกัน ภาคธุรกิจก็สามารถเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ผ่านการร่วมมือกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม หรือแม้แต่คู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับมหภาค
วันอังคารที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2559 องค์การอ็อกแฟมร่วมกับ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และ Change Fusion จัดสัมมนาเรื่องธุรกิจยึดจริยธรรมและธุรกิจที่ยั่งยืน (Thailand’s Ethical and Sustainable Business Forum) ณ โรงแรมคราวน์พลาซ่า กรุงเทพ ลุมพินี พาร์ค โดยมีตัวแทนจากภาควิชาการ หน่วยงานกำกับดูแล/ตรวจสอบ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม มาพูดคุย แลกเปลี่ยน นำเสนอแนวโน้มธุรกิจที่ยั่งยืนร่วมกันในระดับโลกและในประเทศไทย รวมถึงถอดบทเรียนการเปลี่ยนผ่านจากธุรกิจธรรมดาสู่การเป็นธุรกิจที่ยึดจริยธรรม
ฯพณฯ ท่านเอกอัครราชทูตมาร์ค เคนท์ เอกอัครราชทูตประเทศอังกฤษประจำประเทศไทยกล่าวในสุนทรพจน์ว่า ภาคประชาสังคมและผู้บริโภคจะเพิ่มแรงกดดันให้ภาคธุรกิจดำเนินงานอย่างมีจริยธรรมและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น โดยอาจรวมไปถึงประเด็นระดับโลก และมีแนวโน้มที่จะมีกฎหมายหรือกฎระเบียบใหม่ๆ ที่บังคับให้เกิดความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน
“บริษัทในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ต่างเห็นพ้องในการร่วมมือกับคู่ค้าทางธุรกิจที่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานและมาตรฐานระดับสากล กฎระเบียบในปัจจุบันก็ไม่ได้หยุดความพยายามแค่การควบคุมในประเทศ แต่ยังรวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบห่วงโซ่อุปทานในระดับนานาชาติ และวิธีการดำเนินธุรกิจในระดับภูมิภาค อีกไม่นาน เราจะเห็นแรงกดดันที่มากขึ้นจากผู้บริโภค พนักงาน รวมถึงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน” ท่านเอกอัครราชทูตสรุป
ธุรกิจยึดจริยธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร?
ราเชล วิลชอว์ (Ms. Rachel Wilshaw) ผู้จัดการด้านการค้าอย่างมีจริยธรรม องค์การอ็อกแฟมประเทศอังกฤษ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจยึดจริยธรรม โดยเฉพาะในด้านสิทธิแรงงาน เธอมองว่าโลกธุรกิจมีแนวโน้มจะมุ่งสู่การสร้างคุณค่าร่วม (Shared Value) เพื่อให้เกิดชัยชนะของทั้งสองฝ่าย ธุรกิจยังมองภาพให้กว้างขึ้นโดยยึดที่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals) 17 เป้าหมายของสหประชาชาติ และอีกกระแสหนึ่งที่กำลังมาแรงคือการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (Socially Responsible Investment) แต่ในทางกลับกัน สถานการณ์ความไม่เท่าเทียมด้านรายได้กลับรุนแรงขึ้น
ราเชล วิลชอว์ ภาพจากอ็อกแฟม ประเทศไทย
“ปัจจุบัน คนที่ร่ำรวยมากที่สุดในโลก 62 คน มีความมั่งคั่งเทียบเท่ากับประชากรครึ่งหนึ่งของโลก ซึ่งอยู่ในส่วนล่างของปิรามิดรายได้ หรือประมาณ 3.6 พันล้านคน ขณะที่สถิติในปี ค.ศ.2010 ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 338 คน”
ราเชลเชื่อมโยงคำว่า ‘การค้าอย่างมีจริยธรรม’ (Ethical Trade) กับสิทธิของแรงงาน โดยอ็อกแฟมในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมก็ดำเนินงานร่วมกับภาคธุรกิจในฐานะมิตรที่พร้อมวิจารณ์ (Critical Friends) ที่คอยให้คำแนะนำเพื่อให้บริษัทเห็นถึงสภาพปัญหาในมุมมองที่กว้างขึ้น รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์บริษัทในกรณีที่มีการดำเนินงานที่ไม่เหมาะสม เธอยก 3 กรณีที่อ็อกแฟมได้เข้าไปมีบทบาทสนับสนุนให้ธุรกิจดำเนินงานโดยคำนึงถึงจริยธรรมมากขึ้น คือ กฎหมาย ‘การค้าแรงงานทาสสมัยใหม่’ (Modern Slavery Act 2015) ในประเทศอังกฤษ การร่วมมือแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมสตรอเบอร์รี่ ประเทศโมรอคโค และการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของภาคธุรกิจต่อค่าแรงขั้นต่ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ประเทศพม่า
ประเทศไทยนับว่าเกี่ยวพันกับกรณีแรกอย่างมาก ภายหลังสำนักข่าว The Guardian ประเทศอังกฤษ ได้เปิดเผยรายงานข่าวเชิงลึกถึงการใช้แรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย ทำให้กุ้งซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของไทยเป็นหนึ่งใน ‘สินค้าเสี่ยง’ ที่จะมีการใช้แรงงานทาสในห่วงโซ่อุปทานเช่นเดียวกับโกโก้จากแอฟริกาและฝ้ายจากอุซเบกิสถาน
“ปัญหาการใช้แรงงานบังคับไม่ได้เป็นปัญหาในประเทศไทยเพียงแห่งเดียว ปัญหาดังกล่าวถูกซ่อนอยู่ในหลายหน่วยธุรกิจ และการหาทางป้องกัน แก้ไข รวมถึงวิธีตรวจสอบปัญหานับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง” ราเชลกล่าว
กฎหมายการค้าแรงงานทาสสมัยใหม่ ซึ่งบังคับใช้ในประเทศอังกฤษเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2015 เกิดขึ้นจากการร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม และองค์กรการค้าระหว่างประเทศ โดยมีผลบังคับใช้กับธุรกิจขนาดใหญ่ (รายได้มากกว่า 36 ล้านปอนด์ต่อปี) คือต้องมีการเปิดเผยกระบวนการรับรองว่า ในบริษัทรวมถึงในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทไม่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ ซึ่งนับเป็นประเทศแรกที่มีกฎหมายในลักษณะดังกล่าว
อุตสาหกรรมสตรอเบอร์รี่ในโมรอคโค ภาพจาก monitor
ในกรณีที่สอง ราเชลฉายภาพการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมสตรอเบอร์รี่ในโมรอคโค ที่เพิ่มกำลังการผลิตจาก 10,000 ตัน เป็น 165,000 ตันภายใน 5 ปี การเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการจ้างงานโดยเฉพาะในกลุ่มสตรี โดยมีตัวเลขว่ามีสตรีเข้าร่วมตลาดแรงงานกว่า 20,000 คน
“หลังจากการลงพื้นที่ เราพบว่าคนงานมีสภาพแวดล้อมการทำงานแย่มาก โดยเฉพาะผู้หญิงที่จะต้องก้มหน้าเก็บสตรอเบอร์รี่ใส่ตะกร้าด้านหลัง แล้วต้องเดินเป็นระยะทางราว 2 กิโลเมตรก่อนที่จะสามารถยืนตรง หลังจากเอาตะกร้าลง”
อ็อกแฟมต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับคนงาน รวมถึงการให้ความรู้เรื่องสิทธิแรงงานกับคนงานในไร่สตรอเบอร์รี่ แต่ก็ประสบปัญหา เนื่องจากเจ้าของไร่ขัดขวางไม่ให้คนงานเข้ามาพูดคุยกับอ็อกแฟม
“เราแก้ปัญหาที่ต้นทางคือกลุ่มบริษัทที่รับซื้อสตรอเบอร์รี่ ด้วยการเรียกประชุมซูเปอร์มาร์เก็ต 7 แห่งในอังกฤษและผู้นำเข้าสตรอเบอร์รี่ ทั้งนี้ การเชิญตัวแทนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้ามานั่งในห้องเดียวกันและดูคลิปสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานในไร่ การประชุมดังกล่าวทำให้เกิดแผนการดำเนินงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่วัดผลได้ รวมถึงยังมีการประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา” ราเชลอธิบาย
การทำงานในโรงงานสิ่งทอ ประเทศพม่า ภาพจาก globalnwlightofmyanmar
ส่วนกรณีที่สามเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านของไทยคือพม่า โดยอ็อกแฟมได้ทำการสำรวจสวัสดิภาพแรงงานและพบว่าอุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าในพม่ามีการละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น การบังคับให้ทำงานล่วงเวลา จ่ายค่าจ้างที่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty Line) การทารุณกรรม และทางหนีไฟในโรงงานที่ไม่สามารถใช้งานได้
“ผลการสำรวจของเราพบว่า แรงงานในโรงงานสิ่งทอร้อยละ 80 ไม่เคยรับรู้ว่ามีการอบรมเรื่องสุขภาพและความปลอดภัย สถานการณ์ของพม่านั้นคล้ายคลึงมากกับบังคลาเทศในอดีต ซึ่งเราสามารถใช้องค์ความรู้นั้นเป็นทางลัดให้พม่าไม่ต้องเดินซ้ำรอยเดิม” ราเชลกล่าว
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ในพม่าเริ่มตึงเครียดขึ้นหลังรัฐบาลเตรียมประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 3.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โรงงานกว่า 200 แห่งออกมาโต้แย้ง และขู่ว่าจะปิดโรงงานหากมีการประกาศใช้จริง ในระหว่างสองสัปดาห์ที่มีการถกเถียงกัน อ็อกแฟมได้รวบรวมธุรกิจสิ่งทอกว่า 30 แห่งของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาที่ซื้อสินค้าจากประเทศพม่ามาร่วมพูดคุย และได้ข้อสรุปเป็นจดหมายที่มีใจความว่า ‘การใช้มาตรการค่าแรงขั้นต่ำที่เกิดจากการพูดคุยทุกภาคส่วน จะช่วยดึงดูดให้บริษัทต่างชาติมาซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตในประเทศพม่า มากกว่าที่จะเป็นการขัดขวาง
จดหมายดังกล่าวสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในการถกเถียง โดยเฉพาะในหมู่สื่อมวลชนที่มีการนำเสนอเนื้อหาในจดหมาย โดยมองว่าหากมีการดำเนินมาตรการค่าแรงขั้นต่ำจริง ก็จะช่วยเพิ่มรายได้กว่า 72.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีแก่ผู้หญิง 300,000 คนในประเทศพม่า
สำหรับประเทศไทย ราเชลมองว่าภาคธุรกิจและภาครัฐในไทยควรมองย้อนกลับไปในเส้นทางการพัฒนาของโลกตะวันตก และพยายามหลีกเลี่ยงความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น รวมทั้งตระหนักถึงข้อจำกัดของเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยพยายามมองว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร และทุ่มเททรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาที่จุดนั้น ราเชลเตือนว่าภาคธุรกิจจะต้องไม่หยุดแค่การทำซีเอสอาร์โดยไม่ได้เปลี่ยน ‘เนื้อใน’ หรือกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เธอได้ย้ำให้เห็นชัดถึงการเปลี่ยนแปลงท่าทีของภาคเอกชน รวมไปถึงการที่เริ่มมีการให้หน่วยงานประชาสังคมเข้าไปตรวจสอบและวัดผลกระทบของห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบทางสังคมที่แท้จริงของการผลิต นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ปัญหาในระยะยาวได้แก่ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ทำไมธุรกิจต้องดำเนินการอย่างยั่งยืน?
ยูนิลีเวอร์ บริษัทข้ามชาติขนาดยักษ์ที่ขายผลิตภัณฑ์ใน 190 ประเทศทั่วโลก มียอดขายในปี ค.ศ.2015 เท่ากับ 53,200 ล้านยูโร และมีพนักงานกว่า 172,000 คน เป็นเจ้าของสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายแบรนด์ที่คนไทยรู้จักกันดี เช่น คนอร์ โดฟ วาสลีน และวอลล์ นอกจากจะเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าชั้นนำในตลาดแล้ว บริษัท ยูนิลีเวอร์ ยังได้รับการจัดอันดับว่าเป็นแบรนด์ที่ยั่งยืนที่สุดในโลก 5 ปีติดต่อกัน จากรายงาน Sustainability Leaders Report ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มคลังสมอง SustainAbility และบริษัทที่ปรึกษา GlobeScan
เดวิด คิว ภาพจากอ็อกแฟม ประเทศไทย
เดวิด คิว (David Kiu) Vice President, Sustainable Business and Communications, Unilever, Global Markets ถ่ายทอดการทำงานของบริษัทยูนิลีเวอร์โดยการตั้งคำถาม 3 คำถามคือ ทำไม อย่างไร และอะไร
“ทำไมเราต้องดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คำตอบง่ายๆ คือธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ในโลกที่กำลังล่มสลาย โลกที่เราอยู่ในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายและภัยคุกคามทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยากจน ความอดอยาก และที่สำคัญคือความไม่เท่าเทียม เราอยู่บนโลกที่คนนับพันล้านมีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำและไม่สามารถซื้ออาหารเพื่อยังชีพ แต่ขณะเดียวกันก็มีคนอีกพันล้านคนที่เป็นโรคอ้วน ฟังแล้วน่าเศร้านะครับ” เดวิดกล่าว
แต่คำถามต่อไปคือภาคธุรกิจจะตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านั้นอย่างไร ยูนิลีเวอร์มีประวัติการดำเนินการด้านความยั่งยืนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การร่วมจัดตั้งมาตรฐานการประมงอย่างยั่งยืน (Marine Stewardship Council – MSC) มาตรฐานปาล์มน้ำมันที่ยั่งยืน (Roundtable on Sustainable Palm Oil: RSPO) ในปี ค.ศ.2010 ยูนิลีเวอร์ได้ประกาศวิสัยทัศน์ใหม่คือ ‘MAKING SUSTAINABLE LIVING COMMONPLACE’ หรือทำให้การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนกลายเป็นเรื่องธรรมดา โดยมีแผนการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Living Plan) คือให้ชีวิตที่ดี โดยพัฒนาด้านโภชนาการและสุขอนามัย ให้สิ่งแวดล้อมที่ดี โดยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และให้ความเป็นอยู่ที่ดี โดยเพิ่มความเป็นธรรมด้านแรงงาน และโอกาสให้กับผู้หญิง
หลายคนอาจตั้งคำถามว่าแผนข้างต้นเป็นแผนธุรกิจอย่างไร เพราะเป้าหมายแทบทั้งหมดอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดวิดก็ให้คำตอบโดยอธิบายว่าแผนดำเนินการดังกล่าวสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจ 6 ข้อคือ
- นี่คือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ เพราะเขาไม่ได้อยากใช้สบู่ หรือแชมพูทั่วไป แต่พวกเขาต้องการให้การบริโภคสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้
- นี่คือสิ่งที่คู่ค้าต้องการ ยูนิลีเวอร์ไม่ได้ขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง แต่จะขายผ่านซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น วอลมาร์ต คาร์ฟูร์ และเทสโก้ โดยคู่ค้าเหล่านั้นมักถามเสมอว่ามีสินค้าที่ ‘ยั่งยืน’ มากกว่านี้หรือไม่
- ช่วยสร้างนวัตกรรม เพราะเงื่อนไขของเราคือการทำให้ผลิตภัณฑ์ใช้น้ำน้อยลง ใช้หีบห่อน้อยลง มีประโยชน์มากขึ้น และกระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ช่วยสร้างตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และตั้งเป้าหมายทางธุรกิจใหม่ ทำให้เราสามารถเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น และสร้างโอกาสใหม่ในพื้นที่ที่เราไม่เคยเข้าถึงมาก่อน
- ช่วยประหยัด การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการลดการใช้วัตถุดิบ ช่วยให้เราประหยัดต้นทุนได้สูงถึง 400 ล้านยูโรในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
- ช่วยสร้างแรงบันดาลใจ หากคุณเป็นพนักงานที่ทำงานกับบริษัทอันดับต้นๆ ด้านความยั่งยืน คุณย่อมรู้สึกได้ว่ากำลังทำในสิ่งที่ถูกต้องพร้อมกับสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคม
ผลประกอบการของยูนิลีเวอร์จึงไม่ได้หยุดแค่ผลกำไร แต่รวมไปถึงผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยยูนิลีเวอร์ได้สรุปความก้าวหน้าตามแผนการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืน เช่น ประชากร 400 ล้านคนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาดขั้นพื้นฐานได้ ขยะจากโรงงานสู่ที่ฝังกลบขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) วัตถุดิบกว่าร้อยละ 55 ที่ยูนิลีเวอร์ใช้ในการผลิตได้รับการรับรองว่าจัดหามาอย่างยั่งยืน และที่สำคัญ ยูนิลีเวอร์ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าแบรนด์ที่เน้นความยั่งยืนมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าแบรนด์ทั่วไปถึง 2 เท่า โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของการเติบโตของยูนิลีเวอร์ และมีอัตรากำไรมากกว่า
“หลายคนอาจมองว่าความยั่งยืนคือต้นทุน แต่สำหรับยูนิลีเวอร์ ความยั่งยืนคือการลงทุนที่วันหนึ่งก็จะย้อนกลับมาเพิ่มผลกำไรให้กับบริษัท โดยเราเรียกกระบวนการนี้ว่าวงจรการเติบโตอย่างมีจริยธรรม (Virtuous Circle of Growth)” เดวิดสรุป
ในบริบทโลกโดยเฉพาะโลกตะวันตก ประเด็นปัญหาสาธารณะเช่น สิทธิแรงงาน ความไม่เท่าเทียม รวมถึงความเสื่อมสลายของธรรมชาติ ไม่ได้เป็นประเด็นที่ภาครัฐต้องทำการแก้ไขเพียงลำพังอีกต่อไป การเปลี่ยนบทบาทใหม่ของภาคธุรกิจในการเป็นหนึ่งในเครื่องมือแก้ปัญหาโดยการจับมือกับภาคประชาสังคมเริ่มแพร่หลายมากขึ้น โดยสามารถเห็นได้จากทั้งการทำงานขององค์การอ็อกแฟม และการปรับวิสัยทัศน์เปลี่ยนกลยุทธ์ของยูนิลีเวอร์ ส่วนกระแส ‘ความยั่งยืน’ ในภาคธุรกิจและ ‘การบริโภคยึดจริยธรรม’ สำหรับผู้บริโภคในประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ชวนติดตามได้ใน ธุรกิจยึดจริยธรรมและธุรกิจที่ยั่งยืน (2) : แนวโน้มในประเทศไทย
เอกสารประกอบการเขียน
“Transparency in Supply Chains etc. A practical guide” เข้าถึงได้ที่ https://www.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/471996/Transparency_in_Supply_Chains_etc__A_practical_guide__final_.pdf
“Unilever, Patagonia cement their positions as the world’s most sustainable brands, says new report” โดย Bruce Watson เข้าถึงได้ที่ http://www.theguardian.com/sustainable-business/2015/may/28/sustainability-leaders-report-unilever-patagonia-ikea-nestle